คำถามส่วนใหญ่จากคนติดตามข่าวความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านคือ สถานการณ์วันนี้ถือว่า "สงบ" แล้วหรือยัง?
คำตอบคือยังครับ
สงครามใหญ่อาจจะไม่เกิด แต่สงครามย่อยในรูปแบบต่างๆ กำลังจะปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องจากนี้ไป
โดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศจะเพิ่มมาตรการแซงชันหรือคว่ำบาตรอิหร่าน โดยขู่ว่าการ "ลงโทษ" อิหร่านจะทำอย่างต่อเนื่องและดำเนินต่อไป "จนกว่าอิหร่านจะเปลี่ยนพฤติกรรมของตน"
อิหร่านก็คงจะโต้ว่า "แล้วพฤติกรรมของอเมริกาล่ะ"?
ทรัมป์บอกว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อิหร่านได้ยึดเรือในน่านน้ำสากล ยิงใส่ซาอุดีอาระเบียและสอยโดรนของสหรัฐฯ อย่างน้อยสองเครื่อง
ทรัมป์เรียกร้องให้ยุโรปและรัสเซียกับ "ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก" ถอนตัวออกจากข้อตกลงกับอิหร่านเรื่องนิวเคลียร์ และขอให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อรองทำข้อสัญญาใหม่กับประเทศนั้น
แต่หากฟังจากผู้นำของอิหร่าน การ "แก้แค้น" ต่อการที่สหรัฐฯ สังหารนายพลกอเซ็ม สุไลมานีไม่อาจจะจบลงเพียงด้วยการยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพสหรัฐฯ สองแห่งในอิรักเท่านั้น
ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี ประกาศว่าการดำเนินการทางทหารเพียงแค่นี้ "ยังไม่พอ...สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เราต้องขับไล่สหรัฐฯ ออกไปจากตะวันออกกลาง"
ผู้นำอิหร่านบอกว่าการถล่มฐานทัพสหรัฐฯ เป็นแค่ "การตบหน้าสั่งสอน" สหรัฐฯ เท่านั้น
ภาษาของผู้นำสหรัฐฯ ในแวดวงความมั่นคงหลายคนก็ทำให้เห็นว่าการประจันหน้าทางทหารยังไม่ได้จบลงทั้งหมด
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ มาร์ก เอสเปอร์ บอกว่า "เราไม่ได้ต้องการแสวงหาสงครามกับอิหร่าน แต่เราพร้อมที่จะปิดฉากสงคราม"
คำว่า "ปิดฉากสงคราม" แปลว่าจะต้องมีการกระทำอะไรบางอย่างที่ทำให้อิหร่านหมดสภาพที่จะท้าทายสหรัฐฯ ต่อไป
นักวิเคราะห์ตะวันออกกลางบอกว่าการตอบโต้ของอิหร่านยังไม่จบ และหากการเจรจาไม่เกิดขึ้น หรือหากอิหร่านรู้สึกว่าสหรัฐฯ ใช้วิธีการกดดันอย่างไร้เหตุผล การตอบโต้ด้านอื่นๆ ก็อาจจะอยู่ในแผนปฏิบัติการ เช่น
1.โจมตีอิสราเอลเพื่อสกัดภัยจากอีกด้านหนึ่งหากสหรัฐฯ ใช้ "ตัวแทน" ในการจัดการกับอิหร่านในวันข้างหน้า
2.สงครามไซเบอร์
3.การโจมตีฐานทัพและจุดที่ตั้งทางทหารของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
4.จับตัวประกัน ก่อเหตุร้าย ณ จุดที่เปราะบางของสหรัฐฯ
อิหร่านรู้ดีว่าทรัมป์กำลังหาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกหนึ่งสมัย ดังนั้นทุกอย่างที่ทรัมป์พูดและทำย่อมจะมีเป้าหมายเพื่อฐานเสียงของตนในประเทศ
เมื่อรัฐสภาอิรักมีมติให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากประเทศนั้น (จาก 5 ฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศนั้น) อเมริกาจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เสียหน้าและสูญเสียการดำรงไว้ซึ่งกองกำลังของตนในภูมิภาคนั้น
ขณะเดียวกันหากทรัมป์ยังทำสงครามยืดเยื้อในตะวันออกกลาง ก็อาจถูกคู่แข่งจากพรรคเดโมแครตโจมตีในช่วงหาเสียงโค้งสุดท้ายนี้
พูดง่ายๆ คือทรัมป์จะถอนทหารออกจากตะวันออกกลางก็ไม่ได้ จะไม่ถอนก็ไม่ได้ อิหร่านรู้จุดอ่อนของทรัมป์ในประเด็นนี้ จึงคงจะกดดันทรัมป์ด้วยการแสดงจุดยืนที่ท้าทายไปเรื่อยๆ
ต้องไม่ลืมว่าอิหร่านมีพันธมิตรที่เป็นกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มก้อนในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นฮามาสหรือฮิซบุลเลาะห์ ซึ่งอาจจะโจมตีกองกำลังทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตรของอเมริกาในรูปแบบต่างๆ
เมื่ออิหร่านประกาศว่าจะไม่ยอมถูกผูกมัดโดยเงื่อนไขในข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ที่ทำกับอเมริกาและยุโรปอีกต่อไป ก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้อิหร่านเล่นเกมต่อรองที่ยืดเยื้อ
ที่ทรัมป์จะต้องวุ่นวายใจเป็นพิเศษก็คือ บทบาทของรัสเซียและจีนที่ประกาศยืนเคียงข้างอิหร่านในกรณีนี้
ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูตินของรัสเซีย แสดงบทบาทของนักการทูตอย่างคล่องแคล่วในขณะที่ทรัมป์เจอวิกฤติ
ปูตินพบกับผู้นำซีเรีย, ตุรกี และเชิญนายกฯ เยอรมนีมารัสเซียเพื่อปรึกษาหารือวิกฤติอิหร่านกับสหรัฐฯ
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนรุดไปอิหร่านและจับมือรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เพื่อยืนยันว่ามีจุดยืนร่วมกันในเรื่องนี้
แม้อังกฤษจะแสดงความเห็นใจสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ แต่เยอรมนีและฝรั่งเศสไม่พร้อมจะยืนเคียงข้างทรัมป์
อยู่ดีๆ สหรัฐฯ ก็ดูเหมือนจะถูกโดดเดี่ยวโดยมิตรเก่า, มหาอำนาจคู่แข่ง และชาติกลางๆ ที่ไม่อาจจะเข้าใจตรรกะและจุดยืนของทรัมป์พอที่จะวางนโยบายให้สอดคล้องกับสหรัฐฯ ได้เลย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |