กพท.ลุยคุมเข้มโดรนหวั่นกระทบมาตรฐานการบิน


เพิ่มเพื่อน    

17 ม.ค. 2563 นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่าในปี2563 นี้มุ่งเน้นงานกำกับดูแลการบินพลเรือนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน โดยไฮไลท์ของปีนี้ ประกอบด้วย 2 เรื่อง คือ 1.การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอนาคต ด้วยการกำกับดูแลการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีของโดรนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ประกอบกับมีราคาถูก จึงมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการบินพลเรือน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยต่อชุมชน และการปฏิบัติการบินของสายการบินพาณิชย์ ด้านความมั่นคง และความเป็นส่วนตัวของประชาชน 

นายจุฬา กล่าวว่า ปีนี้วางแผนให้มีข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAS license เพิ่มเติมจากประกาศผู้ควบคุมโดรนเดิมให้มีมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือน (ICAO) ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้วประมาณ 10,000 คน โดยมีทั้งการบินเพื่อการเกษตรและเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเตรียมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบินโดรนที่ใช้มาตั้งแต่ปี 58 ใหม่ คาดจะสามารถประกาศใช้กฎหมายใหม่ภายในปลายปี 63

นอกจากนี้ จะมีโรงเรียนสอนการใช้โดรนที่ถูกต้องตามมาตรฐานของ กพท. เพื่อให้การออกใบอนุญาตนักบินโดรนเป็นเหมือนใบเบิกทางให้อุตสาหกรรมการบินโดรนของไทย และผู้ที่ต้องการบินโดรนอย่างมืออาชีพและเพื่อการพาณิชย์ โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตโดรนนี้ต้องได้รับการอบรมที่ถูกต้องจากสถาบันที่มีมาตรฐาน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงมีการจัดสอบเพื่อให้ได้นักบินโดรนที่มีคุณภาพ โดยจะร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI พิจาณาหลักสูตรการอบรม

2.การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือ HEMS โดย กพท.มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้น สิ่งที่จะให้การส่งเสริมปี 63 คือ การปลดล็อคให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดที่นอกเหนือสนามบินได้ในวันที่ 1 มีนาคม 63 เพราะระยะเวลาในการขนส่งผู้ป่วย 1 ชั่วโมง ถือเป็น Golden Hour ที่มีค่า โดยได้ร่วมมือกับสถาบันการแพยท์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่ง ทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นอีกด้วย 

สำหรับ HEMS มีจุดเด่น คือ สามารถเข้าถึงผู้ได้รับบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงหรือเจ็บป่วยวิกฤติฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ใกล้ขึ้น รับส่งผู้บาดเจ็บ หรือบุคลากรทางการแพทย์นอกเขตสนามบินได้ เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตมากยิ่งขึ้นภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย ด้านการบินสากล และมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเชื่อว่าแผนงานปีนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีมาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

นายจุฬา กล่าวว่าด้านภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยนั้น มีภาวะการเติบโตแบบชะลอตัวเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุถึงปัจจัยที่กำลังฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมสายการบินโลกว่ามีหลายองค์ประกอบเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ค่าจ้างบุคลากรที่สูงขึ้น เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการผลักดันการพัฒนาการบินพลเรือนให้มีความยั่งยืนทุกด้าน

สำหรับภาพรวมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าสถิติการขนส่งผู้โดยสารปี 62 จะมีผู้โดยสาร 165.11 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 76.20 ล้านคน ลดลง 3.1%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 88.91 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า7.3 %โดยจากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าคนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับครึ่งปีหลังเป็นช่วงเทศกาล ทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"