เหลือ"ปตท."ไว้สักแห่ง


เพิ่มเพื่อน    

        เข้าใจดีว่า...ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง นอกจากเก้าอี้ "เจ้ากระทรวง" หรือรัฐมนตรีต่างๆ ต้องมีการเปลี่ยนไปตามตัวเลขและโควตา ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ยังมีเก้าอี้ของผู้ บริหาร "รัฐวิสาหกิจ" ภายใต้สังกัดของกระทรวงต่างๆ ก็จะถูกจับจ้องให้มีการเปลี่ยนถ่ายพรรคและพวกของตัวเองเข้าไปแทนที่ด้วยเช่นกัน

        จะเรียกว่ามันเป็น "ประโยชน์ต่างตอบแทน" หรืออวยยศอวยตำแหน่งให้กับนายทุน บริวาร ลิ่วล้อ ที่เคยช่วยเหลือ เกื้อกูล ผลักดันให้นายและนางทั้งหลายกลายเป็น ฯพณฯ ก็แล้วแต่ เพราะดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เรามักจะได้เห็นได้ยินทุกครั้ง

        อย่างไรก็ตาม ความคุ้นชินในประเด็นนักการเมืองจะเข้าไปล้วงลูกตั้งคนของตัวเองเพื่อบริหารงานในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ในทุกช่องทางที่สามารถกระทำได้บนกฎกติกามารยาทนั้น...หาใช่เป็นสิ่งที่ควรยอมรับ เห็นเป็นเรื่องธรรมชาติของอำนาจไหลไปไหลมาตามกาลเวลา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)

      ปตท.มีประวัติศาสตร์นานพอควร เดินข้ามผ่านจุดเริ่มต้นครบรอบ 4 ทศวรรษแล้วในวันนี้ หลังจากมีการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจใหม่ภายใต้ร่มเงากระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปี 2521 ในช่วงวิกฤติสังคมไทยมีปัญหาน้ำมันขาดแคลน

        มองย้อนกลับไป รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่มากกว่า 50% โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงพลังงานนั้น ผู้บริหารขับเคลื่อนองค์กรล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เทคนิคัล และเป็นองค์กรตัวอย่างที่สำคัญในการคัดสรรบุคลากรที่มีคุณภาพ จนสามารถสร้างฐานะให้เทียบเทียมกับระดับโลก

        จากการสำรวจของนิตยสารฟอร์จูนในปี พ.ศ.2555 บริษัท ปตท.ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับที่ 95 จาก 500 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก และในปี พ.ศ.2555 ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้สูงสุดของไทย รวมมูลค่ารายได้ 1,930,852 ล้านบาท

        ปตท.ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงาน และถือเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเป็นพิเศษ หากไม่มีผู้บริหารที่มีความสามารถ และปราศจากธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ คงไม่สามารถมาถึงตรงนี้ได้

        ชื่อเสียง ภาพลักษณ์องค์กรของรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่แห่งนี้ที่ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน มีคู่แข่งที่ล้วนเป็นระดับบิ๊กเบิ้มจากต่างประเทศนั้น มองข้ามความจริงมิได้ว่า นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจให้ความสำคัญในประเด็นการบริหารจัดการ ในประเด็นสำคัญ 3 ประการนั่นคือ

        1.กลไกราคาขายปลีกน้ำมัน

        2.แผนการลงทุนทางธุรกิจ

        3.การแทรกแซงจากรัฐ

        ฉะนั้น ฝ่ายการเมืองสมควรจะ "หยุด" การแทรกแซงรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ และปล่อยให้พวกเขาบริหารงานกันโดยอิสระ ย่อมจะดีกว่า เพราะคงไม่มีใครที่จะรู้จริงรู้ลึก เข้าถึงเข้าใจปัญหาโครงสร้างการทำงานทุกภาคส่วนของ ปตท.ได้ดีไปกว่าคนใน ปตท.เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "บริษัทลูก" ทั้งหลายของปตท.

        นักการเมืองไปๆ มาๆ แต่รัฐวิสาหกิจระดับยักษ์เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่าง ปตท.นั้น จะต้องอยู่รับผิดชอบภารกิจอันเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม จึงควรมีความเป็นตัวของตัวเองเพื่อการพัฒนาที่มั่นคง ก้าวหน้า ถาวร ยั่งยืน มิใช่ชักเข้าชักออกตามอำนาจทางการเมือง

        การล้วงลูกของนักการเมืองที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.อาจจะเป็นธรรมชาติของการเมืองที่ยอมกันไม่ได้ แต่สำหรับบริษัทลูกแล้ว กรุณาคิดใหม่ทำใหม่จะดีกว่า

        ขอส่งสัญญาณเตือนว่า การประชุมบอร์ด ปตท.ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนผู้บริหารในบริษัทลูก หากไม่อยากเห็น ปตท.ต้องฉิบหายเหมือนรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ที่สถานการณ์ย่ำแย่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจนถึงทุกวันนี้ ปล่อยให้คนใน ปตท.เขาพิจารณากันเองโดยอิสระ โปร่งใส จะสร้างประโยชน์โภคผลให้กับองค์กร รวมทั้งผู้ถือหุ้นมากกว่า

        หากนักการเมืองยังรักประเทศไทยอย่างปากอวดอ้างโฆษณาชวนเชื่อ ขอเตือนว่า เหลือ ปตท.ให้เขาทำงานตามหน้าที่และความสามารถที่เป็นที่ประจักษ์แจ้ง!!!  ไว้สักแห่ง ...รับรองว่าจะเกิดผลต่อประเทศชาติประชาชนอย่างมหาศาลแน่นอน.

                                                                                ปิยสาร์

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"