เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเตรียมขับเคลื่อน ร่าง ‘พระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน’


เพิ่มเพื่อน    

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ /  เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจัดงาน พลังสวัสดิการชุมชน  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2020’ ระหว่างวันที่ 14-15 นี้  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โดยมีประเด็นสำคัญคือการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน พ.ศ...... เพื่อยกระดับสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็ง  มีกฎหมายรองรับให้เป็นระบบหนึ่งของสวัสดิการสังคมของประเทศ  ขณะที่มีกองทุนสวัสดิการชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศแล้ว 5,997 กองทุน  มีเงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท  ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิด-ตายรวมเป็นเงินกว่า 2,100 ล้านบาท

 

ระหว่างวันที่ 14-15 มกราคมนี้  มีการจัดงานพลังสวัสดิการชุมชน  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2020’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ   โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นประธาน  มีผู้บริหารสถาบันฯ  ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัด  ธนาคารแห่งประเทศไทย  สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมงานประมาณ 200 คน

 

นายไมตรี  อินทุสุต

 

นายไมตรี  อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  สวัสดิการชุมชนเป็น 1 ใน 4 งานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   คือ 1.สภาองค์กรชุมชน  2.สวัสดิการชุมชน  3. บ้าน  มีบ้านมั่นคงเมืองและชนบท  บ้านมั่นคงคลองลาดพร้าวและเปรมประชากร  บ้านพอเพียงชนบท ฯลฯ  และ 4.เศรษฐกิจชุมชน 

 

ทั้งนี้เรื่องสวัสดิการชุมชน  เป็นประเด็นปฏิรูปสังคม  การผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมสวัสดิการชุมชนจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ  จะต้องมองเขา และมองเรา   คือมองคนอื่นว่าเห็นด้วยหรือไม่  มันกระทบกับเขาหรือไม่  ตัวอย่างการรณรงค์เรื่องถุงพลาสติกกระทบนิดเดียวแต่มีความร่วมมือสูง  อย่ามองว่าเราได้ประโยชน์อย่างเดียว  นอกจากนี้จะต้องดูว่าซ้ำซ้อนกับกฎหมาย  กฎระเบียบที่มีอยู่แล้วหรือไม่

 

นอกจากนี้นายไมตรียังกล่าวถึงการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีความเข้มแข็งว่า ปัจจัยความสำเร็จคือท้องถิ่นต้องสนับสนุนเรา  หากผู้นำท้องถิ่น (นายก อบต./เทศบาล) ไม่มีส่วนร่วม  เราจะไม่มีพลังหนุนเสริมที่สำคัญ  ดังนั้นจึงต้องไปคลุกวงในกับท้องถิ่น  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่ได้รับรางวัลอาจจะไม่เข้มแข็งทั้ง 13 หมู่บ้าน ฉะนั้นกองทุนจะต้องไปเชื่อมกับผู้ใหญ่บ้าน  และสมาชิก อบต.ในหมู่บ้านจะต้องมีส่วนร่วม  เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้ทุกหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง  ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นฐานรองความเสี่ยงของชุมชน  ให้ชุมชนอยู่อย่างพอเพียง  พอดี

 

ตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว 5,997 กองทุน                                                                         

เงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท

นายแก้ว  สังข์ชู  ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ  กล่าวว่า  ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว  จำนวน  5,997 กองทุน  มีสมาชิกรวมกัน 5,911,137 คน  มีเงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท  เงินกองทุนทั้งหมดประมาณ  60% มาจากสมาชิก  ส่วนทิศทางหลักการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการในปี 2563 นี้  คือต้องการเห็นกองทุนเชิงคุณภาพ 

 

“ปี 2563 จะทำอย่างไรให้เกิดคุณภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   หลักคิดสำคัญต้องดูแลคนทุกกลุ่มแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิก   มุ่งเป้าหมายที่คนเดือดร้อน  คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้   เราไม่ได้ทำแข่งกับหน่วยงานของรัฐ  แต่มาช่วยเสริม  โดยในปี 2563-2565 จะเน้นทำให้กองทุนสวัสดิการมีคุณภาพ”  นายแก้วกล่าว

 

นายแก้ว  สังข์ชู

 

โดยมีเป้าหมาย  ระดับตำบล  คือ   ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง  กองทุนสวัสดิการเป็นมรดกของลูกหลาน  เป็นสมบัติของแผ่นดิน   ให้กองทุนมีความเข้มแข็ง  คนทุกกลุ่มเข้าถึงกองทุนได้ง่าย

 

ระดับจังหวัด ต้องการพัฒนาความสามารถเครือข่ายสวัสดิการชุมชน  เชื่อว่ากองทุนสวัสดิการโดดเดี่ยวไม่ได้  เชื่อมโยงผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  ยกตัวอย่าง กรณี จ.พัทลุง  มีกองทุนคุณภาพ 26 กองทุน  จึงทำเป็นคลินิก  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย  และมีการสอบทานกันเองช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  กองทุนต้องจัดทำรายงานทุกปีเพื่อให้ท้องถิ่น  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)  รับรู้เรื่องราวของกองทุนสวัสดิการชุมชน  ทำงานร่วมกับท้องถิ่น  ทำงานร่วมกับ พม.  หากมีกรณีต้องการช่วยเหลือให้ส่ง case ไปยังจังหวัด

 

ระดับภาค  ตอนนี้ทำทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ  แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน  ระดับภาคขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบข้อมูล องค์ความรู้สวัสดิการชุมชน องค์ความรู้มีความสำคัญ  ต้องรู้ว่ากองทุนไปทำเรื่องบ้าน  เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการศึกษาจำนวนเท่าไหร่  ข้อมูลเป็นหัวใจของการพัฒนา  ข้อมูลจะถูกลำเรียงจากระดับล่างสู่ระดับบน

 

ระดับนโยบาย  ขับเคลื่อนนโยบายภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 43 (4)  คือ จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน  โดยกำลังยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน  เพื่อจะเสนอเป็นกฎหมายโดยการเข้าชื่อ

 

“เราต้องการยกกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนิติบุคคล  กฎหมายนี้เป็นกฎหมายส่งเสริม  คิดว่าหากเรามีระเบียบ กฎหมายรองรับไว้   เพื่อป้องกันความเสี่ยง  ผมเชื่อว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนวัตกรรมทางสังคม  เริ่มจากประชาชน รัฐหนุนเสริมกองทุนสวัสดิการร่วมกัน  เพื่อทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนมีความเข้มแข็ง”  นายแก้วกล่าว

 

เตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน  พ.ศ.....

 

นายปาลิน  ธำรงรัตนศิลป์  คณะทำงานติดตามและพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน  กล่าวว่า  ประเด็นสำคัญของการจัดงาน  พลังสวัสดิการชุมชน  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2020’ คือ การร่วมกันพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน พ.ศ...... เพื่อนำไปเสนอเป็นกฎหมาย  (โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนสามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา)  มีเป้าหมายเพื่อยกระดับสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็ง   มีคุณภาพ  มีกฎหมายรองรับให้เป็นระบบหนึ่งของสวัสดิการสังคมของประเทศ 

 

 

ทั้งนี้การขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการของชุมชนฯ  เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  หมวด 3  สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 43  ที่ระบุว่า  “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ (4) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน  สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรค 1 หมายรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย”

 

นายปาลินกล่าวถึงเหตุผลในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า  กลุ่มและองค์กรชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ได้รวมตัวกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลเพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือกันตั้งแต่ปี 2548   โดยมีแนวคิดหลักคือ “การให้อย่างมีคุณค่า  และรับอย่างมีศักดิ์ศรี”   มีหลักการสำคัญคือ  สมาชิกกองทุนฯ จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือกันตามข้อตกลงของสมาชิกแต่ละกองทุน  เช่น  คลอดบุตร  ช่วยเหลือ 500  บาท  เสียชีวิตช่วยตั้งแต่  5,000-30,000 บาท  ฯลฯ  โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่น  และหน่วยงานรัฐ  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนในสัดส่วน 1 ต่อ 1   เพื่อให้กองทุนเติบโต

 

กองทุนสวัสดิการฯ เยี่ยมผู้ป่วย

 

“แต่เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนยังไม่มีกฎหมายรองรับ  หน่วยงาน  องค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้ามาให้การสนับสนุน  รวมทั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่  กองทุนสวัสดิการชุมชนก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง   ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนในชุมชน  ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคุณภาพชีวิต   เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้ามาสนับสนุนกิจการของกองทุน   เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมที่เกื้อกูลกัน เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้”  นายปาลินกล่าว

 

นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  ยังเสนอให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนแห่งชาติ’  โดยมีรัฐมนตรีกระทรวง พม. เป็นประธาน   มีหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี  ด้านนโยบายการจัดสวัสดิการของชุมชน  ให้มีหรือแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ  มาตรการด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร  ประสานนโยบายและแผน สร้างความร่วมมือกับส่วนราชการ ท้องถิ่น เอกชน  รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชน  ฯลฯ

 

ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว  จำนวน  5,997 กองทุน  มีสมาชิกรวมกัน 5,911,137 คน  จำนวนหมู่บ้านที่ร่วมจัดตั้งกองทุน 52,784 หมู่บ้าน  มีเงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท  ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิด-ตาย   จำนวน  2,024,788  คน   รวมเป็นเงินกว่า 2,100 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนหลายแห่งยังขยายงานสวัสดิการชุมชนไปสู่การพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  ส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ  จัดการขยะ  นำขยะไปรีไซเคิล  ส่งเสริมอาชีพสมาชิก  ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  ผู้พิการ  ผู้สูงอายุด้านที่อยู่อาศัย  ฯลฯ

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"