พอช.ร่วมกับภาคีเครือข่ายเปิดศูนย์ฟื้นฟูฯ คนไร้บ้าน ‘บ้านโฮมแสนสุข’ ที่ขอนแก่น เพื่อเป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิต


เพิ่มเพื่อน    

 

ขอนแก่น /  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเปิดศูนย์ฟืนฟูฯ คนไร้บ้าน บ้านโฮมแสนสุข      ที่ จ.ขอนแก่น  เพื่อให้เป็นศูนย์ตั้งหลักชีวิต  สร้างอนาคตและชีวิตใหม่เป็นแห่งที่ 2 ต่อจากเชียงใหม่  โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นประธาน  รองรับคนไร้บ้านได้ 68 ราย  ใช้งบประมาณ 24 ล้านบาทเศษ  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20   ปี

 

วันนี้ (17 มกราคม)  เวลา 9.00 น.  มีพิธีเปิด ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน  บ้านโฮมแสนสุข จังหวัดขอนแก่น  โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นประธานในพิธี   มีนายปานทอง สระคูพันธ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมแสดงความยินดี   โดยมีผู้แทนสมาคมคนไร้บ้าน  ภาคีเครือข่ายการพัฒนา  และประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน

 

ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน  บ้านโฮมแสนสุข  ตั้งอยู่ที่ถนนเหล่านาดี  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  ขนาดเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.จำนวน  24.7 ล้านบาทเศษ  นอกจากพิธีเปิดในวันนี้แล้ว  ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน  คนเปราะบาง  และคนจนผู้เข้าไม่ถึงสิทธิ์ในจังหวัดขอนแก่น  โดยมีผู้แทน  หน่วยงานต่างๆ ร่วมลงนาม  เช่น  เครือข่ายคนไร้บ้าน  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  รองผู้ว่า จ.ขอนแก่น  ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง   ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน   ฯลฯ

 

 ร่วมกันเปิดป้ายบ้านโฮมแสนสุข

 

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  ความสำเร็จในการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน  บ้านโฮมแสนสุขในวันนี้  มาจากปัจจัย 3 ประการ  คือ 1.ประชาร่วมใจ  คือ  มีเครือข่ายคนไร้บ้าน และพี่น้องคนจน  คนไร้บ้านในจังหวัดขอนแก่นรวมกลุ่มกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  จนผลักดันให้เกิดศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นมา  2.ราชการร่วมมือ  คือ จังหวัดขอนแก่น  เทศบาลนครขอนแก่น  ภาควิชาการ  เช่น  มหาวิทยาลัย  รวมทั้งภาคประชาสังคม  และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด  เช่น  พมจ.ให้การสนับสนุน  และ 3.รัฐมีความมุ่งมั่น  โดย พอช.เป็นหน่วยปฏิบัติ  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เสนอโครงการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน  และคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ  118 ล้านบาท  เพื่อจัดตั้งศูนย์ที่เชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี

 

นายไมตรี  อินทุสุต

 

“ความสำเร็จในวันนี้  มาจากปัจจัย 3 ประการดังกล่าว  ไม่มีใครทำเพียงฝ่ายเดียวให้สำเร็จได้  ทำให้พี่น้องคนไร้บ้านได้มีที่อยู่อาศัย  ซึ่งเป็นบ้านที่มั่นของมนุษย์  ตรงตามเป้าหมายของสหประชาชาติที่ต้องการให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทยมาตรา 4  ที่ระบุว่า  ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเท่าเทียมกัน  และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน”  นายไมตรีกล่าว 

 

นายสุชิน  เอี่ยมอินทร์  นายกสมาคมคนไร้บ้าน  กล่าวว่า  กลุ่มคนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางในสังคม  บางคนมีปัญหาครอบครัว  เจ็บป่วย  พิการ  ตกงาน  ไม่มีรายได้  หรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะหาที่อยู่อาศัย  บางคนเพิ่งพ้นโทษไม่มีที่ไป  บางคนชอบชีวิตอิสระ  จึงออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ  เช่น  ใต้สะพาน  สวนหย่อม  สถานีรถไฟ  สถานีขนส่ง  หรือที่รกร้างว่างเปล่า   ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเก็บขยะรีไซเคิลขาย  หรือรับจ้างทั่วไป  มีรายได้ไม่แน่นอน  แต่ไม่อยากจะเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ของทางราชการ  เพราะมีกฎระเบียบ  มีการกำหนดเวลาเข้า-ออก  ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไร้บ้านที่ต้องออกเก็บขยะรีไซเคิลตั้งแต่เช้ามืด  และกลับตอนค่ำ 

 

“ดังนั้นการมีศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจึงเป็นทางออกหรือเป็นแสงสว่างของกลุ่มคนไร้บ้าน  และถือเป็น ศูนย์ตั้งหลักชีวิต เพราะทำให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง  เมื่อมีที่อยู่อาศัย  มีรายได้ ก็จะทำให้คนไร้บ้านคิดถึงอนาคต  และสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาใหม่  โดยมีหน่วยงานต่างๆ เป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุน  เช่น  เครือข่ายสลัมสี่ภาค  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  สมาคมคนไร้บ้าน  พมจ.  พอช.  ฯลฯ  โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างศูนย์ฯ ผ่าน พอช.  มีทั้งหมด 3 แห่ง  คือ 1. เชียงใหม่  เปิดดำเนินการแล้ว  รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ  70 คน  2.ขอนแก่น  และ 3.ปทุมธานี  กำลังก่อสร้าง”  นายสุชินกล่าว

 

นางสาวดวงใจ  หงษ์กา ในห้องพักกว้างประมาณ 2.50 X 3 เมตร

 

นางสาวดวงใจ  หงษ์กา  ผู้แทนศูนย์คนไร้บ้าน บ้านโฮมแสนสุข กล่าวว่า  ตอนนี้มีคนไร้บ้านเข้ามาอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้จำนวน 17 คน   โดยคนไร้บ้านจะบริหารจัดการกันเอง  มีการตั้งกฎระเบียบในอยู่อาศัย  เช่น  ห้ามดื่มเหล้า  ห้ามสูบบุหรี่  ห้ามเล่นการพนัน  ห้ามลักขโมย  ห้ามส่งเสียงรบกวนคนอื่น  ต้องช่วยกันออกค่าน้ำ  ค่าไฟ  ค่าบำรุงที่พัก  ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรมร่วมกัน  เช่น  ปลูกผัก  เลี้ยงเป็ด  ไก่  เลี้ยงปลาดุก  เพาะเห็ด  เพื่อเอามาทำอาหาร  มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการช่วยเหลือดูแลกัน  ทำให้ชีวิตคนไร้บ้านดีขึ้นกว่าเดิม  เพราะมีที่พักเป็นหลักแหล่ง  ไม่ต้องเร่ร่อน  มีเพื่อนพูดคุยปรับทุกข์  มีรายได้จากการเก็บของเก่า  ขายซื้อผ้ามือสอง  และรับจ้างทั่วไป

 

“เมื่อก่อนหนูอาศัยอยู่แถวศาลหลักเมือง  ตอนนี้อยู่กับแฟนในศูนย์ฯ หนูมีอาชีพเก็บของเก่าขาย ส่วนแฟนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป  เมื่อก่อนจะเก็บของเก่าเอาไปขาย 3-4 วันครั้งหนึ่งจะได้เงินประมาณ 1,000 บาท  แต่ตอนนี้ได้ไม่ถึง  เพราะของเก่าราคาตก  อยู่ในศูนย์ทุกคนก็ต้องช่วยกันออกค่าน้ำเดือนละ  75 บาท   ค่าไฟเฉลี่ยกันจ่ายตามมิเตอร์   ค่าที่พักถ้าอยู่เป็นห้องเป็นครอบครัวเดือนละ 500 บาท  คนโสดหรือไม่มีรายได้ไม่ต้องเสีย  หนูตั้งใจว่าจะอยู่ที่นี่อีกประมาณ 2 ปีก็จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกกับแฟน หรืออาจจะเข้าร่วมกับโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. เพื่อจะได้มีบ้านเป็นของตัวเอง  ตอนนี้กำลังเก็บเงินฝากเอาไว้ในกลุ่มออมทรัพย์  และถ้าหนูออกไปอยู่ข้างนอก  คนไร้บ้านคนอื่นก็จะได้เข้ามาอยู่แทน” นางสาวดวงใจบอกถึงชีวิตในวันข้างหน้า

 

สภาพบ้านโฮมแสนสุข

 

ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน  บ้านโฮมแสนสุข จังหวัดขอนแก่น  ตั้งอยู่ที่ถนนเหล่านาดี  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง   มีเนื้อที่ประมาณ 3   ไร่  เริ่มก่อสร้างในปี 2561  ใช้งบประมาณทั้งหมด 24.7 ล้านบาทเศษ  ภายในแบ่งเป็นห้องพัก  รองรับคนไร้บ้านได้ 68 ราย (หมุนเวียนกันเข้ามาอยู่อาศัย)  โดยแบ่งเป็น 1. ห้องชั่วคราว (พัก 1-2 สัปดาห์)  2.ห้องประจำ (อยู่ 1 เดือนขึ้นไป)  และ 3. ห้องมั่นคง (อยู่ระยะยาวสำหรับคนที่มีเป้าหมายจะตั้งหลักชีวิต)  ปัจจุบันมีคนไร้บ้านอยู่ห้องมั่นคงแล้ว 17 ราย  และหมุนเวียนมาอาศัยต่อเดือนประมาณ 50 ราย

 

นอกจากนี้ภายในศูนย์ฯ ยังมีพื้นที่ทำกิจกรรม  สันทนาการ  แปลงเกษตร  ปลูกผัก  บ่อเลี้ยงปลา  เลี้ยงเป็ด  ไก่  รวมทั้งยังมีการจัดตั้งกองทุนคนไร้บ้าน  คือ  1.ออมเพื่อที่อยู่อาศัย  สร้างอนาคตใหม่  2.ออมเพื่อสุขภาพ  การรักษาพยาบาล  และ       3.ออมเพื่ออาชีพ (ปัจจุบันมีเงินออมรวมกันประมาณ 30,000 บาท)

 

 

ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน  บ้านโฮมแสนสุข  เป็นการดำเนินงานตาม แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   โดยมีเป้าหมายพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 1,050,000  ครัวเรือนทั่วประเทศ  ประกอบด้วย   1.โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท  2.โครงการบ้านพอเพียง  3.การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองบางซื่อ  และคลองเปรมประชากร  และ 4.กลุ่มคนไร้บ้าน (จังหวัดเชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี  รวม 698 ราย  งบประมาณรวม 118 ล้านบาทเศษ)

 

อย่างไรก็ตาม  จากข้อมูลการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในปี 2562 ที่ผ่านมา  พบคนไร้บ้านในเขตเทศบาล  และเมืองใหญ่ทั่วประเทศจำนวน  2,774 คน  โดยในจังหวัดขอนแก่นพบจำนวน 137 ราย  โดยในวันที่ 24 มกราคมนี้  จะมีการจัดงานสัมมนาที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ   เพื่อนำข้อมูลการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศมาวางแผนแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายต่อไป

 

อาชีพขายเสื้อผ้ามือสอง (มีผู้บริจาค) นำรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองกลางของคนไร้บ้าน

 

งานหัตถกรรมสร้างรายได้ให้คนไร้บ้าน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"