กมธ.ศึกษาแก้ รธน.เคาะ 3 ช่องทางฟังความเห็นประชาชน เริ่มปลาย ม.ค.-กลาง เม.ย. พร้อมตั้งอนุ 2 ชุด "วัฒนา" คุมพีอาร์ "ไพบูลย์" ปธ.วิเคราะห์กฎหมาย "สมชัย" ห่วงไลฟ์สดสร้างเฮตสปีชทำสังคมขัดแย้ง ขณะที่ "ปิยบุตร" สวนซุกปัญหาใต้พรมวันหนึ่งก็ระเบิด
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 มกราคม มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม โดยพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทีมโฆษก กมธ.ได้เสนอเอกสารกรอบแนวทางการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น
โดยสรุปว่าแผนการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมเกี่ยวกับปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 3.เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินการ รวมทั้งผลการดำเนินการของคณะกรรมาธิการให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะๆ
นอกจากนี้ได้กำหนดช่องทางการเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นผ่าน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.รูปแบบออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันไลน์ ติดแฮชแท็ก เช่น การไลฟ์สดการประชุมคณะกรรมาธิการ โดยขอมติที่ประชุมในการเผยแพร่เป็นรายครั้ง ประสานงานไปยังสำนักงานสารสนเทศ หรือโทรทัศน์รัฐสภา 2.รูปแบบออนกราวด์ เช่น การจัดเวทีเสวนาโดยคณะกรรมาธิการ และ 3.รูปแบบออนแอร์ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางรายการโทรทัศน์ ประสานไปยังโทรทัศน์รัฐสภา รายการโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยมเพื่อดำเนินการ เบื้องต้นอาจเริ่มรับฟังความเห็นประชาชนตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.นี้ถึงกลางเดือน เม.ย. และจะเริ่มจัดเวทีเสวนาในเดือน ก.พ. และอาจถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กในการประชุมนัดสำคัญๆ ของกรรมาธิการ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานกรรมาธิการ กล่าวว่า การรับฟังและการไลฟ์สดการประชุมผ่านรูปแบบออนไลน์อาจมีข้อความสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) จึงต้องระมัดระวัง เช่นเดียวกับ นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะกรรมาธิการ เห็นว่าก่อนจะรับฟังความเห็น ควรให้ความรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจก่อน และการทำหน้าที่ของกรรมาธิการควรหาแนวทางแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพิ่มความขัดแย้งหรือใช้เวทีกรรมาธิการสร้างขั้วการเมือง
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ว่าเราทำอะไรบ้างและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยสงสัยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อน
นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า หากจะนำเสนอถึงเรื่องปัญหาของรัฐธรรมนูญควรจะให้ข้อมูลรอบด้าน เช่น อยู่ที่ตัวผู้ใช้รัฐธรรมนูญหรือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ควรให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวและไม่ให้เกิดการชี้นำประชาชนมากเกินไป
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของคณะกรรมาธิการชุดนี้คือ ทำอย่างไรให้สนองตอบความต้องการของประชาชน แต่ก่อนอื่นต้องยอมรับว่ามีคนอยากแก้จริงๆ กับคนที่ไม่อยากแก้จริงๆ ซึ่งเรื่องความเห็นต่างระหว่างฝ่ายเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญกับฝ่ายให้ใช้ต่อมีมาตั้งแต่ครั้งเริ่มใช้ฉบับปี 2550 แล้ว จึงอยากให้มองเป็นปกติ เพราะเบื้องหลังคนอยากแก้กับคนไม่อยากแก้ก็สัมพันธ์กับการรัฐประหาร คนได้ประโยชน์ก็อยากให้ใช้ คนที่ถูกฝ่ายรัฐประหารคุกคามก็ไม่อยากให้ใช้ จึงไม่อยากให้กังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าไม่เกิดการขับเคลื่อนอะไรเลยต่างหากจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง
"เรื่องความขัดแย้งต้องนำมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสุดท้ายให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ไม่มีใครอยากให้บ้านเมืองกลับไปเป็นแบบเดิม แต่การไม่พูดกันเพราะกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้ง นั่นหมายความว่าเราได้เอาความขัดแย้งไปซุกใต้พรม และวันหนึ่งจะระเบิดออกมา ความขัดแย้งจะเกิดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ครองอำนาจ ว่าพร้อมจะให้พูดอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่" นายปิยบุตรระบุ
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างไร ต้องเกี่ยวข้องกับเนื้อหา เราต้องตั้งว่าอยากแก้ไขเรื่องอะไร ประเด็นไหนเป็นปัญหาต้องลงรายละเอียด เนื้อหาที่เป็นปัญหาคืออะไร ซึ่งหากคณะกรรมาธิการจะตั้งอนุกรรมาธิการไปดำเนินการแล้ว จะกังวลว่าเนื้อหาที่เสนอไปรับฟังจะทำให้เกิดความขัดแย้ง คณะกรรมาธิการชุดนี้จะไม่ได้ทำอะไรเลย ขณะที่นักวิชาการ ภาคประชาชนต่างๆ ทำกันเองแล้ว และถ้าเราในฐานะกรรมาธิการยิ่งล่าช้าอาจจะทำให้เขาเคลื่อนแรงขึ้นด้วย หากผ่านไป 1-2 เดือน สื่อมวลชนจับตา สังคมจับตา หากยังไม่มีอะไรออกมา คนที่ขับเคลื่อนข้างนอกจะยิ่งเคลื่อนหนักอีก
จากนั้นนายพีระพันธุ์พยายามเสนอให้ที่ประชุมเข้าใจตรงกันต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ว่าต้องระวังไม่ให้เป็นชนวนสร้างความขัดแย้งเสียเอง จะต้องเป็นกลางเสมอและห้ามไปชี้นำว่าควรไปด้านซ้ายหรือด้านขวา
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนแท้ๆ และรูปแบบการบริหารปกครอง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนจะได้ยินเฉพาะในส่วนรูปแบบการบริหารปกครอง หากเราใช้โอกาสนี้ไม่มองแต่มุมการเมือง แต่กลับมามองในมุมของประชาชนในเรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ก็น่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าเรามีโอกาสได้นำเสนอด้านอื่นๆ บ้าง ประชาชนจะได้เห็นความแตกต่างและให้ความสนใจ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการจำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน โดยจะประชุมครั้งแรกวันที่ 21 ม.ค. เวลา 09.30 น. และ 2.คณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน นัดประชุมครั้งแรกวันที่ 23 ม.ค. เวลา 15.00 น.
ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีการจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ราษฎรกำแหง" คดีความและการต่อสู้ของประชาชน ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายนพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ "ราษฎรกำแหง" นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา
นายประจักษ์กล่าวว่า สิทธิในการต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธีควรถูกนำกลับมาหากมีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหลักการนี้เคยดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การระบุบุคคลเป้าหมายที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐภายใต้ระบอบรัฐประหาร ซึ่งสิ่งที่เราพบคือรัฐใช้เลนส์ความมั่นคงมองทุกอย่าง ปัญหาทุกอย่างกลายเป็นภัยคุกคามของรัฐ การที่รัฐมองประชาชนบางกลุ่มเป็นศัตรูและต้องติดตามควบคุมยังคงมีอยู่ อย่างล่าสุดมีคนที่ไปร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเริ่มโดนคุกคาม เป็นการสะท้อนว่าระบอบรัฐประหารยังไม่ได้หมดไปพร้อม คสช. และการเลือกตั้งซึ่งกลไกและองคาพยพในการใช้อำนาจแบบเดิมยังคงอยู่
นายยุกติกล่าวว่า จาก 9 คดีที่ปรากฏในหนังสือ ตั้งแต่การต่อต้านรัฐประหารช่วงต้น คสช. ถึงกลุ่มคดีของคนอยากเลือกตั้ง สิ่งที่เราเห็นคือพัฒนาการของการกำแหงของราษฎรที่ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งละเมิดประชาชนมากเท่าไร ยิ่งเป็นการเชิญชวนให้คนออกมาต่อต้านรัฐมากขึ้นเท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |