ฟ้าผ่า กกต. “ประยุทธ์” งัดมาตรา 44 เด้ง “สมชัย” พ้นหน้าที่ ระบุสัมภาษณ์ทำสังคมสับสน ผลประโยชน์ทับซ้อนลงชิงเลขาธิการ เจ้าตัวลั่นไม่เสียใจ รู้มานานอาจถูกเขี่ย ฟุ้งอาจพูดไปขัดใจใครทั้งที่หวังชี้ถูก-ผิด! “ศุภชัย-บุญส่ง” เฮได้ต่ออายุแม้ครบ 70 ปี “บิ๊กตู่” ขู่กำหนดวันเลือกตั้งเองหากเชิญพรรคการเมืองแล้วไม่มา อัดนโยบายพรรคจะลึกลับอะไรกันหนักหนา ส่อเค้าไม่ยื่นตีความกฎหมายลูก ส.ส. อ้างเป็นเรื่อง สนช.
เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญพรรคการเมืองร่วมหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.ว่า เรื่องการเชิญพรรคการเมืองนั้น ใครจะมาหรือไม่มาก็แล้วแต่เขา ถ้าไม่มาประชาชนจะว่าอย่างไร ต้องการให้ประชาชนรับทราบรับรู้ด้วยว่ามีการพูดคุยอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ไม่ได้หมายความว่าจะไปรู้นโยบายอะไรของเขา เพียงแต่เขาต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ในสิ่งที่ประชาชนต้องการ เพราะทุกพรรคอาสาเข้ามาทำงานการเมืองให้กับประเทศ
“อันนี้สุดแล้วแต่ ถ้ามาไม่ครบ หรือไม่มีการพูดคุยอะไรกันเลย มันก็กำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้นั่นแหละ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
เมื่อถามว่า การเชิญพรรคการเมืองมาชี้แจงถึงนโยบายนั้น ถือเป็นการแทรกแซงพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า การเชิญพรรคการเมืองมาพูดคุย ไม่ได้หมายถึงให้มาพูดคุยในนโยบายพรรค แต่อยากให้พูดถึงว่าจะแก้ไขปัญหา เช่น เรื่องการทุจริต เรื่องการบุกรุกป่าอย่างไร ซึ่งต้องคุยแบบนี้ แล้วทำไมนโยบายพรรคมันปิดลับกันมากหรืออย่างไร แต่พรรคการเมืองสามารถเปิดเผยนโยบายพรรคของตัวเองในภายหลังก็ได้ เพราะไม่ได้อยากจะรู้ เพียงแต่อยากถามว่าพรรคการเมืองจะทำต่อในสิ่งที่ทำไว้อย่างไร ถ้ามีวิธีการอื่นก็ต้องถามว่าประชาชนจะรับได้หรือไม่ ไม่ใช่ไม่มีรายละเอียดอะไรเลย แล้วก็เลือกกันออกมา มันไม่ใช่
“มันต้องสร้างการรับรู้ อย่างวันนี้ผมบอกทุกอันแล้ว ผมเคยหวงห้ามว่าใครจะเอาของผมไปใช้บ้างไหม และที่ผ่านมาผมทิ้งของเขาหมดหรือเปล่า มันก็ไม่ใช่อีก อะไรที่สานต่อได้ผมก็ทำ ส่วนอะไรที่มีปัญหาก็แก้ไขให้ถูกต้อง ใครเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลก็ต้องทำให้ประเทศชาติเจริญเติบโต นโยบายพรรคนั้นไม่ใช่นโยบายที่จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงได้ เพราะนโยบายพรรคเขาทำเพื่อสนองตอบบางกลุ่มเท่านั้นเอง ที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ ยกตัวอย่างการจำนำข้าว ถามว่าให้ใคร แล้วเคยรับผิดชอบในเรื่องงบประมาณแผ่นดินหรือไม่” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า หากพรรคการเมืองไม่มาร่วมหารือด้วย จะไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ โดยเฉพาะพรรคใหญ่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มาแล้วจะคุยกับใคร แต่ก็ต้องหาข้อยุติให้ได้มากที่สุด วันนี้มีพรรคการเมืองกี่พรรคที่เกี่ยวข้อง เพราะตอนนี้มีอยู่ 40-50-60 พรรคแล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองทุกพรรคหรือไม่
ขู่กำหนดวันเอง
“ใครอยากมาก็มา แต่ผมไม่ไปเบี้ยวอยู่แล้วแหละ ถึงอย่างไรก็ต้องเลือกตั้ง ถ้าอย่างนั้นก็ต้องกำหนดเองจะไปยากอะไรเล่า” นายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม คสช. พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 64 ปีในวันที่ 21 มี.ค. ตั้งใจจะทำอะไรเป็นพิเศษ และจะปลดล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรมเป็นของขวัญหรือไม่ ว่า "วันเกิดผม เกี่ยวอะไรกับใคร"
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวภายหลังการประชุม คสช.ว่า ก่อนเข้าประชุมได้อวยพรวันคล้ายวันเกิด พล.อ.ประยุทธ์ล่วงหน้า ซึ่งท่านได้ขอบคุณ และให้ช่วยกันทำงานเพื่อประเทศชาติ ทั้งนี้ การประชุมไม่ได้พูดคุยเรื่องปลดล็อกการเมือง แต่เป็นการพูดคุยแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในด้านต่างๆ
ถามถึงกรณีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กังวลว่าหากมีนายกฯ คนนอก จะซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ได้อ่านรายละเอียด ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมปอยู่แล้ว อย่าคิดไปไกล ณ วันนี้ไปให้ถึงเลือกตั้ง ตรงไหนมีปัญหาก็คลี่คลายไป อย่าไปคิดถึงเรื่องนายกฯ คนนอกอะไร หรือใคร จะกลายเป็นเรื่องฟุ้งซ่านไป และเดินไปไม่ได้
ผบ.ทบ.ยังกล่าวถึงข้อเสนอพรรคการเมืองใหม่บางพรรคเสนอให้ปฏิรูปและลดขนาดกองทัพว่า ปัจจุบันกองทัพปฏิรูปตลอดเวลา โดยเฉพาะการจัดโครงสร้างและการจัดระเบียบ ดังนั้นในอนาคตหากเสนอข้อมูลให้รัฐบาลต่อไปดำเนินการ ทางกองทัพก็ยินดีและดำเนินการได้ เพราะทุกกลไกพยายามปฏิรูปตัวเองให้เห็นความแตกต่างที่ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่แล้ว ซึ่งกองทัพไม่มีความขัดแย้ง ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวถึงกรณีนักการเมืองส่วนใหญ่บอกเป็นเรื่องยากเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า ตรงนั้นเดาออกอยู่แล้ว เป็นธรรมชาตินักการเมืองไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญคือเมื่อเราทำมาแล้วอย่าให้เสียของ เอาประชาชนมาเป็นพวกได้มากแค่ไหน ทำให้ประชาชนเห็นว่าจำเป็นต้องมี ส่วนการปรับแก้ทำได้ ไม่ใช่ของตาย
ลั่น”เพื่อไทย”ไม่ไปแน่
ขณะที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีนายกฯ จะเชิญพรรคการเมืองไปหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งว่า พรรคเพื่อไทยชัดเจนว่าเราไม่เห็นความจำเป็นต้องไป เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต.กับรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลผิดคำพูดมาโดยตลอด คงต้องติดตามกันต่อไป ส่วนการจะมาถามสิ่งที่พรรคการเมืองจะทำหรือนโยบายพรรคนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล พรรคการเมืองมีอิสระในการทำนโยบาย เพื่อให้ประชาชนเลือก หากถูกใจประชาชนเขาก็เลือกเราเข้ามาทำนโยบาย การที่รัฐบาลอย่างจะรู้นโยบายก่อนนั้น เป็นเรื่องไร้สาระที่จะคุยเรื่องนี้ เพราะการทำนโยบายมีกรอบอยู่ตามรัฐธรรมนูญ และนโยบายของแต่ละพรรคก็เป็นความลับ จนว่าเปิดให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อตัดสินใจลงคะแนน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาขอดูการบ้านก่อน
"ถ้ารัฐบาลจะเชิญพรรคการเมืองไปหารือเรื่องนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้ง เชื่อว่าคงไม่มีพรรคการเมืองไป แต่ถ้าเชิญเพื่อขอคำแนะนำว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ รัฐบาลควรดำเนินนโยบายใดหรือเรื่องใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เชื่อว่าน่าจะมีพรรคการเมืองบางพรรคไปร่วมหารือด้วย" นายก่อแก้วกล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวในเรื่องกฎหมายลูก โดยเฉพาะกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอให้รัฐบาลยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นในส่วนของ ส.ว.ไปแล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องว่ากันไป เป็นขั้นตอน ทางกฎหมายสามารถกระทำได้ เพราะมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ไม่อย่างนั้นศาลไม่มีงานทำ ตราบใดที่ยังมีข้อห่วงใย ข้อกังวล ก็ต้องให้ศาลตอบให้ชัดเจน แต่ต้องระมัดระวัง ซึ่งตนเองก็ระมัดระวังอยู่แล้ว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโรดแมป
“พออย่างนี้มาก็บอกว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบในภาพรวม พอเขาเห็นชอบร่วมกันมาก็บอกรัฐบาลไปก้าวล่วงโดยใช้อำนาจสั่งทำให้ผ่าน เรื่องแบบนี้มีทั้งสองทาง” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นเรื่องของ สนช. เพราะกฎหมายนี้ยังไม่ได้ส่งกลับมาเลย อย่ามาโยนให้รัฐบาล ในเมื่อท่านยังมีปัญหากันอยู่ก็ต้องแก้ที่ท่าน ถ้ามันไม่จำเป็นจะส่งทำไม ในเมื่อมอบหมายความรับผิดชอบไปแล้ว ก็ให้ไปทำกันตรงโน้น มิเช่นนั้นจะเสียหายกว่าที่จะได้อะไรกลับมา และไม่ใช่เรื่องที่ สนช.เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบไม่ตรงกัน แต่เกิดจากความเป็นห่วง เพราะมีเสียงทักท้วงจากตรงนั้นตรงนี้ เช่น นักการเมืองและอื่นๆ จึงเกิดความไม่มั่นใจ ดังนั้นก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตัดสิน เพื่อไม่เกิดความเสียหายในวันหน้า มิเช่นนั้น เมื่อเลือก ส.ว.มาแล้วมีปัญหาฟาวล์ทั้งหมดจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบพอถึงตอนนั้น
