ทิศทางพรรคใหม่ "กรณ์" สนามแรกชิมลางท้องถิ่น


เพิ่มเพื่อน    

    ประมวลสรุปทิศทาง ในวันที่ ประชาธิปัตย์ กำลังประสบปัญหา แพแตก-เลือดไหลไม่หยุด กับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ของอดีตแกนนำ-อดีต ส.ส.หลายต่อหลายคนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

          เช่น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม มือปราบโกงข้าวที่ไปอยู่กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย, อนุชา บูรพชัยศรี อดีต ส.ส.คลองเตย 2 สมัย ที่ถูกดูดไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ กับตำแหน่งเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ (ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) และเตรียมลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐรอบหน้า, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่อยู่กับพลังประชารัฐ และทำงานเป็นกุนซือให้นายกรัฐมนตรี พร้อมกับเป็น ปธ.กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไข รธน.ของสภาฯ

           และล่าสุดกับการลาออกจากพรรค ปชป.ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมากับกรณีของ กรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกพร้อมๆ กับ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.

         อรรถวิชช์-เดอะเอ๋ หนึ่งในผู้วางแผนการทำพรรคการเมืองกับกรณ์ สื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในพื้นที่ของตัวเองอย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุตอนหนึ่งหลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และได้ไปอำลาเสาหลักของพรรคสีฟ้า อย่าง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและอดีตหัวหน้าพรรค ปชป.อย่างเป็นทางการ เขาสื่อสารเรื่องพรรคการเมืองตั้งใหม่ไว้ว่า

         "การเมืองที่ผมอยากเห็นคือ การเมืองที่กระชับ ชัดเจน รองรับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อนำประเทศเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ เป็น Startup ทางการเมืองที่จะฉีกกรอบแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดินอย่างสร้างสรรค์" และย้ำว่า "อยากเห็นคนจริง คนทำงานในหลากหลายอาชีพ มาช่วยกันขับเคลื่อน พลิกโฉมประเทศไทย ผมกับพี่กรณ์ตกลงกันว่า ได้เวลาลงมือทำ ถึงไหนถึงกัน สร้างการเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณธรรม และอยากชวนทุกคนมาร่วมทางเดินลุยไปทำในสิ่งที่เชื่อกัน"

          ต่อมาเมื่อกระแสข่าวแพร่สะพัดว่าทั้ง 2 คนจะยื่นเรื่องขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง ในเร็วๆ นี้ ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคดังกล่าวจะใช้ชื่อว่า พรรคขับเคลื่อนไทย

ซึ่ง อรรถวิชช์ ก็ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า สำหรับชื่อ "พรรคขับเคลื่อนไทย" ที่ปรากฏออกไป เป็นเพียงหนึ่งในชื่อที่มีการพูดคุยกัน เพราะยังไม่ได้เคาะว่าจะใช้ชื่ออะไร คงต้องมีการปรึกษาหารือกันก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังประชุมผู้ร่วมก่อตั้ง เบื้องต้นตั้งให้กรณ์เป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องรอขั้นตอนทางกฎหมายอีก ดังนั้นขอไปทีละเรื่องก่อน และอ้างถึงการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า มีกระแสตอบรับดี มีคนติดต่ออยากมาทำกิจกรรมการเมืองดังกล่าวด้วยหลายคน จึงรู้สึกดีใจที่ได้รับการตอบรับที่ดี

         "เราเป็นสตาร์ทอัพเกิดใหม่ โดยพยายามให้มีคนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ คนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาร่วมด้วย ส่วนจะมีใครบ้าง จะเปิดตัวอย่างไร คงต้องรอขั้นตอนทางกฎหมายก่อน"

          พลันที่มีกระแสข่าวเรื่องความเคลื่อนไหวการทำพรรคการเมืองใหม่ ทั้งที่ผ่านการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 มายังไม่ถึง 1 ปี และยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจะมีการยุบสภาฯ ยิ่งเวลานี้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลประยุทธ์ก็คลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง บนข้อสงสัยของหลายคนว่า เหตุใด "กรณ์" ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.สอบตกแบบอรรถวิชช์ ถึงต้องรีบลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ บนเสียงวิจารณ์ว่าคงเพราะขัดแย้งอย่างหนักกับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่? หรือว่าเพราะได้สัญญาณบางอย่างมาจากฝ่ายผู้มีอำนาจในเวลานี้ว่า กำลังจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 อาจประกาศใช้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เลยทำให้กรณ์และกลุ่มผู้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่รอช้า จะขอชิมลางส่งคนของพรรคใหม่ลงชิงชัย เพื่อใช้จังหวะเลือกตั้งท้องถิ่นโฆษณาประชาสัมพันธ์พรรคการเมืองใหม่ไปในตัว อีกทั้งเพื่อทดสอบการทำพรรคการเมืองว่า จะเดินไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน เพราะเริ่มตั้งต้นเร็ว ก็จะได้มีเวลาเตรียมตัวได้เต็มที่

                ส่วนจะถึงขั้นที่ว่ากรณ์จะลงชิงชัยสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในพรรคใหม่ดังกล่าวหรือไม่ ข่าวยังไม่แน่ชัด และหลายคนแม้แต่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่คุ้นเคยกับกรณ์ และเคยอยู่ในทีมหาเสียงช่วยนายกรณ์ตอนชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แข่งกับจุรินทร์ ก็ให้ข้อมูลว่า แม้จะเคยแลกเปลี่ยนสนทนากันเรื่องการทำพรรคการเมืองใหม่กับกรณ์อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เห็นท่าทีของกรณ์แสดงออกว่า สนใจจะเข้าสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างที่คนวิเคราะห์ เพราะส่วนใหญ่เวลาพูดคุยกัน ตัวนายกรณ์จะชอบพูดถึงเรื่องว่า พรรคการเมืองไทยเวลานี้ ยังมีโอกาสที่จะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ที่ทันสมัย สามารถสร้างการยอมรับจากประชาชนได้ หากมีนโยบายที่แตกต่างและตรงกับความสนใจของกลุ่มคนที่ต้องการคะแนนเสียง เช่น ความต้องการของประชาชนที่ต้องการเห็นการเมืองไทยให้น้ำหนักกับเรื่องการนำพาประเทศไทยไปข้างหน้า ในยุคที่ทุกวงการโดน disrup จากผลพวงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

          "ตัวของกรณ์กับอรรถวิชช์ เขาก็คุยกันหลายรอบ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ถึงเรื่องการทำพรรคแบบใหม่ๆ เสนอแนวคิด นโยบายแบบที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ กลุ่มสตาร์ทอัพในทุกวงการ ทั้งการเงิน การธนาคาร วงการธุรกิจ กลุ่มนักศึกษา โดย 3 คนหลักที่คุยกัน ก็ตามที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ โดยอีกคนหนึ่งก็คือ โจ ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อดีต CEO สายการบินไทยแอร์เอเชีย-ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย ที่ก่อนหน้านี้ก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะลงผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้นหากพรรคการเมืองพรรคใหม่ตั้งเสร็จ ก็อาจเป็นคนนี้มากกว่าที่อาจจะลงผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคนี้ ไม่ใช่นายกรณ์ ที่ไม่เคยเห็นพูดถึงเรื่องนี้" แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่งที่คุ้นเคยกับนายกรณ์เล่าให้ฟัง

          สำหรับกระแสข่าวว่า อาจจะมี ส.ส.-อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์บางส่วน อาจไปร่วมงานการเมืองกับนายกรณ์ในอนาคต พบว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความเคลื่อนไหวออกมามากนัก เพราะแม้บางคนในพรรคอาจไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานภายในพรรค ปชป.ของทีมบริหารภายใต้การนำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แต่ส่วนใหญ่ก็มองว่า ตอนนี้ไทม์มิ่งยังไม่ใช่เวลาที่ต้องรีบตัดสินใจ ยิ่งพวก ส.ส.เขตด้วยแล้ว ยังไงก็ไม่ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ที่จะมีผลทำให้ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ไปด้วยแน่นอน เพราะการตัดสินใจแบบนั้นคือมีแต่พังกับพัง เพราะจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศเสียงบประมาณจำนวนมาก จะโดนด่าอย่างหนัก เลยทำให้พวก ส.ส.เขต ประชาธิปัตย์ บางคนที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับนายกรณ์ จึงไม่มีการขยับอะไร จะมีก็อาจเป็นพวกอดีต ส.ส.เขต อดีตผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคที่อันดับไม่ถึง หรือผู้สมัคร ส.ส.เขตของ ปชป.ที่สอบตก ที่อาจเริ่มมองๆ ไปที่พรรคใหม่ดังกล่าว หากชั่งน้ำหนักแล้ว การไปร่วมสร้างพรรคใหม่จะมีโอกาสเติบโตมากกว่าอยู่ซ่อมบ้านหลังเก่า. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"