แล้งลาม20จว.เร่งขุดบ่อบาดาล


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" บอกเกษตรกรรัฐบาลจริงจังแก้ปัญหาภัยแล้ง ยันไม่ได้สั่งห้ามทำนา แค่ห่วงสภาพลมฟ้าอากาศ ลั่นไม่ทอดทิ้ง ปชช. "มท.1" แจงน้ำประปารสกร่อยบ้างบางเวลา ขอทุกคนใช้น้ำอย่างประหยัด "ปภ." เผย 20 จว.ประกาศเขตภัยแล้ง เร่งเจาะบ่อบาดาลเพิ่มปริมาณน้ำ "ชาวนาขอนแก่น" ยอมเสี่ยงปลูกข้าวดีกว่าอดตาย

    เมื่อวันที่ 17 ม.ค. เวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จัดรายการ Government Weekly ช่วง PM Talk ทางเพจไทยคู่ฟ้า โดยพูดคุยกับเกษตรกรจากจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อรับฟังปัญหาการประกอบอาชีพและการบริหารจัดการน้ำในช่วงที่เกิดปัญหาภัยแล้ง 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งติดพันกับประเทศไทยมาโดยตลอด เนื่องจากอากาศเปลี่ยนแปลง คนเยอะขึ้น และฝนตกบ้างไม่ตกบ้าง แต่ยืนยันรัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหา  ซึ่งจะทำคนเดียวไม่ได้ทุกคนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นทุกปีตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาปี 57-62 ซึ่งภาพรวมจากข้อเท็จจริงภัยแล้งถือว่าลดลง โดยในปี 61 ไม่มีประกาศพื้นที่ภัยแล้ง แต่ในปี 63  สถานการณ์หนัก เนื่องจากน้ำต้นทุนน้อยลงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ รวมทั้งมีความเสี่ยงน้ำอุปโภคบริโภค น้ำทำการเกษตร น้ำในภาคอุตสาหกรรม และน้ำเค็มรุก 
    "อย่างน้อยต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคใช้ และดูแลอย่างไรในช่วงที่เกษตรกรไม่มีรายได้ ไม่ใช่รัฐบาลห้ามปลูกพืชโน่นนี่ เพราะมีคนบิดเบือนว่านายกฯ ห้ามทำนา ผมจะห้ามได้อย่างไร แต่เป็นเพราะลมฟ้าอากาศ และเข้าใจดีว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ จึงไม่ต้องการให้กระดูกสันหลังโค้งงอเสียหายอีก ทุกคนต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็ไม่สามารถทำอะไรให้ทุกคนพอใจได้หมด ที่ผ่านมาการสร้างแก้มลิงก็กระทบพื้นที่ราษฎร จึงต้องระบายออกไปหมด นั่นคือปัญหา โดยการแก้ไขต้องทำแบบยั่งยืนและมีแผนเป็นระยะ แต่เชื่อว่าต้องทำได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ในรายการช่วงหนึ่งเกษตรกรจากจังหวัดชัยนาทบอกกับนายกฯ ว่า ในช่วงที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ไม่มีรายได้ก็ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์แทน อีกทั้งอยากให้ภาครัฐจ้างแรงงานเกษตรกรลอกคูคลองเพื่อช่วยให้มีรายได้ช่วง 3-4 เดือนนี้ นอกจากนั้นยังนำเสนอรูปแบบแก้ปัญหาข้าวล้นตลาด ซึ่งได้ลงมือปฏิบัติที่จังหวัดชัยนาทแล้ว คือข้าวที่ปลูกในชัยนาทก็บริโภคด้วยคนชัยนาท ซึ่งนายกฯ กล่าวชื่นชมว่าดี ผลิตตามความต้องการของคนในพื้นที่ ไม่ล้นออกมาข้างนอก ซึ่งตรงนี้เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล 
    พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ถามเกษตรกรด้วยว่า "รัฐบาลไหนให้เครื่องจักรไปทำเกษตรแปลงใหญ่ ผมนี่แหละเป็นคนสั่งให้เครื่องจักร และให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้เพิ่มเติมอีก อดทนกับผมหน่อย ผมพยายามทำ ทำเพื่ออนาคต นี่คือแผนที่ยั่งยืน"
    นายกฯ กล่าวอีกว่า น้ำทั้งหมดมาจากฝน จึงอยู่ที่การกักเก็บจะทำได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะติดประชาชน ทั้งที่มีการศึกษาได้เตรียมความพร้อมทั้งหมดแล้ว โดยทุกอย่างไม่มีอะไรได้หรือเสียไปทั้งหมด อยู่ที่ความคุ้มค่า จึงอยู่ที่ประชาชนและเอ็นจีโอ ขณะที่ทุกฝ่ายก็ต้องร่วมมือกัน จะรักษาป่าได้มากแค่ไหนหรือจะปลูกเพิ่มอย่างไร
    "วันนี้ผมเห็นหน้าเกษตรกรก็เห็นใจ แต่ก็ยังมีรอยยิ้ม ยืนยันรัฐบาลไม่ทิ้งประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร และกำลังพิจารณาว่าทำอย่างไรให้มีสินทรัพย์ เช่นวัวหรือควายที่ขายเมื่อไหร่ก็มีเงิน ขอให้เห็นใจพี่น้องเกษตรกรของไทย เราต้องมีกระดูกสันหลังที่แข็งแรงและไม่ยากจนในวันหน้า" นายกฯ กล่าว
    ส่วนนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลนำงบประมาณ 3,079 ล้านบาทไปขุดเจาะบ่อบาดาลเพียง 500 บ่อ บ่อละ 6 ล้านบาทว่า "เป็นข่าวเท็จ เป็นข้อมูลปลอม และใครก็ดีที่นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบจะมีการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป เพราะงบประมาณ 3,079 ล้านบาท ครอบคลุมโครงการทั้งสิ้น 2,041 โครงการ และภายใต้ 2,041 โครงการ จะมีการขุดเจาะบ่อบาดาล 1,103 บ่อ แบ่งเป็นอยู่ในสถานพยาบาล 3 บ่อ และอีก 1,100 บ่ออยู่นอกเขตการประปา แยกเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยสูง 1,270 หมู่บ้าน ที่จะมีการขุดเจาะ 577 บ่อ และพื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 526 บ่อ
    ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีค่าความเค็มน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคว่า การประปานครหลวงรายงานน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอาจจะมีเกินค่ามาตรฐาน มีรสกร่อยบ้างบางเวลา ส่วนน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรยังไม่เกินค่ามาตรฐานความเค็ม 2 กรัมต่อลิตรแน่นอน ซึ่งการประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ทำงานควบคุมคุณภาพภายใต้การใช้น้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในหน้าแล้งถึงเดือน ก.ค.นี้อย่างเต็มที่ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนที่จะสูบน้ำหรือนำน้ำไปใช้ทางการเกษตรให้นึกถึงส่วนรวม เนื่องจากขณะนี้ต้องดูแลและให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อน
    วันเดียวกัน นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แถลงว่า  ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 20  จังหวัด 101 อำเภอ 559 ตำบล 4,781 หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่ง ปภ.ได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้บริหารจัดการทรัพยากรเครื่องจักรกลที่มีอยู่ในพื้นที่เข้าสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยได้นำกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย จาก ปภ.เขต 5 นครราชสีมา เขต 8 กำแพงเพชร เขต 12 สงขลา เขต 17 จันทบุรี อาทิ รถบรรทุกขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องยกพัฒนาบ่อบาดาล 2 คัน เครื่องเจาะบ่อน้ำตื้น 5 ชุด เข้าปฏิบัติการขุดเจาะบ่อน้ำตื้นและเป่าล้างบ่อบาดาลในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุทัยธานี สตูล และจันทบุรี รวม 142 บ่อ 
    "ส่วนการพัฒนาบ่อน้ำตื้นและการเป่าล้างบ่อบาดาล ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจาก ปภ.เขต 5 นครราชสีมา เขต 8 กำแพงเพชร เขต 12 สงขลา เขต 17 จันทบุรี อาทิ รถบรรทุกขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องยกพัฒนาบ่อบาดาล 2 คัน เครื่องเจาะบ่อน้ำตื้น 5 ชุด เข้าปฏิบัติการขุดเจาะบ่อน้ำตื้นและเป่าล้างบ่อบาดาลในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุทัยธานี สตูล และจันทบุรี โดยเน้นการปฏิบัติงานเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และอุทัยธานี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่" อธิบดี ปภ.กล่าว 
    ที่จังหวัดขอนแก่น ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจตามแหล่งน้ำดิบที่ต้องใช้ผลิตประปาส่งให้ชาวบ้านได้มีใช้อุปโภคบริโภค บริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งละว้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกสำราญ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น  และเป็นอ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 20,000 ไร่ พบว่ามีเกษตรกรทำนาปรังอยู่เกือบเต็มพื้นที่รอบอ่าง บ้างก็กำลังปักดำ บ้างก็กำลังสูบน้ำใส่นาข้าว
    นายสมหมาย (นามสมมุติ) ชาวบ้านโคกสำราญ กล่าวว่า ชาวบ้านตัดสินใจทำกันเอง ถ้าไม่ทำก็ไม่มีข้าวกิน เพราะข้าวเปลือกข้าวสารในท้องตลาดมีราคาแพงจึงต้องเสี่ยงทำนาปรัง ซึ่งชาวบ้านทุกคนรู้ว่าทางราชการห้ามทำนาปรังเพราะใช้น้ำมาก แต่ก็จำเป็นถ้าไม่ทำก็อดตายเพราะไม่มีข้าวกิน 
    "ถ้าหากน้ำในแก่งละว้าแห้ง ต้นข้าวตายก็ต้องยอมรับชะตากรรมว่าครอบครัวเราจะไม่มีข้าวกิน เพราะความเสียหายจากการทำนาปรังนั้นไม่สามารถที่จะเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากทางราชการได้ เพราะทางราชการห้ามไม่ให้ทำนาปรัง ชาวบ้านชาวนาเสี่ยงตัดสินใจทำกันเอง เพราะถ้าข้าวในนาปรังอยู่รอดก็จะได้ผลผลิต ครอบครัวก็มีข้าวกิน" ชาวบ้านโคกสำราญกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"