กรมควบคุมมลพิษรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตรวจพบปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 27 พื้นที่ เริ่มมีผลกระทบสุขภาพ นักวิชาการเสนอตั้งกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมฯ ช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อยและต้องทำงานเสี่ยงภัยต่อมลพิษทางอากาศ
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. กรมควบคุมลพิษรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศประจำวันไว้ว่า เมื่อเวลา 07.00 น. ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 53 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 27-72 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเกือบทุกพื้นที่เมื่อเทียบกับช่วงเช้าของเมื่อวาน โดยพบพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 27 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) ประชาชนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ คพ.จะรายงานสถานการณ์และแจ้งประสานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุม กำกับ ดูแล ภารกิจตามมาตรการ "ภายใต้แผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ" อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองให้กลับสู่ปกติ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Real Time ได้ทางเว็บไซต์ Air4Thai .com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ bangkokairquality.com
วันเดียวกัน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม รายงานว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละออง (PM 2.5) ตรวจวัดได้ 35-72 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 19 พื้นที่ ได้แก่
1.เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) มีค่าเท่ากับ 54 มคก./ลบ.ม. 2.เขตพญาไท หน้าแฟลตทหารบกใกล้โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ตรงข้ามกระทรวงการคลัง มีค่าเท่ากับ 52 มคก./ลบ.ม. 3.เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95 มีค่าเท่ากับ 63 มคก./ลบ.ม. 4.เขตปทุมวัน บริเวณหน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม. 5.เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า มีค่าเท่ากับ 52 มคก./ลบ.ม. 6.เขตบางคอแหลม บริเวณป้อมตำรวจสี่แยกถนนตก มีค่าเท่ากับ 71 มคก./ลบ.ม. 7.เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ มีค่าเท่ากับ 57 มคก./ลบ.ม. 8.เขตบางกะปิ ข้างป้อมตำรวจตรงข้ามสำนักงาน เขตบางกะปิ มีค่าเท่ากับ 55 มคก./ลบ.ม. 9.เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีค่าเท่ากับ 59 มคก./ลบ.ม. 10.เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม.
11.เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม (ประมาณซอยเพชรเกษม 36) มีค่าเท่ากับ 55 มคก./ลบ.ม. 12.เขตบางเขน ภายในสำนักงานเขตบางเขน มีค่าเท่ากับ 59 มคก./ลบ.ม. 13.เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด มีค่าเท่ากับ 52 มคก./ลบ.ม. 14.เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. 15.เขตพระนคร ภายในสำนักงานเขตพระนคร มีค่าเท่ากับ 72 มคก./ลบ.ม. 16.เขตคลองเตย ภายในสำนักงานเขตคลองเตย มีค่าเท่ากับ 57มคก./ลบ.ม. 17.เขตบางซื่อ ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ มีค่าเท่ากับ 53 มคก./ลบ.ม. 18.เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ มีค่าเท่ากับ 60 มคก./ลบ.ม. และ 19.เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม มีค่าเท่ากับ 60 มคก./ลบ.ม.
นางศิลปสวยกล่าวด้วยว่า ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศ ปานกลาง-เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นบริเวณที่คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งได้แก่บริเวณ 19 แห่งดังกล่าวข้างต้น ขอให้เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองตามความเหมาะสมและความจำเป็นด้วย ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดูแลสุขภาพประชาชน และให้ทุกเขตเร่งปฏิบัติการลดฝุ่นละอองในอากาศซึ่งทุกเขตได้พยายามเร่งปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังตามที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การแก้ปัญหา PM 2.5 ในจังหวัดต่างๆ ก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน เช่นที่จังหวัดขอนแก่น ที่บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเขตเทศบาลนครขอนแก่น นายสุเทพ มณีโชติ รอง ผวจ.ขอนแก่น พร้อมคณะ ขึ้นรถกระเช้าบันไดสูง 37 เมตร ทำการพ่นละอองน้ำเข้าไปในชั้นบรรยากาศตามแผนปฏิบัติการพื้นที่ป้องกันและตอบโต้สถานการณ์ฝุ่นละองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ได้กำหนดแผนการทำความสะอาดและพ่นละอองน้ำเข้าไปในชั้นบรรยากาศเพื่อลดสถานการณ์ฝุ่นละอองพร้อมกันทั้งจังหวัด โดยนายสุเทพ กล่าวว่า มาตรการปราบฝุ่นที่ทางจังหวัดได้กำหนดขึ้นได้กำหนดแผนปฏิบัติงานพร้อมกันรวมกว่า 10 จุด ทุกภาคส่วนจะดำเนินการร่วมกันตลอดทั้งวัน มาตรการปราบฝุ่นจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยเฉพาะกับการทำความสะอาดถนนและการเติมน้ำด้วยการพ่นละอองน้ำเข้าไปในชั้นบรรยากาศ เน้นหนักในย่านชุมชนและจุดที่มีการวัดระดับค่าฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ในเกณฑ์ค่า AQI ที่ต้องเฝ้าระวัง
ส่วนความเห็นจากฝ่ายต่างๆ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีมลพิษทางอากาศสูงสุดติดอันดับ โลกต้องเร่งแก้ไขและจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบโดยเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากมีผลวิจัยล่าสุดโดยสถาบันเพื่อสุขภาพโลกแห่งบาร์เซโลนา พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับโรคทางจิตเวช ภาวะกระดูกพรุน กระดูกเสื่อม ดวงตา พัฒนาการต่างๆ ของทารกในครรภ์ นอกเหนือจากโรคระบบทางเดินหายใจ ปอดและหัวใจ สถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับเช่นนี้มีความจำเป็นในการที่ต้องออกกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act เพื่อให้สามารถออกมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่
นายอนุสรณ์เสนอว่า ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนเพื่อออกมาตรการต่างๆ บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อยและต้องทำงานเสี่ยงภัยต่อมลพิษทางอากาศและมลพิษต่างๆ นอกจากนี้ ผลการวิจัยล่าสุดในวารสาร "เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการจัดการ" (Journal of Environmental Economics and Management) ระบุว่า ระดับความรุนแรงของมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอัตราการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในท้องถิ่นนั้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายในเวลาที่ PM 2.5 เพิ่มขึ้นในอากาศ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหตุอาชญากรรมรุนแรงที่เป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัส จะมีเพิ่มขึ้นราว 1.4% ในท้องที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศดังกล่าว วันไหนที่มีก๊าซพิษโอโซนเพิ่มขึ้น 0.01 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เหตุอาชญากรรมรุนแรงแบบเดียวกันจะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วยที่ 0.97% และยังพบว่าเหตุทำร้ายข่มขู่ทั่วไปที่ไม่เข้าขั้นรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 1.15% ข้อค้นพบเหล่านี้ในสหรัฐอเมริกาจากการรายงานของสำนักข่าวบีบีซีจะเป็นจริงในสังคมไทยที่ขณะนี้กำลังเผชิญมลพิษทางอากาศ และ PM2.5 รุนแรงมากขึ้นทุกวันหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |