ผลเลือกตั้งของไต้หวันสร้างความร้าวรานใจให้กับปักกิ่งไม่น้อย
เพราะนอกจากจีนแผ่นดินใหญ่จะต้องสู้กับประธานาธิบดีคนเดิมอีก 1 สมัยแล้ว จีนแผ่นดินใหญ่ยังต้องหวั่นวิตกว่าไต้หวันกับฮ่องกงจะประสานมือกันเพื่อตั้งหลักสู้กับปักกิ่งจากนี้ไปหรือเปล่า
ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้นำสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย
หนึ่งในเหตุผลที่คนรุ่นใหม่เทคะแนนให้เธอก็คือ ความกลัวว่าถ้าเลือกคู่แข่งของเธอที่มีท่าทีประนีประนอมกับจีนมากกว่า ไต้หวันอาจต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ละม้ายกับฮ่องกง
ไช่ อิงเหวิน ได้คะแนนเสียงถึง 57.1% จากผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 8.2 ล้านคน สูงสุดในประวัติศาสตร์ ได้เป็นผู้นำไต้หวันสมัยที่ 2
ทำให้พรรค DPP ของเธอสามารถเดินหน้าพร้อมนโยบายที่ “ไม่ยอมก้มหัวให้ปักกิ่ง” แม้ว่าพรรคนี้จะเสียที่นั่งในสภาจากการเลือกตั้งวันเดียวกันไปบ้างก็ตาม
คู่แข่งของเธอคือ นายฮั่น กั๊วหยู ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง หรือ KMT ได้คะแนนเสียงไป 38.6%
เขายอมรับความพ่ายแพ้แล้วตั้งแต่การนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น โดยโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีไช่ว่าขอให้ประสบความสำเร็จในการนำพาไต้หวันไปสู่ความรุ่งเรืองในอีก 4 ปีข้างหน้า
ปักกิ่งได้พยายามเชียร์ผู้สมัครของพรรค KMT ผ่านสื่อทางการและวิธีการอื่นๆ ระหว่างการหาเสียง โดยตอกย้ำว่าหากคนไต้หวันไม่เลือกนางไช่ อิงเหวิน กลับมา โอกาสที่จะสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับแผ่นดินใหญ่ก็จะมีมากขึ้น
แต่กระแสเรื่องฮ่องกงน่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของคนไต้หวันที่มาใช้สิทธิ์หย่อนบัตรถึง 74.9%
ชัยชนะของเธอครั้งนี้สูงกว่าการเลือกตั้งคราวที่แล้วเมื่อปี 2016 ด้วยซ้ำไป
ปีนั้นเธอชนะคู่แข่ง Eric Chu จากพรรค KMT 56.1% ต่อ 31%
คะแนนที่เธอได้ครั้งนี้ก็สูงกว่าครั้งที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ
คราวที่แล้วเธอได้ 6.89 ล้านเสียง ครั้งนี้กระโดดไปที่ 8.17 ล้านเสียง...เป็นคะแนนสูงสุดสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในประวัติศาสตร์การเมืองของไต้หวัน
แต่จำนวน ส.ส.ของพรรค DPP ของเธอกลับลดลงจาก 68 เป็น 61 ขณะที่พรรค KMT ได้ที่นั่งในสภาเพิ่ม 3 ที่นั่ง เป็น 38
ส่วน ส.ส.จากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้เท่ากันที่พรรคละ 13 คน
ระบบการเลือกตั้งของไต้หวันแบงเป็น 73 ส.ส. จากการเลือกตั้งแบ่งเขต และ 34 ที่นั่ง จากคะแนนปาร์ตี้ลิสตามสัดส่วนของคะแนนรวม และ 6 ที่นั่งจากเขตเลือกตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์
สัญญาณที่ส่งออกมาจากผลการเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้คือความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนที่สิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกันอย่างเต็มที่
เป็นสิ่งที่ผู้ประท้วงในฮ่องกงเรียกร้องจากการชุมนุมยืดเยื้อมากว่า 6 เดือน และยังไม่มีทีท่าว่าปักกิ่งจะยอมอ่อนข้อแต่อย่างใด
ปักกิ่งกล่าวหา ไช่ อิงเหวิน ว่ามีนโยบายจะประกาศ “เอกราช” จากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งปักกิ่งยืนยันว่าจะไม่มีวันยอมเป็นอันขาด...และหากจำเป็นก็จะใช้กำลังเข้าจัดการหากเกิดการประกาศ “แยกตัว”
ไช่ อิงเหวิน ยืนยันมาตลอดว่าต้องการจะ “รักษาสถานภาพเดิม” ในความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ แต่จะไม่ยอมให้จีนข่มขู่ให้ต้องยอมทำตามคำสั่งของปักกิ่ง
ข้อขัดแย้งหลักระหว่างเธอกับปักกิ่งก็คือ การตีความ “ข้อตกลงปี 1992” ซึ่งเขียนไว้กว้างๆ ว่าทั้งแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวันเป็น “จีนเดียวกัน”
ปักกิ่งตีความว่า นั่นหมายความว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่
ไช่ อิงเหวิน และนักการเมืองซีกนี้ตีความว่าข้อตกลงนี้แปลว่าไต้หวันก็เป็นจีน และแผ่นดินใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของจีนเดียวกันนี้
ไม่ต้องแปลกใจว่าเธอได้รับความนิยมอย่างมาก คนไต้หวันที่หวั่นวิตกว่าจีนจะเข้ามายึดครอง
เธอปฏิเสธสูตรของจีนที่ระบุว่า ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองแบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ”
หลังผลเลือกตั้งออกมาชัดเจนแล้ว เธอประกาศต่อหน้าผู้สนับสนุนที่กรุงไทเป เรียกร้องให้จีนเลิกขู่ใช้กำลังกับไต้หวัน
“สันติภาพหมายความว่า จีนต้องหยุดขู่ใช้กำลังกับไต้หวัน ดิฉันหวังว่ารัฐบาลจีนจะเข้าใจความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน และการเลือกตั้งรัฐบาลอย่างเป็นประชาธิปไตยของเรา จะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับคำขู่และการคุกคาม”
คู่แข่งของเธอ นายฮั่น กับพรรคก๊กมินตั๋ง มีจุดยืนระหว่างหาเสียว่าต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน “ใกล้ชิดยิ่งขึ้น” แต่ไม่ถึงกับไปรวมกันเป็นหนึ่ง
เพราะพรรคนี้เน้นว่า หากรัฐบาลไต้หวันไม่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับปักกิ่ง โอกาสที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจด้วยกันก็จะมีมากกว่าปัจจุบัน
แต่ดูเหมือนคนไต้หวันจะตัดสินด้วยการหย่อนบัตรครั้งนี้เพื่อสะท้อนว่า
พวกเขาไม่ไว้ใจปักกิ่ง และเศรษฐกิจไต้หวันรุ่งเรืองได้โดยไม่ต้องง้อแผ่นดินใหญ่มากนักก็ได้!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |