ศูนย์ซ่อมอากาศยาน โอกาสสร้างชื่ออีอีซีไทย


เพิ่มเพื่อน    

จากสถานการณ์ความต้องการศูนย์ซ่อมบำรุงในตลาดการบินโลกขยายตัว ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้จากการขยายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา แต่สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การทำให้เกิดความร่วมมืออันดีระหว่างกันกับบริษัทผู้ร่วมลงทุนอย่างแอร์บัส เนื่องจากการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างเต็มรูปแบบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ระดับสูงยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย ทำให้ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีต่างๆ จากบริษัทระดับโลก

 

        เชื่อว่าผ่านปีใหม่มาได้ไม่นาน คนทั่วไปก็ต้องหวังที่จะมีสิ่งดีๆ เข้ามาบ้าง เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตนั้นดีขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่ประเทศชาติบ้านเมืองเองก็หวังเช่นเดียวกันว่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาและสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ กระตุ้นการลงทุน รวมถึงการสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก เพราะทุกส่วนนั้นเป็นพื้นฐานที่จะสนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น สนับสนุนเศรษฐกิจ และการหมุนเวียนของเงินให้เพิ่มขึ้น

        ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าแค่เปิดปีใหม่มาไม่กี่วันนี้ ก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ทำให้เกิดความวุ่นวายและความผันผวนให้กับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งต่อโลกและประเทศไทย ขณะที่ปัจจัยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนๆ บางเรื่องก็ยังสะสมและเป็นปัญหาอยู่ต่อมา ทั้งเรื่องสงครามการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

        ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ยิ่งทำให้คนในประเทศมีความหวังว่าหากเกิดสิ่งดีๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยนั้นหลุดพ้นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ก็จะเป็นเรื่องดี ซึ่งคนที่หวังพึ่งได้นั้นคงหนีไม่พ้นรัฐบาลที่กุมอำนาจการบริหารประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายยังมั่นใจว่าจะเกิดการทำงานที่จริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินการไปโดยไม่ได้สนใจว่าประเทศและคนในประเทศจะเป็นอย่างไร

        ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เองในปีที่แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดความชัดเจนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่โครงสร้างพื้นฐานหลักถึงจะออกมาตรการและข้อกำหนดมาเกือบครบทุกโครงการแล้ว แต่การจะทำให้เกิดการลงทุนนั้นก็ยังไม่เต็มที่ และล่าช้าออกไปหลายเดือน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนด้วยก็ได้

        แต่เมื่อเปิดศักราชใหม่แล้ว ผู้ที่มีส่วนร่วมและมีอำนาจสามารถเร่งรัดงานต่างๆ ได้ก็ต้องออกโรงที่จะผลักดันให้เดินไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ และเมื่อเร็วๆ นี้ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้มุ่งหน้าไปเยี่ยมเยือนสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของอีอีซีโดยตรง  และจากการเจรจากันก็ได้ฉายภาพให้เห็นว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเหตุผลใด รวมถึงแผนงานที่จะผลักดันการทำงานให้เข้าที่เข้าทางนั้น ควรทำอะไรบ้าง

        นายสมคิด กล่าวว่า ได้สั่งการเร่งรัดการลงทุนในอีอีซีให้คืบหน้าภายในปี 2563 โดยจะต้องเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองเป็นแบบปัจจุบัน สร้างความมั่นใจถึงการเดินหน้าอีอีซี และนโยบายของรัฐบาลที่เอาจริงในการผลักดันโครงการต่างๆ รวมถึงต้องอาศัยจังหวะที่เกิดปัญหาเชิงลบภายนอกประเทศ ทั้งการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ดึงดูดให้นักลงทุนไหลเข้ามายังไทย ขณะเดียวกันที่เงินบาทแข็งค่า ก็ต้องเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อใช้จ่ายเงินเหรียญสหรัฐให้ไหลออกไปนอกประเทศ สนับสนุนเงินบาทให้อ่อนค่าลงไปบ้าง

        ทั้งนี้ จึงต้องการเร่งรัด 4 โครงการหลัก ทั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง มาบตาพุด อาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภา และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ต้องชัดเจนภายในครึ่งปีแรก เพราะขณะนี้แอร์บัสและรายอื่นสนใจเข้ามาร่วม จึงต้องการให้การบินไทยเร่งรัดข้อสรุป ไม่เช่นนั้นจะเปิดให้รายอื่นเข้ามาร่วมแทน หรืออาจจะทำให้ประเทศเวียดนามนั้นดึงผู้เล่นในตลาดไปลงทุนภายในแทนประเทศไทย

        ขณะเดียวกัน ก็ต้องการเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการสมาร์ทซิตี้ ที่ต้องการให้ตั้งคณะทำงานบริการและเร่งให้สามารถลงทุนได้ภายในปีนี้ โดยจะต้องตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันแผนการทำงานไม่ใช่มันอยู่แค่ในกระดาษ

        "การทำงานของราชการไทยนั้นมีเวลายาวนานเกินไป  อยากให้ตัดๆ เพราะเราไม่ได้ต้องการให้ลูกหลานมาสานต่องาน ต้องมีคนทำงานที่มีความรู้และความคิดจริงๆ ถ้าทุกอย่างสามารถสรุปได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ก็จะสามารถดำเนินการก่อสร้างลงทุนได้ภายในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ โครงการที่เป็นแฟล็กชิพจะต้องเกิดในปีนี้ การพัฒนาเมืองใหม่หรือสมาร์ทซิตี้ต้องจริงจัง และการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องตามมา ถึงจะทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้" นายสมคิดกล่าว

        ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นับเป็นหนึ่งศูนย์กลางการบินสำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีแนวโน้มการเติบโตของเครื่องบินในภูมิภาค และความต้องการซ่อมบำรุงอากาศยานสูงในปริมาณสูงในอนาคต แม้สถานการณ์ล่าสุดของไทยจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมกันได้ในช่วงกลางปี 2563 ทำให้เฟสแรกน่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2566

        ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยกลายมาเป็นอีกหนึ่งในฐานซ่อมบำรุงอากาศยานรองรับเครื่องบินจำนวนมากจากทั้งในและนอกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานในปัจจุบันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อหลายประเทศในอาเซียนต่างก็พัฒนาตัวเองขึ้นเป็นฐานการลงทุนที่น่าสนใจด้วย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าไทยอาจจำเป็นต้องสร้างจุดแข็งสำคัญที่แตกต่างจากประเทศอื่น เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในระยะก่อร่างเป็นศูนย์กลางธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งใหม่ของภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย รุดหน้ากว่าไทยไปพอสมควร

        และท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินโลกที่สอดรับกับการเติบโตของกำลังซื้อผู้บริโภคในหลายๆ ประเทศ  และการทำตลาดที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงของสายการบินที่ขยับสู่กลุ่มสายการบินราคาประหยัดมากขึ้น ทำให้ในพื้นที่เอเชียแปซิฟิกได้ถูกคาดหมายโดยบริษัทโอลิเวอร์ ไวแมน ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนเครื่องบินที่อยู่ในตลาดจะเพิ่มจำนวนขึ้นไปสูงถึงกว่า 13,838 ลำ จากจำนวนในปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 7,786 ลำ

        ทั้งนี้ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเครื่องบินของเอเชียแปซิฟิกขยับขึ้นมามีสัดส่วนกว่าร้อยละ 35 ของตลาดรวมทั่วโลก ส่งผลให้เริ่มมีกระแสของการขยายตัวของธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคมาเป็นระยะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับต่อความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะทิศทางการลงทุนที่มุ่งสู่ประเทศในอาเซียนอันเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.ปริมาณเครื่องบินเฉพาะกลุ่มอาเซียนที่มีสัดส่วนกว่า 17% ของตลาดรวมทั่วโลก

        2.ต้นทุนแรงงานในอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานนอกจากสิงคโปร์แล้ว ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนอกกลุ่มอาเซียน 3.ตำแหน่งที่ตั้งอยู่กึ่งกลางภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ขณะที่มีจำนวนเที่ยวบินสูงทั้งในประเทศและระหว่างประเทศกันเองในอาเซียนจนมีถึง 4 เส้นทางการบินระหว่างประเทศในกลุ่มที่สามารถติดอยู่ใน 10 อันดับเส้นทางการบินระยะสั้นระหว่างประเทศที่มีจำนวนเที่ยวบินสูงที่สุดในโลก

        อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความต้องการศูนย์ซ่อมบำรุงในตลาดการบินโลกขยายตัว ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้จากการขยายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา แต่สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ การทำให้เกิดความร่วมมืออันดีระหว่างกันกับบริษัทผู้ร่วมลงทุนอย่างแอร์บัส เนื่องจากการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างเต็มรูปแบบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ระดับสูงยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับไทย ทำให้ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีต่างๆ จากบริษัทระดับโลก

      ซึ่งหากการลงนามในสัญญาทางธุรกิจสามารถดำเนินได้เรียบร้อยดีตามแผนช่วงกลางปี 2563 นี้ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มสำคัญของความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต โดยในระยะถัดไปก็ต้องมีการเตรียมการในการผลิตบุคลากรจำนวนมากที่มีความสามารถออกมาอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับต่อความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะไม่กี่ปีข้างหน้า

        ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีความท้าทายอื่นๆ เช่น การที่ประเทศคู่แข่งต่างก็เร่งพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงในประเทศเช่นกัน รวมถึงประเด็นที่สายการบินแอร์เอเชียเริ่มมองหาโอกาสในการลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงของตนเองในอนาคต โดยมีพื้นที่เป้าหมาย คือ ไทย หรือมาเลเซีย ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยหากการลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย อาจยิ่งเป็นการดึงให้กิจกรรมทางธุรกิจของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานไปเพิ่มความหนาแน่นในมาเลเซียมากยิ่งขึ้น และอาจทำให้โอกาสในการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างชิ้นส่วนอากาศยานให้เข้ามายังไทยลดลง

        ขณะเดียวกัน ในอนาคตการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเองก็มีความท้าทายในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องบินและชิ้นส่วนสมัยใหม่ที่พึ่งพิงการซ่อมบำรุงลดน้อยลงด้วย เช่น การใช้วัสดุคอมโพสิต ทำให้เครื่องบินมีน้ำหนักเบาและทนทานกว่าในอดีต ซึ่งช่วยลดความถี่และจุดที่ต้องเข้าไปตรวจเช็ก ขณะที่ผลทางอ้อมจากการที่น้ำหนักเครื่องบินเบาลงก็ยังเป็นการช่วยลดการใช้งานหนักของระบบเบรกและยางล้อด้วยอีกทาง อันจะมีผลทำให้การแข่งขันของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้นอีกทาง    

        ทั้งนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ กพอ. ได้ออกมายืนยันว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีจำนวนเงิน 650,000 ล้านบาท จะเห็นภายในปลายปีนี้ และจะพยายามดึงดูดการลงทุนมาให้ได้ปีละแสนกว่าล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 6.5 แสนล้านบาท หากหาร 5 ปีก็จะตกปีละแสนกว่าล้าน เมื่อรวมกันก็จะอยู่ที่ประมาณปีละ 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราวางไว้ โดยจำนวนเงินดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นการเติบโต หรือจีดีพีของประเทศได้ 1.5-2%

        อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านใดในประเทศหากเกิดขึ้นจริง ก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นได้ ขณะที่ศูนย์ซ่อมอากาศยาน หรือเอ็มอาร์โอเองดูจะมีโอกาสที่พัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริง และมีโอกาสเติบโตมากที่สุด เรื่องโครงการที่ต้องให้ความสำคัญและเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"