14 ม.ค.63-เพจพรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party โพสต์ข้อความว่าเมื่อวานนี้ (13 มกราคม 2563) ณ ห้องประชุมวิวัฒนไชย อาคารไทยซัมมิท พรรคอนาคตใหม่ได้จัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "อนาคตงบประมาณไทย อนาคตใหม่ประชาชน" ซึ่งเป็นการเล่าประสบการณ์และข้อเสนอการจัดการงบประมาณประเทศฉบับอนาคตใหม่ โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้นำทีม ส.ส.และคณะทำงานใน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ผู้ร่วมพูดคุย อาทิ ศิริกัญญา ตันสกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, รอมฎอน ปันจอร์
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาย่อย โดยคณะอนุกรรมาธิการ หัวข้อ “How to ตัด : ตัดงบอย่างไรให้เหลือเท่าเดิม” โดย จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์, เอกการ ซื่อทรงธรรม, สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, สุพิศาล ภักดีนฤนาถ และณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ โดยมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มต้น ธนาธร ได้แนะนำความสำคัญในการจัดกงานครั้งนี้ พร้อมทั้งแนะนำตัววิทยากรแต่ละคน และได้กล่าวสรุปปิดท้ายหัวข้อ "อนาคตงบประมาณ อนาคตประเทศไทย"
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เผยว่า ถ้าพรรคอนาคตใหม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร เงินงบประมาณแผ่นดินจะจัดสรรในการพัฒนาประเทศอย่างไรนั้น ขั้นแรก ต้องมองให้เห็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งวันนี้มี 5 ปัญหาหลัก ได้แก่ 1) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 2) เศรษฐกิจย่ำแย่ 3) การใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ 4) รัฐราชการรวมศูนย์ และ 5) ขีดความสามารถแข่งขันประเทศที่ลดลง ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่ต้องจัดสรรงบประมาณในการแก้ไข หากแต่สถานการณ์ที่ประสบในวันนี้คือ กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมลดลง เม็ดเงินที่ควรหมุนไปแก้ปัญหาไม่ได้ใช้อย่างจริงจัง มีความเหลื่อมล้ำกับบริการภาครัฐที่ย่ำแย่แม้แต่ในกรุงเทพ เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน งบต่อหัวของนักเรียนที่ไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยมีการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
"หากปัญหาประเทศ 5 ข้อหลักนั้นคือ ปัจจุบัน อนาคตก็คงจะเป็นวิสัยทัศน์ที่เราอยากเห็น นั่นคือ คนเท่าเทียมกัน ไทยเท่าทันโลก ช่องว่างตรงนี้จะต้องถูกอุดด้วยการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบทบาทของงบประมาณโดยเนื้อแท้คือตัวแทนความฝันและคำสัญญาที่รัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชน คิดฝันอย่างไร จัดสรรงบประมาณไปอย่างนั้น แต่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราไม่ได้เห็นการใช้ไปกับเรื่องเหล่านั้นเลย แต่เป็นเพื่อ 2 วัตถุประสงค์ คือ 1) ผู้มีอำนาจครองอำนาจต่อไป 2) ซื้อความภักดีเพื่อค้ำยันอำนาจนั้น ไม่เห็นการจัดสรรงบประมาณที่แก้ปัญหาประเทศ" ธนาธรกล่าว
ธนาธรกล่าวว่า การจะพาประเทศจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่เราอยากเห็นตามวิสัยทัศน์นั้น ต้องมีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ คือ 1) ความมุ่งมั่น 2) มีอำนาจ และ 3) ฐานคิดใหม่ในการจัดสรรงบประมาณ โดยฐานคิดใหม่ของการจัดสรรงบประมาณที่พรรคอนาคตใหม่ขอนำเสนอ ได้แก่ 1) เปลี่ยนงบดำเนินการ ที่ใช้ไปกับสิ่งไม่มีประโยชน์ เป็นงบลงทุนเพื่อตอบโจทย์ 2) อำนาจตัดสินใจใช้งบประมาณต้องให้ท้องถิ่น 3) เมกะโปรเจ็คต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต้องเปลี่ยนเป็นโครงการขนาดย่อยที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศ และ 4) สวัสดิการที่พิสูจน์ความยากจน ต้องเปลี่ยนเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคน
"เรามีทรัพยากรเพียงพอสำหรับงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาทต่อปี ถ้าเราจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ จะพาประเทศไทยไปได้ไกลกว่านี้ได้ จะสามารถสร้างสังคมที่คนเท่าเทียมกันได้... ตลอด 3 เดือนในการพิจารณางบประมาณที่ผ่านมา เราทำงานอย่างทุ่มเทเต็มที เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ให้สมกับที่ประชาชนได้เลือกเราเข้าไปทำหน้าที่นี้ จากนี้ไป เราจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น และเราจะตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบติดตามการใช้งบประมาณ 2563 ของรัฐบาลด้วย" ธนาธรกล่าว
ก่อนหน้านี้ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และหนึ่งใน กมธ. งบประมาณ ’63 กล่าวถึงข้อสังเกตที่มีต่อวิธีการพิจารณางบประมาณและข้อเสนอต่อวิธีการพิจารณางบประมาณในอนาคต โดยระบุว่า ขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ มี 3 วาระ โดยวาระที่ 1 มีการอภิปรายรับหลักการ ต่อมาตั้ง กมธ. ซึ่งได้ต้อนรับหน่วยงานมากมายมาชี้แจง แต่แทนที่จะเป็นการซักถามหน่วยงานเรื่องงบประมาณอย่างเข้มข้น ว่าจะเอางบประมาณไปใช้อย่างไร วิธีการพูดคุยกันในห้อง กมธ. ตนขอเรียกว่า กลับเป็นการสนทนาธรรม คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนทั่วไป ไม่เกี่ยวกับงบประมาณที่เรากำลังทำกันอยู่ กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ หมดเปลืองเวลาไปโดยที่เป้าหมายไม่ชัดเจน
"ส่วนวาระสุดท้าย แม้เราจะอภิปรายได้ดีแค่ไหน เปลี่ยนใจประชาชนทั่วไปได้เพียงใด แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนใจ ส.ส.ท่านอื่นได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือเป็นสภาฝักถั่ว เห็นชอบกับทุกมาตราที่มีการเสนอกับสภา ทำให้เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงงบประมาณในชั้นนี้ได้แม้แต่น้อย แต่เราก็ไม่ได้ท้อใจ และคิดว่าถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากในชั้นนี้ แต่ถ้าเราได้เล่าให้ประชาชนฟัง สามารถทำให้ประชาชนติดตามตรวจสอบงบไปกับพวกเรา จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต" ศิริกัญญากล่าว
ด้าน สุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และหนึ่งใน กมธ. กล่าวว่า "ประเทศของเรามีเงิน แต่ใช้อย่างไม่ฉลาด ถ้าไปดูนโบายรัฐบาล ผมขอเรียกมันว่าเป็นนโยบายดาวล้านดวง มีดาวสวยหรูเต็มท้องฟ้าแล้วให้แต่ละหน่วยงานไปจับดาวกันคนละดวง แต่ไม่มีดาวเหนือดวงเดียวกันที่นำทาง ทำให้ทุกหน่วยงานไปกันคนละทิศละทาง ทำให้การใช้งบประมาณลงทุนที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการซื้อของที่ไม่จำเป็น ลงทุนแบบไม่คุ้มค่า หรือลงทุนแบบซ้ำซ้อน" สุรเชษฐ์กล่าว
สุรเชษฐ์กล่าวว่า สิ่งที่น่าหวาดเสียวคือ การจัดงบประมาณแบบนี้ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ไม่ว่าจะสารพัดโครงการประชารัฐต่างๆ หรือนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส จัดงบแบบประเทศไม่อยากพัฒนา มือใครยาวสาวได้สาวเอาต้องแย่งงบประมาณกันใช้ สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาได้ นี่เป็นสาเหตุให้เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงบประมาณในด้านการลงทุนให้ได้ ถ้าอนาคตใหม่ได้เป็นรัฐบาล เราจะเข้าไปปรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้นมา เราจะไม่ทำทุกอย่างแบบดาวล้านดวงที่ผ่านมา
.
"ประการต่อมา เราต้องเปลี่ยนจาก ‘กรุงเทพคือประเทศไทย’ เป็นการกระจายอำนาจและเม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง นอกจากนี้จะต้องเป็นการลงทุนเพื่อทุกคน คือการให้อำนาจการตัดสินใจกับท้องถิ่นมากขึ้น สร้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง และสุดท้าย ด้วยความจำกัดของงบประมาณ เราต้องออกแบบการลงทุนที่ต้องคุ้มค่าและไม่ซ้ำซ้อนให้ได้ และนี่คือสิ่งที่อนาคตใหม่จะทำ" สุรเชษฐ์กล่าว
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเหตุว่า ในการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯนั้น พรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้โหวตคว่ำ แต่งดออกเสียงทั้ง 3 วาระ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |