รัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทราอย่างต่อเนื่อง พร้อมสารพัดยุทธวิธีที่ดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย และยิ่งเริ่มมีความชัดเจนของ พ.ร.บ.อีอีซี ซึ่งจะเป็นกฎหมายรองรับการลงทุน ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) เมื่อเดือน ก.พ.2561 ที่ผ่านมา และเตรียมที่จะประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ค.นี้
ยิ่งมีความชัดเจนของกฎหมายเท่าไหร่ ยิ่งทำให้นักลงทุนทั้งไทยและเทศเกิดความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมานั้น นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ทั้งรายเล็กรายใหญ่ ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาเฝ้ารอการคลอดกฎหมายดังกล่าวกันอย่างใจจดใจจ่อ โดยเป็นที่น่าจับตาว่าเม็ดเงินการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในส่วนของภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซีเมื่อปีที่ผ่านมาแตะระดับ 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงเกินกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นในปี 2561 นี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งผลักดันการลงทุนทั้งรัฐในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะพัฒนาในอีอีซี เพื่อดึงดูดภาคเอกชนให้มีการลงทุนในอีอีซีอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้วางเป้าหมายไว้ว่าการลงทุนของรัฐและเอกชนในพื้นที่อีอีซีจะมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรก อาทิ สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบินภาคตะวันออก, ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด เฟส 3 แหลมฉบัง เฟส 3 สัตหีบ, รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, อุตสาหกรรมเป้าหมาย, เป็นต้น ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโต 5% ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตราต่อปี ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 4 แสนล้านบาทต่อปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคนต่อปี และได้ฐานภาษีใหม่ 1 แสนล้านบาทต่อปี ฯลฯ
และเพื่อให้เดินหน้าให้การพัฒนาอีอีซีเป็นไปตามเป้าหมาย จึงหยิบเอานโยบาย Thailand 4.0 สมาร์ทเทคโนโลยี-สมาร์ทประชาชน มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ก็คือ "ระเบียงของกรุงเทพฯ" นั่นเอง
ดังนั้น จะว่าไปแล้วการลงทุนและผลักดันของภาครัฐใยยุคนี้ก็คือการสานต่อโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเมื่อ 30 ปีก่อนให้เสร็จสมบูรณ์มากขึ้นนั่นเอง และเป็นรูปแบบเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นที่ให้โตเกียวเป็นศูนย์กลาง แล้วให้จังหวัดรอบๆ ดึงเข้ามาพัฒนาเชื่อมกัน
และถ้าพูดกันถึงอีสเทิร์นซีบอร์ด ก็ต้องคิดถึง ปตท. เพราะถือว่าเป็นรายแรกๆ และเมื่อมาในยุคนี้ก็ยังคงเป็นรายแรกๆ เช่นกันที่ขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซี โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐให้การส่งเสริมของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC บริษัทลูกที่กำกับดูแลในด้านปิโตรเคมีของ ปตท. ที่เตรียมโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 70,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins Reconfiguration Project) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการผลิตโอเลฟินส์ ณ โรงงานที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยขนาดกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี โดยวันที่ 23 มีนาคม 2561 นี้ กำหนดวางศิลาฤกษ์เพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าว และคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 36 เดือน
ดังนั้น อีอีซีถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น โดยยังคงรักษาความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน การลงทุนของภาคเอกชนและรัฐในพื้นที่อีอีซี จึงมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต
จากไปนี้ก็ได้แต่หวังว่า เราคงจะได้เห็นมิติใหม่ของการลงทุนของประเทศไทยหลังจากที่หยุดนิ่งมาเกือบ 10 ปี ให้ขับเคลื่อนและก้าวไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี โดยอีอีซีจะเป็นฐานการลงทุนของไทยเพื่อสร้างเทคโนโลยี
แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็อยู่ที่รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศที่จูงใจให้เกิดการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |