สภาลงมติเอกฉันท์ไม่ส่ง 'ปิยบุตร-ช่อ-พิธา' ไปให้ตำรวจสอบสวน 'อนค.' ไม่วายข้องใจทำไมต้องเร่งขอตัวทั้งๆที่ใกล้ปิดสมัยประชุม  


เพิ่มเพื่อน    

 

15 ม.ค.63 - ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ 368 เสียงไม่อนุญาตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นางสาวพรรณิการ์ วานิช และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ไปรับการสอบสวนในคดีอาญาในระหว่างสมัยประชุม ตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 โดยมีส.ส.งดออกเสียงจำนวน 8 คน

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการลงมติดังกล่าวนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในฐานะประธานที่ประชุม เปิดโอกาสให้ส.ส.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า สภาไม่เคยส่งตัวส.ส.ให้ไปรับการดำเนินคดีในระหว่างสมัยประชุม แม้ว่าส.ส.จะร้องขอให้มีการดำเนินคดีก็ตาม ดังนั้น คดีนี้ก็เช่นกันที่จะต้องไม่ส่งตัว 

นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การขอตัวให้ไปรับการสอบสวนครั้งนี้มีข้อที่น่าสงสัย กล่าวคือ อีกไม่นานก็จะปิดสมัยประชุมแล้วในช่วงปลายเดือนก.พ. ทำไมต้องรีบมีการดำเนินการในระหว่างสมัยประชุม  เรื่องนี้ไม่ทราบว่าผบ.ตร.คิดอย่างไร แต่ผบ.ตร.เป็นส.ว.โดยตำแหน่งแล้วย่อมต้องรู้ถึงเอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีการเสนอเรื่องเข้ามาเพื่อขอให้ส่งตัวไปดำเนินคดี

"การมีอำนาจต้องใช้อำนาจให้จำกัด มิเช่นนั้นจะเป็นอันตราย ยืนยันว่าตรงนี้เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.ในการคุ้มครองการทำหน้าที่" นายคารม กล่าว

ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า วาระเรื่องนี้ไม่สมควรเป็นเรื่องด่วน อีกทั้งไม่ควรนำเรื่องนี้บรรจุเข้ามาในวาระการประชุมสภา เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรไปทำเรื่องที่สำคัญมากกว่า โดยในทางกลับกันพบว่าอีกฝ่ายที่ชุมนุมเหมือนกันกับไม่ถูกดำเนินการแต่อย่างใด

"ที่ผ่านมามีการปล่อยให้ส.ส.ที่มีหมายจับเข้ามานั่งในสภา ดังนั้น คดีนี้มันจะอะไรกันนักกันหนา สภาไม่ควรบรรจุวาระนี้เข้ามาเพราะมันเสียเวลาของสภา" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

นายปิยบุตร กล่าวว่า เรื่องการคุ้มกันส.ส.ในระหว่างสมัยประชุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ส่วนการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแต่การชุมนุมที่สกายวอล์คถูกกล่าวโทษว่าเป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งๆที่กฎหมายการชุมนุมต้องใช้ในลักษณะที่เป็นคุณและเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ ต้องไม่ใช้เป็นเครื่องมือในกีดกันการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

"ความคุ้มกันส.ส.ตามประเพณีปฏิบัติของสภาที่ผ่านมาก็ไม่เคยอนุญาตให้ส.ส.ถูกดำเนินคดีระหว่างสมัยประชุม การคุ้มกันติดตัวส.ส.ไปตลอดจนกว่าคุณจะลาออก และขอขอบคุณส.ส.อาวุโสหลายคนและประธานวิปรัฐบาลที่ยืนยันหลักการตรงนี้ แต่ผมและส.ส.อีก 2 คนขอยืนยันว่าพร้อมไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนต่อไป เพราะเชื่อมั่นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย และอยู่เคียงข้างกับประชาชนที่ปราศจากการคุ้มกัน" นายปิยบุตร กล่าว

ด้าน นายสุชาติ กล่าวว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 187 จะต้องบรรจุเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน และต้องพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ในเมื่อส.ส.ทั้ง 3 คนยืนยันที่จะไปรับการดำเนินคดีทำให้สภาฯจำเป็นต้องมีมติตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญว่าสภาจะให้ไปถูกสอบสวนคดีอาญาระหว่างสมัยประชุมหรือไม่ต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังสภาฯลงมติแล้วนายสุชาติ ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 20.30น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"