รัสเซียล้างไพ่ 'ปูติน' ดันปฏิรูปการเมืองยืดอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เดินเกมยืดอำนาจยาว ดันแก้ไขรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง โยกอำนาจประธานาธิบดีเข้าสภา แล้วขยายอำนาจสภาที่ปรึกษาที่อาจใช้รองรับการครองอำนาจต่อหลังพ้นเก้าอี้ในปี 2567 นายกฯ ดมิตรี เมดเวเดฟ รับลูกนำคณะรัฐมนตรีลาออกยกชุด ให้ปูตินตั้งเทคโนแครต "มิคาอิล มิชูสติน" เสียบแทน

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (ซ้าย) พบกับมิคาอิล มิชูสติน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563

    รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2563 ว่าสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียลงมติอย่างท่วมท้นให้การรับรองมิคาอิล มิชูสติน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างทันควันไม่ถึง 24 ชั่วโมงภายหลังประธานาธิบดีปูตินประกาศปฏิรูปรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การประกาศลาออกของรัฐบาลยกคณะ สั่นสะเทือนระบบระเบียบการเมืองของรัสเซียอย่างไม่ทันตั้งตัว

    การลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีไม่มี ส.ส.ลงมติคัดค้านแม้แต่รายเดียว แม้ว่า ส.ส.พรรคคอมมิวนิสต์หลายคนจะงดออกเสียง

    คำประกาศที่สร้างความสะเทือนเลือนลั่นแก่การเมืองรัสเซียเกิดขึ้นระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีของปูตินเมื่อวันพุธและผลที่ตามมาหลักจากนั้น ซึ่งทำให้เกิดการคาดเดาเกี่ยวกับบทบาทของปูตินภายหลังพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 4 ในปี 2567 บางฝ่ายชี้ว่าผู้นำวัย 67 ปีซึ่งครองอำนาจมานับแต่ปี 2542 อาจวางรากฐานสำหรับการครองอำนาจต่อไปโดยอยู่หลังฉากหรือผ่านตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่

    ยังไม่ชัดเจนว่ามิชูสติน นักวิชาการวัย 53 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสรรพากรแห่งชาติ ถูกเลือกมาเป็นผู้นำขัดตาทัพ หรือจะถูกฟูมฟักเป็นทายาทสืบทอดอำนาจของปูติน

    ในคำแถลงนโยบาย ปูตินกล่าวว่า เขาต้องการให้ถ่ายโอนอำนาจจากประธานาธิบดีไปอยู่ในมือของสภาดูมามากขึ้น รวมถึงอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

    เขายังเรียกร้องให้เพิ่มอำนาจแก่สภาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษา และให้กำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพิ่มการคาดเดาว่าปูตินอาจจะคุมสภาแห่งนี้เพื่อครองอำนาจต่อไปหลังพ้นตำแหน่ง

    ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2536 โดยปูตินอ้างว่าชาวรัสเซียต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  

    วันพฤหัสบดี เขามีกำหนดพบปะกับคณะทำงานเตรียมการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่ โดยรายชื่อมากกว่า 70 ชื่อที่ทำเนียบเครมลินเผยแพร่แล้วนั้น รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในฝ่ายอนุรักษนิยม และคนดังเช่นนักแสดงและนักเปียโน

    ทันทีที่ปูตินแถลงนโยบายจบ ดมิตรี เมดเวเดฟ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่ปี 2555 ประกาศว่า ตัวเขาและรัฐบาลลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยอ้างว่ามีความจำเป็นเพื่อขจัดข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวงจากการขับเคลื่อนการปฏิรูปของปูติน

    มาเรีย ลิปแมน นักวิเคราะห์การเมืองอิสระกล่าวว่า คำประกาศนี้บ่งชี้ว่าปูตินต้องการเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศนี้ต่อไป โดยปราศจากคู่แข่ง โดยปูตินอาจจงใจลดทอนอำนาจของประธานาธิบดีก่อนที่เขาจะพ้นจากตำแหน่ง

    อเล็กเซย์ นาวัลนี ผู้นำฝ่ายค้านก็มองแบบเดียวกันว่า เป้าหมายเดียวของปูตินคือความปรารถนาครองอำนาจเป็นผู้นำตลอดชีวิต

    นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของรัสเซียรายนี้เคยเป็นผู้บริหารกลุ่มการลงทุน จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสรรพากรมาตั้งแต่ปี 2553 เขาชื่นชอบกีฬาฮอกกี้เหมือนกันกับปูติน และเคยแข่งขันกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคงหลายแมตช์

    มิชูสตินกล่าวต่อสภาก่อนการลงมติเมื่อวันพฤหัสบดี เรียกร้องให้สภาร่วมมือกับเขาเพื่อดำเนินโครงการปฏิรูปของปูตินอย่างเร่งด่วน ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"