สถานการณ์ เปิดประตูสู่รัฐประหาร


เพิ่มเพื่อน    

 

สถานการณ์พร้อมเปิดทาง ทหารยึดอำนาจ

                การเมืองต่อจากนี้มองเห็นความเข้มข้นทุกขณะกับการเคลื่อนไหวทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภา แค่เฉพาะเดือนมกราคมอย่างเดียวก็มีหลายวาระที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น วันอาทิตย์ที่ 12  มกราคมที่จะมีกิจกรรม วิ่งไล่ลุง ซึ่งจัดที่สวนรถไฟ พร้อมกันนี้ก็มีกิจกรรมคู่ขนานลักษณะเดียวกันในหลายจังหวัด ขณะที่ช่วงวันที่ 21 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญก็จะอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ในคำร้องเรื่องล้มล้างการปกครอง ขณะที่ปลายเดือนนี้ฝ่ายค้านก็จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

                จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.-แกนนำคนเสื้อแดง-นักเคลื่อนไหวการเมืองคนสำคัญในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มองการเมืองไทยต่อจากนี้ด้วยการประเมินว่าจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากหลายปัจจัย หลายสถานการณ์ที่รุมเร้า โดยเฉพาะแรงส่งเรื่องการเผชิญหน้ากันของคนในสังคม จากการมีความเห็นการเมืองที่แตกต่างกัน  โดยมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ เข้ามาผสมโรง โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจที่หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้นได้ ก็อาจทำให้สถานการณ์การเมืองเพิ่มความตึงเครียดตามไปด้วย จนสุดท้าย หากประชาชนเกิดการเผชิญหน้ากัน ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะกลับมาซ้ำรอย เช่นการที่ทหารจะออกมาทำรัฐประหารอีกครั้ง

จตุพร มองว่า การเมืองไทยต่อจากนี้จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เพราะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองมาบรรจบกัน เรื่องที่ใหญ่มากสุดก็คือปัญหาเศรษฐกิจ ต้องยอมรับความเป็นจริง เพราะรองนายกฯ ในรัฐบาลก็ยอมรับว่าปีนี้เผาจริง ซึ่งปกติเขาไม่เคยกล้ายอมรับขนาดนี้ และเป็นคราวที่หนักที่สุดเพราะเราวิกฤติครั้งสุดท้ายปี 2540 แต่ตอนนั้นล้มบนฟูกกระทบไม่ถึงคนจนมาก และคนรวยเองแม้ล้มก็ไม่ถึงกับเจ็บมากเพราะล้มบนฟูก แต่ครั้งนี้ประชาชนล้มบนพื้นดิน

ดังนั้นถ้ารัฐบาลมัวแต่ไปคิดเรื่องอื่นใด โดยไม่มุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ จะทำให้ปัญหาเศรษฐกิจลากทุกปัญหารวมถึงปัญหาการเมืองมาบรรจบกัน จนเป็นปัญหาที่จะนำพามาสู่ความวุ่นวาย

 ที่สำคัญคือเรื่องทัศนะของผู้มีอำนาจ ที่ผมก็พูดแม้แต่ในวันที่ฝ่ายเรามีอำนาจ ว่าอย่าไปมองว่าประชาชนที่เดือดร้อนเขามีเบื้องหลัง เพราะเบื้องหลังจะไม่มีความหมายเลยถ้าเบื้องหน้าได้รับการแก้ไข  แต่ตราบใดที่ความเชื่อบนพื้นฐานกลไกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม ถ้ามองปัญหาประชาชนว่ามีเบื้องหลังก็จะยิ่งเพิ่มปัญหา เพราะว่าท้ายที่สุดก็จะไม่แก้ไขปัญหา แต่ถ้าเบื้องหน้ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ เบื้องหลังก็จบโดยปริยาย

สิ่งที่รัฐบาลต้องมุ่งต่อจากนี้ก็คือ การแก้ปัญหาปากท้องประชาชนบนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะหากยังลากอยู่ปัญหาเศรษฐกิจก็จะลากปัญหาการเมืองเข้ามาเติมเต็มได้ทุกเวลา มันจะกลายเป็นวิกฤติใหญ่

“ท้ายที่สุดถ้ามันมีจุดบรรจบทางการเมืองเมื่อใด สถานการณ์จะเลยเถิด ที่ผมเองก็ยังมีความเชื่อว่าประเทศไทยก็ยังจะต้องจบด้วยการยึดอำนาจกันอีกครั้ง เพราะการแก้ไขปัญหาในขณะนี้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนของสองฝ่ายในเวลานี้มันจะมีเรื่องได้ตลอดเวลา ฝ่ายหนึ่งก็ถูกบอกว่าเป็นพวกชังชาติ และอีกพวกหนึ่งก็บอกว่าต้องออกมาต่อต้านพวกชังชาติ พูดง่ายๆ ว่าทั้งสองซีกก็จะไปสร้างความแตกแยกมากที่สุด”