เมื่อถามว่า แสดงว่าสนับสนุนให้ทั้ง 2 ฉบับส่งตีความใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ เห็น สนช.ส่งฉบับเดียวไม่ใช่หรือ เมื่อถามย้ำว่าควรส่งทั้ง 2 ฉบับหรือไม่เพื่อกันปัญหาในอนาคต นายกฯ กล่าวว่า “ไม่รู้
ไม่รู้ ไม่มีหรอก ฉบับ ส.ส.ไม่น่าจะมีปัญหา”
กฤษฎีกาแล้วแต่นายกฯ
นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวเรื่องนี้ว่า สุดแล้วแต่นายกฯ เพราะไม่มีอะไรบังคับ และตอบไม่ได้ว่าถ้ามีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาเท่าไร เพราะขึ้นอยู่กับศาล ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับนั้น มีความคืบหน้ามาก โดยพยายามทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และคิดว่าทันตามกรอบเวลา
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สนช.ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปให้นายกฯ แล้ว ถือว่าหมดหน้าที่ สนช. หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของนายกฯ จะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่เชื่อว่านายกฯ คงไม่ยื่นให้ศาลตีความ และ สนช.ไม่ได้โยนเผือกร้อนให้นายกฯ ตัดสิน เพราะยืนยันมาตลอดว่าร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หากภายหลังจากที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หรือภายหลังการเลือกตั้งเสร็จแล้ว มีผู้ไปยื่นให้ตีความ ถือเป็นผู้ไม่ประสงค์ดีต่อการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครไปยื่นให้ตีความ และไม่เชื่อว่าศาลจะวินิจฉัยตรงข้ามกับที่ สนช.เชื่อ และหากจะยื่นให้ศาลวินิจฉัยภายหลังนั้น ต้องยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น ไม่สามารถไปยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสมาชิก สนช. ย้ำว่า การส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการทำให้เกิดความกระจ่าง และที่สำคัญคือการไม่ส่งผลกระทบต่อโรดแมป
พล.อ.เฉลิมชัยในฐานะ สนช.กล่าวเรื่องนี้ว่า สนช.ส่วนใหญ่ไม่ได้กังวล ทุกคนคิดว่าประเด็นนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะกฎหมายผ่านความเห็นชอบเรียบร้อย แต่เมื่อท้วงติงเพื่อให้คลายข้อสงสัย จึงยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และคิดว่ากฎหมายทั้งสองฉบับไม่มีปัญหาอะไร เพราะได้พิจารณาเห็นชอบกฎหมายทั้งสองฉบับ ซึ่งวิป สนช.เองก็ไม่กังวลกฎหมาย ส.ส. และเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบ จึงไม่ได้ยื่นให้ศาลตีความ
“ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบอยู่แล้ว ผมบอกหลายครั้งแล้ว เราจะเดินหน้าเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ประเด็นใดที่จะมีผลต่อการเลือกตั้งก็จะดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ทุกเรื่องไม่ใช่เฉพาะการบริหารงาน เพราะเราต้องนำไปสู่การเลือกตั้งให้ได้” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว
กรธ.ขอวางมือกฎหมายลูก
ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวในประเด็นนี้ว่า การที่ สนช.ยื่นความ พ.ร.ป.เพียงฉบับเดียวนั้น กรธ.ไม่ได้ติดใจ เพราะเชื่อว่าข้อสังเกตของ กรธ.ทั้ง 2 ข้อในร่าง พ.ร.ป.ส.ส.นั้นไม่ทำให้การเลือกตั้งต้องเสียไปทั้งหมด ทั้งการตัดสิทธิ์และการให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการขณะเข้าคูหาเลือกตั้ง เพราะหากในอนาคตศาลชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็แค่ตัดส่วนนั้นทิ้งไป ไม่กระทบต่อสาระหลักของร่างกฎหมายทั้งฉบับ และเมื่อ สนช.ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปถึงมือรัฐบาลแล้ว กรธ.คงไม่ส่งข้อสังเกตเพิ่มเติมไปยังรัฐบาลอีก เพราะได้แสดงความห่วงใยไปยัง สนช.แล้ว กรธ.จะหยุดแค่นี้ จากนี้ก็เป็นเรื่องที่ ครม.จะพิจารณาเอง
“ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ไม่ทราบเนื้อหาของหนังสือว่าเขียนเช่นไร ต้องรอศาลชี้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร กระทบกับสาระสำคัญหรือไม่ หากกระทบจะทำให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับ โดยหน้าที่แก้ไขยังเป็นของ กรธ. แต่กรณีดังกล่าวหากยื่นศาลเฉพาะความในบทเฉพาะกาล จะตัดส่วนดังกล่าวออกไป และทำตามขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ แล้ว กกต.จะร่วมกับ ครม.เสนอแก้ไขให้สอดคล้องกับการการได้มาซึ่ง ส.ว.ในคราวแรก” นายมีชัยกล่าว
ส่วนการจดแจ้งพรรคใหม่นั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง แถลงว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ชื่อและสัญลักษณ์ที่กลุ่มการเมืองได้ยื่นขอขัดต่อกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 18 วรรคสาม ที่ระบุว่า ชื่อ ชื่อย่อ ภาพ เครื่องหมายของพรรคการเมือง ที่ขอจดจัดตั้งนั้น ต้องไม่มีลักษณะตามมาตรา 14 ในข้อ 1.ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จึงจะทำหนังสือแจ้งผู้จดแจ้งชื่อว่าไม่สามารถรับจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองดังกล่าวได้ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิคนกลุ่มดังกล่าวที่อาจมายื่นขอจดจัดตั้งในชื่อใหม่ เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
“ขณะนี้มี 10 กลุ่มการเมืองที่ยื่นหนังสือขออนุญาตผ่านทาง กกต.แล้ว แต่มีเพียง 1 พรรคการเมือง คือพรรคทางเลือกใหม่เท่านั้นที่ คสช.อนุญาตให้จัดประชุมในวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งในวันดังกล่าว กกต.คงไม่ส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์ เพราะนายทะเบียนจะมีวิธีตรวจสอบอยู่แล้ว รวมทั้งคิดว่าการจัดประชุมควรเป็นเรื่องภายในของพรรคที่ต้องดำเนินการเอง” พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว
ม.44เด้งฟ้าผ่า”สมชัย”
ในช่วงเย็น พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 โดยความเห็นชอบของ คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2561 เรื่อง ให้กรรมการการเลือกตั้งยุติการอยู่ปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 64 ง และให้มีผลทันทีในวันที่ 20 มี.ค. โดยเนื้อหาระบุว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ได้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในกรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการและกำหนดการการเลือกตั้งด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควรในลักษณะอาจก่อให้เกิดความสับสน อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของ กกต. และการจัดการการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
คำสั่งยังระบุอีกว่า ได้ปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า นายสมชัยได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. โดยไม่ได้ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ กกต.เสียก่อน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าวโดยตรง และจะส่งผลต่อความถูกต้องและเป็นธรรมในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. จึงไม่สมควรให้นายสมชัยปฏิบัติหน้าที่ กกต.ต่อไป เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นธรรมแก่ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกรายอื่นๆ และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
คำสั่ง คสช.ที่ 4/2561 ยังระบุอีกว่า เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. และไม่กระทบต่อการเตรียมการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความสงบและบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จึงใช้อำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช. มีคำสั่ง ดังนี้ 1.ให้นายสมชัยยุติการอยู่ปฏิบัติหน้าที่ กกต. ตั้งแต่วันที่คำสั่งใช้บังคับเป็นต้นไป 2.ในกรณีที่ผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ประธาน กกต.หรือ กกต.ตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ศ.2560 มีอายุครบ 70 ปี ให้ผู้นั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวต่อไปจนกว่าประธาน กกต. และ กกต.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่ โดยบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. 2560 ด้วย และ 3.คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ กกต.ที่จะครบวาระเนื่องจากอายุ 70 ปี มีจำนวน 2 ราย คือ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 7 ส.ค.2561 และนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ที่จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 8 ก.พ.2562
ด้านนายสมชัยกล่าวยอมรับว่า เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจที่คิดว่าเหมาะสมก็ให้ดำเนินการไป แต่ยืนยันว่า การให้สัมภาษณ์ที่ผ่านมาอยู่บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์บ้านเมือง ไม่ได้มุ่งเอาใจใคร ส่วนการสมัครเลขาฯ กกต. ก็เป็นเพราะมีคุณสมบัติสมัครได้ แต่เชื่อว่า กกต.คงไม่กล้าเลือก เพราะรู้ดีว่าหากได้เป็นเลขาฯ กกต. อาจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อความต้องการของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองได้ ทั้งนี้ เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว ก็จะหาแนวทางอื่นในการทำประโยชน์ให้บ้านเมืองต่อไป
“สมชัย”ลั่นไม่เสียใจทำดีที่สุด
นายสมชัยกล่าวว่า ขอเวลา 2-3 วันเก็บของ คิดว่าสำนักงาน กกต.คงไม่ใจร้ายให้เก็บของให้เสร็จภายในวันนี้ ซึ่งเดิมจะไปร่วมสัมมนาเตรียมงานการเลือกตั้งของสำนักงานในวันที่ 21 มี.ค. ก็คงไม่ได้ไปแล้ว เพราะไม่มีหน้าที่แล้ว ส่วนการประชุมพรรคการเมืองเก่าในวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งตั้งใจจะเข้าร่วม ก็ต้องยกเลิกเช่นกัน ยกเว้นจะไปร่วมในฐานะตัวแทนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
"ไม่รู้สึกเสียใจต่อคำสั่งที่ออกมา เพราะก่อนหน้านี้ก็พยายามหาทางออกจากตำแหน่งอยู่แล้ว และรู้ว่าตัวเองสุ่มเสี่ยงมาโดยตลอดกับการถูก คสช.ปลด เพราะให้สัมภาษณ์ไม่ถูกใจใคร แต่ถือว่าทำตามหน้าที่ ซึ่งอาจมีคนเห็นว่าไปขัดผลประโยชน์จนทนไม่ได้ แต่การเป็น กกต.ก็มีหน้าที่ชี้ว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด" นายสมชัยกล่าว
นายศุภชัยกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่มีปัญหา เพราะ กกต.ที่เหลือก็ปฏิบัติหน้าที่ 4 คน ซึ่งก็ถือว่าครบองค์ประชุม ส่วนงานด้านบริหารกลางที่นายสมชัยดูแลอยู่นั้น ปกติ กกต.ไม่ได้คุมงานบริหาร ให้แต่นโยบายอย่างเดียว ซึ่งในส่วนนี้อยู่ในการดูแลของสำนักงานและเลขาธิการ กกต. ส่วนการต่ออายุของประธาน กกต. และ กกต.บางคนที่จะมีอายุครบ 70 ปีให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่นั้น ก็ไม่มีปัญหา ก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายสมชัยให้ความเห็นปกติ เป็นความเห็นตามข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายลูก ส.ส.และ ส.ว. แม้นายสมชัยในความรู้สึกจะเหมือนอยู่ตรงกันข้ามกัน แต่หลายเรื่องที่นายสมชัยพูดออกมา ต้องบอกว่าบางเรื่องก็เห็นด้วย เช่น กระบวนการคัดเลือก กกต.จากสายศาล ได้ข้อฉุกคิดก็มาจากนายสมชัย เหตุที่โดนปลดเข้าใจว่า หลังๆ กลไกอำนาจไม่เอื้อต่อการทำงาน หรืออาจไปทำงานขัดใจใครบางคน
“นายสมชัยเป็นคนทำงาน ติดตามการทำงานตั้งแต่อยู่พีเน็ต แม้ปี 2557 บางช่วงอาจเป๋ไปบ้างก็ตาม ซึ่งผมเคยเป็นคนหนึ่งในการรวบรวมรายชื่อเสนอให้ปลดนายสมชัยจากการสัมภาษณ์ ทำงานใหญ่ ใจต้องเอียง เพียงแต่ยุบสภาไปก่อน ส่วนตัวไม่ได้เคียดแค้น เรื่องนี้แม้เป็นอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำได้ แต่ก็ถือว่าได้เสียคนทำงานที่พูดจริงไปหนึ่งคน ส่วนประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นายสมคิดกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |