ยื่นซักฟอก20ม.ค.‘ทอน’กุนซือ


เพิ่มเพื่อน    

  "วิษณุ" คาด พ.ร.บ.งบ 63 มีผลบังคับใช้เดือน ก.พ. "สิระ" ท้า "เสรีพิศุทธ์-ส.ส.เสรีรวมไทย" ไม่รับเงินเดือนถ้างบผิดกฎหมาย "ธนาธร" ประกาศเป็นกุนซือติว ส.ส.ศึกซักฟอก ฝ่ายค้านจ่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 20 ม.ค. พท.คิดหนักฟัน 3 งูเห่า ไม่กล้าขับออกกลัวเสียงหายเข้าทางรัฐบาล 

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 มกราคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ภายหลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 3 ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีเวลา 20 วัน โดย ส.ว.นัดกันแล้วว่าจะประชุมในวันที่ 20 ม.ค.และคงใช้เวลาพิจารณาเพียงวันเดียว เพราะ ส.ว.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาคู่ขนานมากับสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้ง  ส.ว.ไม่สามารถแก้ร่าง พ.ร.บ.ได้ ทำได้เพียงมีข้อสังเกตมายังรัฐบาล เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะส่งมายังรัฐบาล และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ภายใน 7 วัน คือภายในเดือน ม.ค. คาดว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ภายในเดือน ก.พ. 
    อย่างไรก็ตามทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่างมีข้อสังเกตมายังรัฐบาลได้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะนำมาปรับใช้อย่างไร ซึ่งข้อสังเกตต่างๆ จะดูสำหรับการปรับใช้ในงบประมาณปี 2563 และเตรียมทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่จะเข้าสภาใน 2 เดือนข้างหน้า
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 เนื่องจากคณะรัฐมนตรียังถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และขู่ว่าจะดำเนินคดีกับ ส.ส.ทุกคนที่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ขอท้าให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เร่งดำเนินคดี ส.ส.ทุกคนตามที่ออกมาพูดโดยเร็ว ตนจะได้ฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จ เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏอย่างชัดแจ้งแล้วว่า คณะรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารบ้านเมืองและเสนอกฎหมายต่อสภา ปัญหาการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญก็ชี้แนวทางไว้แล้วว่าเป็นเรื่องระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับฝ่ายบริหาร ไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดมีอำนาจที่จะตรวจสอบได้ เรื่องควรจบแค่นี้ 
    "ผมขอฝากถึง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์และ ส.ส.พรรคเสรีรวมไทยทั้งหมดด้วยว่า หากพวกท่านเห็นว่า ร่างกฎหมายงบประมาณปี 2563 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับใดก็ตาม ขอให้พวกท่านประกาศให้ชัดเจนเลยว่าจะไม่รับเงินเดือนที่มาจากงบประมาณปี 2563 อย่าทำตัวเป็นพวกเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" นายสิระกล่าว
    ทางด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ขอฟันธงว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปีนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้  ทำได้แค่การเยียวยาระยะสั้น แต่จะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.จัดงบลงทุนในการสร้างรายได้ใหม่สร้างงานใหม่ไว้น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจัดสรรงบลงทุนเพียง 20% ของงบประมาณปีนี้ 3.2 ล้านล้านบาท ก็คือประมาณ 6 แสนล้านบาท และจำนวนนี้มีภาระผูกพันไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท
    2.จัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนัก ทั้งที่ควรจะทุ่มงบประมาณของทุกกระทรวงมากระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชนเป็นลำดับแรกก่อน ในโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ สร้างงานใหม่ หรือสร้างสินทรัพย์ใหม่ให้ประชาชน แต่กลับจัดสรรเงินงบประมาณไปซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เกิดภัยแล้งทั่วประเทศ และ 3.งบประมาณที่จัดมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ละโครงการจัดแบบแค่เยียวยาปัญหาระยะสั้น เปรียบเสมือนคนป่วยเป็นไข้หนักจนปอดติดเชื้อแล้ว แต่กลับให้เพียงยาทิฟฟี่มาลดไข้ สรุปแล้วงบประมาณกระจุกชาวบ้านจนกระจาย"
ชำแหละงบนอกสภา
    ที่ห้องอาคารไทยซัมมิท พรรคอนาคตใหม่จัดงานเสวนาวิชาการ "อนาคตงบประมาณไทย อนาคตใหม่ประชาชน" โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในหัวข้อ "ภาพรวมและสิ่งที่ไม่มีโอกาสได้พูดในสภา" ตอนหนึ่งว่า งบประมาณคือตัวแทนความฝัน สิ่งที่เราเห็นในงบปี 2563 คือ 1.จัดสรรนโยบายเพื่อให้กลุ่มผู้มีอำนาจครองอำนาจได้ 2.ซื้อความภักดีของเครือข่ายที่ยึดโยงกับขั้วอำนาจ ซึ่งแทบจะไม่ได้ยึดโยงกับการพัฒนาประเทศเลย 
     ทั้งนี้หากพรรคอนาคตใหม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร จะจัดสรรงบประมาณบนฐานคิดใหม่ 4 ข้อเพื่อแก้ปัญหา 1.ตัดงบดำเนินการที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประเทศออก โดยใช้หลัก zero-based  budgeting คือทุกโครงการต้องตั้งจาก 0 ไม่ใช้ตั้งจากงบประมาณปีที่ผ่านมา 2.การกระจายอำนาจและงบประมาณจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น 3.เปลี่ยนโครงการเมกะโปรเจกต์เป็นโครงการขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่หลากหลาย และ 4.สวัสดิการอนาถาที่พิสูจน์ความยากจนต้องเป็นสวัสดิการทั่วหน้า 
    นายธนาธรกล่าวภายหลังการอภิปรายในงานเสวนาว่า ข้อมูลในครั้งนี้จะถูกนำไปพูดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก ส่วนการตั้งทีมติดตามการทำงบประมาณปี 2564 ของรัฐบาลซึ่งนำโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายนั้น ตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามโดยการทำงบประมาณแบบภาพรวม ไม่เน้นกระทรวงใดเป็นพิเศษ อีกไม่นานจะถึงเวลาทำงบประมาณปี 2564 ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาและข้อเสนอแนะกับรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น และจัดสรรงบอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถเริ่มทำงานได้ตั้งแต่ตอนนี้
    ถามว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะร่วมมือทำงานนอกสภาอย่างไรบ้าง นายธนาธรกล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือน ม.ค.หรือต้นเดือน ก.พ. ตนคงจะสนับสนุนและเอาใจช่วย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ทุกคน โดยจะสนับสนุนด้านทรัพยากร ข้อมูลและกำลังใจ สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ตอนนี้คงไม่สามารถบอกได้ ขอเก็บไว้อีกสักพักก่อน
    ที่พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความพร้อมในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ มารับผิดชอบดูแลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้รวบรวมเรื่องราวการบริหารงานของรัฐบาลนี้ ทั้งเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ที่ทำให้สังคมไม่สบายใจ การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง  การบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ 
    สำหรับรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายถูกยื่นอภิปราย 4-5 คน เป็นไปตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมได้เคยให้ข้อมูลไปก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง การบริหารที่บกพร่องเกิดขึ้นคงจะปฏิเสธแยกออกจากนายกฯ ไม่ได้ คงจะถูกอภิปรายมากหน่อย ส่วนรัฐมนตรีที่อาจจะถูกอภิปรายเพิ่มนั้น ในฐานะที่ตนเป็นผู้ประสานงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านได้พูดคุยกันอยู่ตลอด 
ยื่นญัตติซักฟอก 20 ม.ค.
    "สิ่งที่พอสรุปได้ชัดเจนคือ จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงวันที่ 20 ม.ค. แม้การกำหนดวันอภิปรายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ไม่มีการระบุกรอบเวลาเอาไว้ชัดเจน แต่ไม่อยากจะยื่นญัตติเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจจะมีการกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 25 ม.ค. ซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษจีน อาจทำให้การอภิปรายไม่ค่อยได้รับความสนใจ แต่หากยื่นญัตติช่วงวันที่ 20 ม.ค. ที่อาจจะบวกลบอีกนิดหน่อย  จากนั้นมีการบรรจุญัตติ อาจทำให้เวลาของการอภิปรายจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ม.ค.หรือต้นเดือน ก.พ." นายภูมิธรรมระบุ