จตุพร-แกนนำเสื้อแดง เสนอว่า รัฐบาลต้องไปคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าไม่ควรตั้งเวทีลักษณะแบบนี้ เพราะเมื่อซีกใดซีกหนึ่งไปขับเคลื่อนโดยไม่มีแรงปะทะ ความรุนแรงก็จะไม่บังเกิด เพราะเมื่อรัฐบาลใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการให้มีการตั้งเวทีคู่ขนานเมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการยึดอำนาจทุกครั้งคราวไป ถ้ามันเริ่มต้นอย่างนี้ไม่เคยมีจุดจบอย่างอื่นเลย ลองไปย้อนดู ถ้าสตาร์ทแบบนี้ก็จบลงด้วยการรัฐประหาร

-ที่บอกว่าจะจบที่รัฐประหาร มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นก่อน ผบ.ทบ.พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์  เกษียณปีนี้หรือไม่?

ทุกอย่างเป็นไปได้หมดเพราะปัญหาเศรษฐกิจ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจก็พูดถึงขนาดยอมรับว่าปี 2563 จะเผาจริงแล้ว ผมเชื่อว่าทีมเศรษฐกิจที่นายกฯ เป็นประธานและมี รมต.ในทีมเศรษฐกิจลำดับถัดๆ มา ผมเชื่อว่าเขาไปไม่รอดแล้ว เพียงแต่จะกล้ายอมรับความจริงขนาดไหน หากยอมรับความจริงกันได้สถานการณ์อาจคลี่คลายระดับหนึ่ง แต่หากปล่อยให้สถานการณ์เลยเถิดจนไม่มีใครฟังใครกันแล้ว  มันก็จะมีสถานการณ์ใหม่ อย่างที่ผมเตือนเรื่องการตั้งเวทีคู่ขนานกันแบบนี้ ยังไงก็จะจบเหมือนเดิม ก็คือรัฐประหาร หนีไม่ออก

                -มองท่าทีทางการเมืองของพลเอกอภิรัชต์ในช่วงที่ผ่านมาอย่างไร เช่นการพูดถึงเรื่อง  proxy crisis?

ผมเป็นคนมองบิ๊กแดงไม่ได้มองชั้นเดียว แต่ผมมอง ผบ.ทบ.หลายชั้น ผมจึงไม่ได้มอง ผบ.ทบ.แค่เนื้อหาคำพูดอย่างเดียว แต่คำพูดของ ผบ.ทบ.มองได้หลายปรากฏการณ์ เพราะว่าพลเอกอภิรัชต์ก็คงได้ซึมซับทางการเมืองมามากคนหนึ่ง ถ้าเรามองแค่คำพูดของ ผบ.ทบ.อาจมองแค่ว่าเป็นการพูดเพื่อเร่งสถานการณ์โดยไม่จำเป็น แต่ผมมองมากกว่านั้น ผมว่าพลเอกอภิรัชต์คงมีความคิดอะไรในใจระดับหนึ่งเหมือนกัน ผมจึงเชื่อว่าคำพูดที่ปรากฏการณ์ไม่ตรงกับแก่นแท้ของจิตใจ หรือความต้องการอย่างแท้จริง  เพราะระหว่างการพูดสิ่งที่เปล่งเสียงออกมากับเป้าประสงค์ ผมเชื่อว่าเป้าประสงค์ไม่ได้เป็นตามคำพูด  ผมยังเชื่อว่าเป้าประสงค์ของบิ๊กแดงเป็นเป้าประสงค์อย่างอื่นมากกว่า เพราะว่ามันง่ายไป

 แล้วก็ปรากฏการณ์วิ่งไล่ลุง หากปล่อยให้เดินตามปกติเขาก็จะมีความเติบโตทางปกติ แต่ก็มีผู้มีอำนาจไปคอยใส่ปุ๋ยให้เขาเติบโตแบบผิดหูผิดตาโดยไม่จำเป็น จนทำให้ปรากฏการณ์ 12 มกราคม ก็เป็นเพราะกลไกรัฐไปเร่งใส่ปุ๋ยให้ โดยรัฐบาลปล่อยให้มีการทำกิจกรรมจนครบตามที่กำหนดก็จะไม่มีปัญหาอะไร

