บูมเมอแรงย้อนกลับ 'กรธ.' ปั้น 'สนช.' แม่น้ำสาย 'อภิสิทธิ์ชน'!


เพิ่มเพื่อน    

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาแสดงความห่วงใยอีกครั้งต่อความสุ่มเสี่ยงที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 2 ฉบับจะขัดรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือฉบับที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กับฉบับที่ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

      แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับเลือกที่จะส่งตีความเฉพาะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ฉบับเดียว เพราะเกรงว่าหากส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยอาจกระทบโรดแมปเลือกตั้ง

      ก่อนหน้านี้ นายมีชัยได้แสดงความห่วงใยกรณีร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจะขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก สนช.ได้เขียนบทเฉพาะกาลจนส่งผลต่อคุณสมบัติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บางคน โดยเฉพาะทำให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.อยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กรธ.จึงป่นปี้ในแง่ความน่าเชื่อถือจากสังคม เพราะเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญกับมือแท้ๆ กำหนดเจตนารมณ์ไว้อย่างหนึ่ง แต่ถูก สนช.และศาลรัฐธรรมนูญตีความไปอีกอย่างหนึ่ง

      กลับมาดูชาติกำเนิดของ สนช. เมื่อแรกเริ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ 22  พฤษภาคม 2557 จากนั้น 2 เดือนต่อมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดให้มี สนช.  220 คน

      ต่อมา คสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพิ่มจำนวน สนช.จาก 220  คนเป็น 250 คน ซึ่ง สนช.ก็พิจารณาลงมติให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ จากนั้น คสช.ก็ตั้งเข้ามาเพิ่มอีก 33 คน เป็นทหารถึง 26 คน ตำรวจ 2 คน และพลเรือน 5 คน ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพื่อเปิดทางให้คนใกล้ชิดเข้ามามีตำแหน่ง

        สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้เขียนบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับ สนช.ไว้อย่างพิสดาร เพราะถูกสร้างขึ้นให้เป็นแม่น้ำสาย อภิสิทธิ์ชน???

ประการแรก ให้ สนช.อยู่ต่อไปจนถึงวันที่มีการประชุมรัฐสภาแล้วจึงค่อยสิ้นสุดจากตำแหน่ง

      ประการที่สอง สนช.เป็นข้าราชการประจำหรือรัฐวิสาหกิจก็ได้ โดยให้สามารถรับค่าตอบแทนได้ทั้งข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจได้พร้อมๆ กับตำแหน่ง สนช. ทั้งๆ ที่การปฏิบัติงานไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ดังปรากฏให้เห็นว่ามี สนช.หลายคนขาดการประชุม ขาดการลงมติโดยอ้างว่าติดงานราชการมาประชุมและลงมติไม่ได้ รวมทั้งถูกแซวว่าตอนเช้าออกจากบ้านไปทำงานจะแต่งเครื่องแบบข้าราชการ แต่พอมาประชุมที่รัฐสภาจะเปลี่ยนเป็นชุดสากลหรือชุดไทย

ประการที่สาม สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ สนช. หากต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องลาออกจาก สนช.หรือ สปท.ไม่เกิน 30 วันนับจากประกาศใช้ รธน. (6 เมษายน 2560) แต่ สนช.หรือ สปท. ถ้าจะเข้าสู่การสรรหาเป็น ส.ว.ไม่ต้องลาออกใดๆ ทั้งสิ้น

      ประการที่สี่ มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ  พ.ศ.2561 ประกาศใช้ตั้งแต่ 31 มกราคม 2561 ให้ครอบคลุมถึง สนช.ปัจจุบันนี้ด้วย

 แต่น่าสงสัยว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.สวนทางกับข้อ 13 หรือไม่ โดยข้อ 13 ระบุว่า "ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ"

      ส่วนประเด็นปัญหาคือ สนช.ปฏิบัติหน้าที่เป็นกลางได้หรือ ในเมื่อส่วนใหญ่เป็นข้าราชการต้องฟัง  คสช.และ ครม. จึงไม่ต้องพูดถึงการทำหน้าที่ที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

        ประการที่ห้า การที่ สนช.มีบทบาทในการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แล้ววันหนึ่งได้เข้าสู่การสรรหาเพื่อจะเป็น ส.ว. จะถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่

      อย่างน้อยทั้ง 5 ประเด็นคำถามที่มีต่อ สนช.ล้วนเป็นผลมาจาก รธน.2560 ทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ที่นายมีชัยและ กรธ.ทั้งหมดต้องตอบให้ได้ว่า สนช.ถูกสร้างให้เป็นอภิสิทธิ์ชนด้วยฝีมือใคร? 

เนื่องจากล่าสุดอภิสิทธิ์ชน สนช.ได้หงายไพ่ว่าต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป โดยไม่ยอมยื่นเรื่องตีความ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อศาล รธน.ตามที่ กรธ.และสังคมเรียกร้อง เพราะเห็นว่าปมการตัดสิทธิ์เป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปเลือกตั้ง กับการให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการในคูหาเลือกตั้ง ไม่น่ามีปัญหาสุ่มเสี่ยงขัด รธน. 

 เชื่อว่าการเล่นเกมของ สนช.อาจจะเป็นระเบิดเวลารอตูมออกมา หากมีคนไปยื่นตีความในภายหลังกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้และโรดแมปถูกเลื่อนออกไป 

คนรับผิดชอบคงหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562  หรือไม่ก็นายกฯ ต้องรีบโยนเผือกร้อนโดยเร็ว และยื่นตีความประเด็นดังกล่าวด้วยตัวเองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 (2) ก็อาจจะลบข้อหาสมคบคิดลงได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"