    ทั้งนี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะไม่ใช้เวทีดังกล่าวสร้างวาทกรรมมุ่งโจมตี หรือจะมาตีรวน และไม่ใช่เวทีที่ใช้ฝึกพูด พรรคฝ่ายค้านกำลังทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพาพล ไร้ประสิทธิภาพการบริหารงาน ส่วนรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปรายจะมีเพิ่มอีกหรือไม่นั้น พรรคเพื่อไทยไม่ได้ปิดกั้น ให้แต่ละพรรคไปดูเรื่องที่จะอภิปรายแล้วมาตกลงกัน นำหลักการเหตุผลมาอธิบายกัน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนัดคุยกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง 
    สำหรับผลการอภิปรายให้สังคมร่วมตัดสินใจ รัฐบาลหากแก้ปัญหาจัดการไม่ได้ก็คงบริหารไม่ได้  เพราะประชาชนไม่ให้ความเชื่อมั่น เมื่อดูจากปรากฏการณ์ที่ประชาชนแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลยิ่งสะสมมากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลแก้ได้โดยเร่งจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เปลี่ยนคนที่ไร้ประสิทธิภาพ แก้ปัญหาไม่ได้ หากรัฐบาลเร่งทำก่อนอาจทำให้ความรู้สึกประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้นก็ได้
    เมื่อถามว่าจะมีการควบคุมสมาชิกของพรรคอย่างไร เพื่อให้โหวตไปในทิศทางเดียวกัน นายภูมิธรรมกล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ ด้วยความที่เป็นพรรคการเมืองต้องยืนหยัดในผลประโยชน์ของประชาชน อย่าทำอะไรที่ฝืนความรู้สึกประชาชน ถ้ามีสำนึกโดยรวม บุคคลหรือนักการเมืองใครก็ตาม หากไม่สบายใจไม่สะดวกใจที่จะอยู่ในพรรคการเมือง ควรพิจารณาตัวเองลาออกไปเลือกหนทางการเมืองของตนใหม่ แต่ถ้ายังอาศัยร่มไม้ชายคาอยู่ หากทำอะไรที่ผิดมติของพรรค ในทางการเมืองถือว่าผิดจริยธรรมทางการเมืองอย่างร้ายแรง ในส่วนของการสอบสวน ส.ส.ของพรรคที่เคยโหวตสวนมติพรรคนั้น พรรคได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบก่อนจะตัดสินใจ จะดูตามข้อมูล สิ่งต่างๆ  แล้วพิจารณาออกมาตามเนื้อผ้า
     มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ส.ส.โหวตสวนมติพรรค ที่มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ แกนนำพรรคเป็นประธาน พิจารณาบทลงโทษ 3 ส.ส.ที่โหวตสวนมติพรรค เป็นเรื่องที่แกนนำพรรคต้องคิดหนักว่าจะใช้มาตรการอย่างไรเพื่อเป็นการปรามไม่ให้ ส.ส.คนอื่นกล้าโหวตสวนมติพรรคอีก รวมถึงไม่ให้เข้าทางฝ่ายตรงข้าม เพราะถ้าใช้มาตรการขับออกจากพรรค  ส.ส.กลุ่มนี้สามารถย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลได้ทันที เหมือนที่พรรคอนาคตใหม่เคยทำมาแล้วและพรรคร่วมฝ่ายค้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้โมเมนตัมเสียง ส.ส.พลิกเปลี่ยน ตอนนี้รัฐบาลรอดพ้นจากภาวะเสียงปริ่มน้ำไปแล้ว ยิ่งถ้าพรรคเพื่อไทยขับออกอีก เสียงของรัฐบาลจะยิ่งเพิ่มพูนไปกันใหญ่ เกมต่อรองทางการเมืองจะเสียเปรียบมาก 
          อย่างไรก็ตาม มาตรการตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงสมัคร ส.ส.ครั้งหน้าค่อนข้างเสี่ยงที่จะเสีย ส.ส.ในเขตนั้นๆ ไป เพราะ ส.ส.ที่ถูกตรวจสอบทั้ง 3 คน คือ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี, นายขจิตร ชัยนิคม  ส.ส.อุดรธานี และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. ต่างก็เป็น ส.ส.ที่ได้รับความนิยมในพื้นที่ชัดเจน ไม่ใช่ ส.ส.ที่พึ่งกระแสนิยมจากพรรคเพียงอย่างเดียว หากไม่ให้ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยเท่ากับบังคับให้ไปลงสมัครในนามพรรคอื่น อาจทำให้ผู้สมัครคนใหม่ที่พรรคเพื่อไทยส่งลงแพ้ได้ สำหรับผลการสอบสวนได้ข้อสรุปเบื้องต้น ในรายของนายพลภูมิ แกนนำพรรคเข้าใจได้ถึงแนวทางดำเนินการที่มีบุญคุณต่อกันในบางเรื่อง ที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากคดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ที่หลุดจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพราะคดีขาดอายุความ ส่วน น.ส.พรพิมลเป็นเหตุผลเชิงคดีความเช่นกัน แต่เป็นในส่วนของสามี ขณะที่นายขจิตรค่อนข้างชัดเจนกว่าใคร แกนนำพรรคจึงคาดโทษขั้นเด็ดขาดเอาไว้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"