นายกฯ ห่วงภัยแล้ง คลอดมาตรการเร่งด่วน 2 ระยะรับมือ มั่นใจน้ำกิน-น้ำใช้เพียงพอถึง มิ.ย. สั่งแจงให้ประชาชนรับรู้ มท.บี้ทุกจังหวัดเร่งขุดดินแลกน้ำแก้ปัญหา "เฉลิมชัย" ทุ่ม 3.1 พันล้านจ้างงานเกษตรกร
เมื่อวันที่ 14 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการแก้ปัญหาภัยแล้งแก้ที่ปลายเหตุ ขอย้อนให้กลับไปดูว่าที่ต้นเหตุหรือการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาทำไปมากมายมหาศาล แต่ยังไม่ครบหรอก ตราบใดก็ตามถ้ายังไม่สมบูรณ์ทั้งระบบ จึงต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ตอนนี้แผนมีหมดแล้ว เพียงแต่ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ปัญหาสำคัญคือการทำประชาพิจารณ์ แม้จะมีการเวนคืนที่ดินมาแล้วยังมีปัญหาเรื่องการเยียวยามาอีก ตอนนี้มีหลายโครงการที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องของถนนที่มีปัญหา ที่ทำช้าเพราะเรื่องการเยียวยาต้องพิจารณาในมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการ
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดย ครม.รับทราบสถานการณ์น้ำแล้งช่วงระหว่างวันที่ 7-13 ม.ค.นี้ ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และกลาง 18 จังหวัด และเพื่อเป็นการดูแลประชาชนในช่วงภัยแล้ง รัฐบาลมีแผนเฉพาะหน้าแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงภัยแล้งเร่งด่วนเดือน ม.ค.-เม.ย. เป็นช่วงที่แล้งมาก จากนั้นเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค.-ก.ค. ฉะนั้นรูปแบบการทำงานจะต้องตอบสนองการทำงาน 2 ช่วงเวลา สนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ขอความร่วมมือจากเกษตรกรไม่ให้ปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำ โดยมีการประสานกรมฝนหลวง เพื่อให้ทำฝนหลวงตามสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การรับมือภัยแล้งปี 2563 แบ่งเป็นการดำเนินการบูรณาการหลายกระทรวง และในส่วนที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย 3,378 โครงการ มีการขุดเจาะบ่อบาดาล 1,053 แห่ง การจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน การซ่อมแซมระบบประปา ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการเรื่องการฟื้นฟูแหล่งน้ำ ทั้งเล็ก กลางใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 1.2 ล้านไร่ 421 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 942 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงการเตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง 25 ลุ่มน้ำ
“นายกฯ ย้ำว่าอยากให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลดูแลอย่างเต็มที่ พร้อมกำชับให้เกษตรกรติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการทำการเกษตร” น.ส.รัชดาระบุ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ภายใต้การดำเนินงานของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลบูรณาการข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ โดยนำโครงการของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการ มีทั้งแผนระยะกลางและระยะยาว 57 โครงการ ซึ่งมีการอนุมัติให้ดำเนินการไปแล้วในปี 2561-2562 จำนวน 18 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2565-2566
ทั้งนี้ นายกฯ สั่งการในที่ประชุมให้มีการบูรณาการงานต่างๆ และแถลงข่าวสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน รวมถึงให้ดูแลเป็นภารกิจหลักสำหรับปัญหาสถานการณ์น้ำเค็มที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาเริ่มดีขึ้น ขอให้ความมั่นใจว่าน้ำอุปโภคและบริโภคจะมีเพียงพอไปถึงเดือน มิ.ย.นี้
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีการปลูกพืชช่วงภัยแล้งว่า ในส่วนของพืชที่ใช้น้ำน้อยยังสามารถปลูกได้ และในหลายพื้นที่ยังไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ เช่น ในลุ่มน้ำภาคตะวันตก ลุ่มน้ำแม่กลอง หรือภาคใต้ พืชที่ไม่สามารถปลูกได้คือพืชที่ใช้น้ำมาก เช่น ข้าว ในส่วนนี้เราจะขอความร่วมมือ ทั้งนี้ เรามีมาตรการคือ 1.ส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และอายุสั้น และ 2.การจ้างงาน โดยกรมชลประทานวางแผนจ้างงานเกษตรกร ที่ไม่สามารถทำการเกษตร ซึ่งใช้งบประมาณ 3,100 ล้านบาท ซึ่งต้องทำงานบูรณาการในหลายภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหา คิดว่าตอนนี้เป็นวิกฤติของประเทศ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน อย่าคิดว่าเป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง วันนี้ต้องช่วยกันคิดว่าจะผ่านปัญหาไปได้อย่างไร
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายกฯ ได้ให้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน ด้วยการขุดดินแลกน้ำ โดยใช้วัสดุมูลดินที่ได้จากการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งอื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อเป็นการบริหารจัดการวัสดุมูลดินให้เกิดประโยชน์ และเป็นการขุดบ่อเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ ทั้งนี้ รมว.มหาดไทยได้มอบหมายให้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พิจารณาดำเนินการขุดดินแลกน้ำตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับสถานการณ์ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรือติดต่อสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่ จ.นครพนม สถานการณ์แม่น้ำโขงในพื้นที่ยังวิกฤติ ส่งผลให้ระดับน้ำโขงลดลงรวดเร็วกว่าทุกปี ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 1 เมตร กระทบต่อลำน้ำสาขาสายหลัก ทั้งนี้ นายเกียรติศักดิ์ ผัดวัง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาน้ำก่ำ เปิดเผยว่า ทะเลสาบหนองหารได้ระบายน้ำออกเพื่อทำโครงการพัฒนา ตั้งเป้าที่ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ได้ทยอยระบายน้ำลงมาสู่ลำน้ำก่ำ ซึ่งโครงการชลประทานน้ำก่ำได้วางแผนรับมือ เร่งกักน้ำที่หนองหารมีการระบายลงมาสู่น้ำโขงให้มากที่สุด คาดว่าจะเพียงพอในการระบายสู่ระบบชลประทาน ช่วยพื้นที่นาปรังไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 ไร่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |