กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้รธน. เริ่มวางกรอบรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน


เพิ่มเพื่อน    

17 ม.ค. 63 - ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีการพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ทีมโฆษกกมธ.ได้เสนอเอกสารกรอบแนวทางแนวทางการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น

โดยสรุปว่าแผนการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็น มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ 1.เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมเกี่ยวกับปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 3.เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินการ รวมทั้งผลการดำเนินการของคณะกรรมาธิการให้ประขาชนรับทราบเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ ได้กำหนดช่องทางการเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นผ่าน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบออนไลน์  เช่น การไลฟ์สดการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยขอมติที่ประชุมในการเผยแพร่เป็นรายครั้ง ประสานงานไปยังสำนักงานสารสนเทศ หรือโทรทัศน์รัฐสภา รูปแบบออนกราวน์ เช่น การจัดเวทีเสวนาโดยคณะกรรมาธิการฯ และ3.รูปแบบออนแอร์ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางรายการโทรทัศน์ ประสานไปยังโทรทัศน์รัฐสภา รายการโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยมเพื่อดำเนินการ 

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชรีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า เราต้องเร่งประชาสัมพันธ์ว่าเราทำอะไรบ้างและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยสงสัยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อน

นายวิเชียร ชวลิต กรรมาธิการวิสามัญ  กล่าวว่า หากจะนำเสนอถึงเรื่องปัญหาของรัฐธรรมนูญควรจะให้ข้อมูลรอบด้าน เช่น อยู่ที่ตัวผู้ใช้รัฐธรรมนูญ หรือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ควรให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวและไม่ให้เกิดการชี้นำประชาชนมากเกินไป

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรอนาคตใหม่ กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่ากระแสสนับสนุนและคัคค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมานานแล้ว อยากให้คณะกรรมาธิการวิสามัญมองถึงความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติ เพราะหากเรากังวลและตั้งประเด็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสร้างความขัดแย้ง จะมีผลให้การทำงานเดินไม่ได้เลย ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้บ้านเมืองกลับไปเป็นแบบเดิม แต่การไม่พูดเรื่องนี้เท่ากับว่าเป็นการเอาไปซุกไว้ใต้พรม สุดท้ายมันก็ระเบิดอยู่ดี

"สำหรับการรับฟังความคิดเห็นที่ทีมโฆษกทำมา คิดว่าไม่ได้เป็นการชี้นำแต่อย่างใด เพราะมีแนวทางที่สอดคล้องกับชื่อของคณะกรรมาธิการวิสามัญและการอภิปรายของส.ส.เมื่อครั้งพิจารณาญัตตินี้อยู่แล้ว ถ้าคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้กังวลกับเรื่องการรับฟังความคิดเห็น ท้ายที่สุดจะไม่ได้เริ่มทำงานเลย ทั้งๆที่ประชาชนข้างนอกได้ดำเนินการไปแล้ว เท่ากับเป็นการปล่อยให้ประชาชนขับเคลื่อน ยิ่งเราช้าเท่าไหรข้างนอกที่เคลื่อนเร็วมากขึ้นเท่านั้น" นายปิยบุตร กล่าว

จากนั้น นายพีระพันธุ์ พยายามเสนอให้ที่ประชุมเข้าใจตรงกันต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นฯ ต้องระวังไม่ให้เป็นชนวนสร้างความขัดแย้งเสียเอง เราจะต้องเป็นกลางเสมอและห้ามไปชี้นำว่าควรไปด้านซ้ายหรือด้านขวา 

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 2 ส่วน  คือ ส่วนเกี่ยวกับประชาชนแท้ๆ และรูปแบบการบริหารปกครอง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนจะได้ยินเฉพาะในส่วนรูปแบบการบริหารปกครอง หากเราใช้โอกาสนี้ไม่มองแต่มุมการเมือง แต่กลับมามองในมุมของประชาชนในเรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ก็น่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ  ดังนั้น ถ้าเรามีโอกาสได้นำเสนอด้านอื่นๆบ้าง ประชาชนจะได้เห็นความแตกต่างและให้ความสนใจ

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปเรื่องคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญว่าจะต้องมีจำนวนกี่คณะ เนื่องจากติดขัดในเรื่องงบประมาณ ทำให้นายพีระพันธุ์ แจ้งว่าต้องนำเรื่องนี้ไปประสานงานกับประธานสภาฯอีกครั้ง และขอให้กมธ.ที่สะดวกจะเสียสละทำงานเพิ่มแจ้งชื่อไว้ก่อน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"