สงครามเกิดได้เมื่อทุกฝ่ายอ้าง Imminent threat หรือ ‘ภัยที่ใกล้จะถึง’ ตน


เพิ่มเพื่อน    

               บทเรียนสำคัญจากกรณีการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับอิหร่านครั้งนี้คือเราจะนิยามคำว่า Imminent Threat ในการเมืองและการทูตระหว่างประเทศอย่างไร

                แปลตรงตัวคำว่า Imminent Threat คงจะได้ความหมายแบบชาวบ้านว่า “ภัยคุกคามซึ่งหน้า” หรือ “อันตรายจวนตัว”

                คนเรียนกฎหมายบอกว่าภาษากฎหมายไทยแปลว่า “ภัยที่ใกล้จะถึง”

                พออ้างว่าเป็นภัยเฉพาะหน้าอย่างนี้ทุกประเทศก็สามารถโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งได้

                โดยอ้างว่าเป็นการ “ป้องกันตัว”

                ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับการ “รุกราน” คนอื่นก่อน

                อีกคำหนึ่งที่เห็นใช้กันคือ Clear and Present Danger ซึ่งก็น่าจะแปลว่า “อันตรายชัดเจนและซึ่งหน้า”

                นอกจากนี้วงการทหารที่นิยมใช้เพื่ออ้างสิทธิในการทำร้าย

                คนอื่นก่อนคือคำว่า Pre-emptive Strike

                อันหมายถึงการตัดสินใจโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งกำลังเตรียมจะทำร้ายตนเอง

                เหมือนที่โดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่าที่ตัดสินใจสั่งการให้โดรนสังหารนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ของอิหร่าน ก็เพราะมีข่าวว่าเขากำลังวางแผนจะระเบิดสถานทูตสหรัฐ 4 แห่ง และไม่เพียงแต่ในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรักเท่านั้น

                อย่างนี้ทรัมป์อ้างว่าเป็นการ pre-empt หรือสกัดการโจมตีของอีกฝ่ายหนึ่ง

                อ้างว่าเป็นการป้องกันตัวเองอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

                อิหร่านก็อ้างเช่นกันว่าการยิงขีปนาวุธกว่า 12 ลูกลงไปที่ฐานทัพสหรัฐ 2 แห่งในอิรัก หลังจากที่นายพลคนสำคัญของตนถูกสังหารนั้นก็เป็นการ “ป้องกันตนเอง” เช่นกัน

                เพราะสหรัฐเป็นผู้เปิดฉากการสู้รบที่อิหร่านถือว่าเป็นการ “รุกราน” เขาก่อน

                เมื่อคู่กรณีต่างอ้างว่าการใช้กำลังใส่กันเป็นการ “ป้องกันตัวเอง” เพราะมี Imminent Threat นั้นก็ต้องมีคนกลางตัดสิน

                การที่ใครจะอ้างว่าเป็นการ “ป้องกันตัว” ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ย่อมมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย เช่น

                การตอบโต้นั้น “ได้สัดส่วน” กับภัยที่มองเห็นหรือที่อ้างหรือไม่

                และการใช้กำลังป้องกันตนเองนั้น “เกินสมควรกว่าเหตุ” หรือไม่

                ฝรั่งใช้คำว่า proportionate response

                แต่งานนี้สหประชาชาติเกือบจะเป็นง่อย เพราะทำอะไรไม่ได้ สาเหตุเพราะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง อันได้แก่ สหรัฐ, จีน, รัสเซีย, อังกฤษและฝรั่งเศสนั้นไม่ได้ยืนอยู่บนจุดเดียวกัน

                ต่างคนต่างมีผลประโยชน์ที่ต้องปกป้อง

                หากหนึ่งในห้าใช้สิทธิ์ยับยั้ง ก็ไม่มีมติใดผ่านคณะมนตรีความมั่นคงได้

                นี่คือสามารถที่สรุปได้ว่าสถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ แม้จะดูเหมือนยิงใส่กันคนละครั้งถือเป็นการ “เจ๊า” กันไปนั้น ความจริงยังคุกรุ่น และพร้อมจะระเบิดขึ้นได้ตลอดเวลา

                ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายร็อบ แม็คแคลร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอิหร่าน ถูกควบคุมตัวขณะเดินชุมนุมประท้วงร่วมกับนักศึกษาที่ออกมาแสดงการต่อต้านรัฐบาลกรณียิงเครื่องบินโดยสารยูเครนตก หน้ามหาวิทยาลัยอะมีรกะบีร ที่กรุงเตหะราน

                ทูตคนนี้ถูกควบคุมตัวอยู่หลายชั่วโมง ข้อหาสงสัยว่าออกมาร่วมปลุกปั่นให้นักศึกษาหลายร้อยคนออกมาหน้ามหาวิทยาลัยขณะรวมตัวประท้วงยิงเครื่องบินโดยสารยูเครนตก มีผู้เสียชีวิต 176 ราย

                แน่นอนว่าอังกฤษทักท้วงทันที รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ โดมินิค ร้าบ โต้ทันควันว่าการควบคุมตัวทูตของเขาเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

                อังกฤษอ้างว่าทูตคนนี้ถูกทำให้เสียอิสรภาพ โดยไม่มีเหตุผลหรือข้อหาที่ชัดเจนแต่อย่างไร

                เสียงตะโกนจากนักศึกษาที่ประท้วงบางคนถึงกับเรียกร้องให้ผู้นำสูงสุดของอิหร่านลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง แต่เป็นเรื่องของ “ความผิดพลาดมนุษย์ที่ไม่ได้ตั้งใจ” (unintentional human error)

                ทรัมป์ไม่รอช้า รีบฉวยโอกาสแทรกตัวเข้ามาทันทีด้วยทวีตที่มีข้อความว่า

                “แด่ประชาชนที่กล้าหาญและอดทนมายาวนานแห่งอิหร่าน : ผมยืนเคียงข้างพวกคุณตั้งแต่เริ่มต้นการรับตำแหน่งประธานาธิบดีของผมแล้ว รัฐบาลของผมจะยังคงยืนเคียงข้างพวกคุณต่อไป เรากำลังติดตามการประท้วงของพวกคุณอย่างใกล้ชิด และได้รับแรงบันดาลใจจากความกล้าหาญของคุณ”

                เท่านั้นไม่พอ ทรัมป์ส่งทวีตรัวๆ ต่อว่า

                “ขณะนี้โลกกำลังเฝ้าดูพวกคุณ และอาจมีการสังหารหมู่กลุ่มผู้ประท้วงอย่างสันติอีกครั้ง ผมเรียกร้องให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงจากพื้นที่ด้วย"

                ผู้นำอิหร่านรู้ดีว่าเรื่องนี้จะปล่อยให้ยืดเยื้อไม่ได้ เมื่อจำนนด้วยหลักฐานก็ออกมายอมรับความผิดพลาดทันที

                ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮาซัน โรฮานี ประกาศพร้อมให้ความร่วมมือในกรอบของกฎระเบียบระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดในการสืบสวนหาสาเหตุแห่งโศกนาฏกรรมครั้งนี้

                เขารับปากว่าจะให้การสอบสวนเจาะลึกเพื่อสร้างความชัดเจน และให้ทราบถึงทุกรายละเอียดของเหตุการ์ก่อนเครื่องบินตก”

                นายกฯ แคนาดา จัสติน ทรูโด บอกว่า ได้คุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีอิหร่านแล้วเพื่อให้มีการสอบสวนที่จริงจังและเข้มข้น

                ผู้นำอิหร่านยอมรับว่า “เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับชาวอิหร่านและชาวแคนาดา รวมถึงผู้ที่อยู่บนเครื่องบินทุกเชื้อชาติ และอิหร่านขอแสดงความเสียใจจากก้นบึ้งของหัวใจต่อผู้เสียชีวิตทุกราย”

                โศกนาฏกรรมซ้อนโศกนาฏกรรมในสมรภูมิสงครามที่ไม่ต้องประกาศอย่างนี้ย่อมเป็นเชื้อแห่งความรุนแรงที่แฝงตัวพร้อมจะระเบิดได้ตลอดเวลา.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"