เมื่อถามเพื่อให้ประเมินว่า จากกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่มีนักการเมืองบางคนจากฝ่ายค้าน เช่นจากพรรคอนาคตใหม่จะไปร่วมกิจกรรมด้วย จะมีผลอะไรหรือไม่ จตุพร-แกนนำเสื้อแดง ใช้ประสบการณ์การจัดกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างโชกโชนประเมินว่า อยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลจะคิดรับมืออย่างไร ความจริงถ้ามองแค่เป็นปรากฏการณ์หนึ่งโดยไม่สร้างแนวปะทะให้เกิดขึ้น ไม่ตกใจเกินเหตุ ปัญหาก็ไม่เกิด แต่ว่าถ้าเกิดตั้งรับให้เกิดการปะทะ คือวิตกเกินความเป็นจริง ท้ายที่สุดมันก็จะเป็นจริง

...การเคลื่อนไหวจัดวิ่งไล่ลุง 12 มกราคมก็จะจบในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เพียงแต่คนเราเมื่อมีอำนาจ บรรดาบริวารลิ่วล้อก็จะพูดในสิ่งที่ผู้มีอำนาจเขาอยากได้ยิน ก็คือเสนอให้เกิดการต่อต้าน เป็นทุกยุคทุกสมัยเป็นแบบนี้ โดยที่หากมองด้วยใจร่มๆ วันที่ 12 มกราคม การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงก็จะจบในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้ารัฐบาลรู้สึกว่าตัวเองคือผู้มีอำนาจ ที่เหมือนโรคคลั่งอำนาจ แล้วทำให้เกิดการจัดกำลังหรือปล่อยให้คนเข้าไปแทรกแซงจนเกิดการสร้างสถานการณ์

 เราต้องไม่ลืมว่าน้ำผึ้งหยดเดียวมันเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนในขณะนี้ ดังนั้นผมเองก็วาดหวังว่ารัฐควรจะอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง แต่ถ้าไม่อดทนมันก็จะเป็นจุดเริ่มต้น โดยหากวิธีการแก้ไขปัญหานี้ผิด จากที่ปัจจุบันคนเดือดร้อนกันอยู่แล้ว คนก็ต้องแห่เข้าไปหาธนาธรโดยปริยาย เพราะว่าเขามีความเดือดร้อนแล้วรัฐบาลแก้ไม่ได้ และหากรัฐบาลใช้วิธีการที่แข็งกร้าว คนไทยมันถึงจุดหนึ่งมันจะหมดความกลัวกัน

“หากหมดความกลัวกันเมื่อไหร่ สถานการณ์มันจะไปเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง จนวันหนึ่งหากมีจุดพลิกทางการเมือง ก็จะมีสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้น”

 ทั้งหมดมันอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายว่าใครจะอดทนมากกว่ากัน ใครจะแก้ปัญหาได้มากกว่ากัน ที่หน้าที่การแก้ปัญหาอยู่ที่รัฐบาล หากรัฐบาลปรับหลักคิดและวิธีการก็จะผ่อนคลายระดับหนึ่ง แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงๆ ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงและหยุดการเดินต่อไป เพราะหากยิ่งเดินต่อไปก็จะเป็นเวลาที่เลวร้าย เวลาที่ดีๆ จะไม่เหลือ ดังนั้นรัฐบาลเองต้องคิดให้มาก มากกว่าฝ่ายอื่นๆ ที่เขาไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

ประธาน นปช. ยังใช้ประสบการณ์การนัดชุมนุมทางการเมืองของตัวเองมองความเคลื่อนไหวการนัดชุมนุมทางการเมืองแบบแฟลชม็อบ ที่ไม่ต้องมีผู้นำการชุมนุมโดยใช้การรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียว่า  ในทางปฏิบัติจริงๆ เราเองยังเดินไปไม่ถึง แล้วมันจะกลายเป็นความวุ่นวาย การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำมันจะเป็นปัญหาใหญ่ ที่ก็เคยเกิดขึ้นแล้วตอนชุมนุมเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีการจับกุมแกนนำ คืนวันที่ 18 พ.ค.35 ฝ่ายประชาชนก็ออกมาชุมนุมกันเองโดยไม่มีแกนนำ จนเกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างไม่มีใครคาดคิด การชุมนุมที่มีแกนนำความเสียหายจะน้อยเพราะคนอยู่ในระบบ

ปรากฏการณ์แฟลชม็อบยังวัดสถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแฟลชม็อบจะทำได้ไม่กี่ครั้งเท่านั้น เราได้ประเมินการชุมนุมทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา พบว่าไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของฝ่ายใด มวลชนของฝ่ายนั้นจะก้าวหน้ามากกว่าแกนนำทุกครั้ง หน้าที่แกนนำก็คือตามหลัง ยกระดับการชุมนุมเพื่อให้ทันความคิดของมวลชน แล้วสถานการณ์ก็จะไปไกลและเลยเถิดไปทุกขณะ ปรากฏการณ์แฟลชม็อบจะทำได้แค่ 1-2 ครั้ง หลังจากนั้นคนที่มาร่วมแฟลชม็อบเขาจะไม่ยอมกลับบ้าน เมื่อเขาไม่ยอมกลับแกนนำจะทำอย่างไร แกนนำก็กลับไม่ได้และเป็นการกลับไม่ได้ท่ามกลางความไม่พร้อม

                การชุมนุมในประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีนี้ต้องมีความพร้อมกับจำนวนคนอย่างมโหฬาร ปรากฏการณ์มาชุมนุมกันสองชั่วโมงแล้วกลับมันก็จะทำได้แค่ 1-2 ครั้ง แล้วหลังจากนั้นคนก็จะไม่ยอมอีกแล้ว

-ยังไงก็ตามการนัดชุมนุมทางการเมืองต้องมีผู้นำ?

ยังจำเป็นสำหรับประเทศไทย อย่างที่ฮ่องกงมีสภาพเป็นเกาะและเต็มไปด้วยเทคโนโลยี และเป็นเรื่องที่เป็นจุดร่วมเป็นชนวนร่วมกัน แต่กรณีของประเทศไทยเรายังไม่ถึงจุดนั้น ยังต้องมีการนำและต้องเป็นประเด็นสาธารณะ ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะตัวเฉพาะส่วน หากเป็นประเด็นสาธารณะที่มันใช่ ประชาชนก็จะมาเข้าร่วมอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ คือใครเดือดร้อนเรื่องอะไรก็จะไปร่วมในการเคลื่อนไหวที่เป็นประเด็นสาธารณะของเรื่องนั้น

เราเคยเห็นปรากฏการณ์สุดซอย สุเทพ เทือกสุบรรณ จัดเวทีผ่าความจริง คนก็มาแค่หยิบมือเดียว  แต่พอมันคลิกเรื่องสุดซอยเข้า สถานการณ์มันเลยเถิดโตขึ้นไปรู้กี่ร้อยเท่า ดังนั้นต้องมีประเด็นสาธารณะที่ร่วมกัน อย่างกรณีที่กำลังจะเกิดเขาก็ต้องคิด เพราะหากให้ประชาชนมาร่วมกันแล้วไม่มีการวางแผนระบบการบริหารจัดการ มันจะนำพาสู่ความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ถามถึงว่า หากธนาธรและแกนนำพรรคอนาคตใหม่เอาเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่มาเป็นประเด็นการเคลื่อนไหว จะมีความชอบธรรมและจะติดหรือไม่ แกนนำเสื้อแดง มองเรื่องนี้โดยยกเคสการยุบพรรคการเมืองในอดีตขึ้นมาอธิบายความว่า  เราเองก็เห็นแล้วว่าพรรคการเมืองที่มีประชาชนมาเลือกคนของพรรคการเมืองนั้น 19 ล้านเสียง (ไทยรักไทย) แล้วต่อมาพรรคนั้นถูกยุบพรรค ถามว่ามีประชาชนออกมาขับเคลื่อนไหวใดๆ หรือไม่ หรืออย่างพรรคพลังประชาชนก็มีคนมาเลือก 15 ล้านคน  ถามว่าตอนพลังประชาชนถูกยุบพรรค มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องที่พรรคถูกยุบหรือไม่ การยุบพรรคปรากฏการณ์พรรคขนาดใหญ่กว่านี้หลายเท่า ก็เห็นกันแล้วว่าประชาชนไม่ได้ออกมาชุมนุมในเรื่องการที่พรรคนั้นถูกยุบ ถ้าจะมีประชาชนออกมาเพราะไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค พรรคไทยรักไทยคงถูกยุบไม่ได้เพราะมีคนมาเลือกพรรคตอนนั้น 19 ล้านเสียง เช่นเดียวกับพรรคพลังประชาชน

 ผมไม่ได้ปรามาสแต่ประวัติศาสตร์มันอธิบาย บางครั้งนักการเมืองไปคิดว่าคนเลือกมาขนาดนี้คงไม่มีใครกล้า แต่เมื่อเห็นแล้วว่าเขากล้าที่จะยุบพรรค เขาก็วัดใจเลย โดยที่ก็ไม่ได้มีแรงกระเพื่อมด้วยเหตุที่มีการยุบพรรค จากพรรคการเมืองสองพรรคนั้นที่ผมก็เคยเป็นสมาชิกทั้งสองพรรคดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถนำปรากฏการณ์เรื่องการยุบพรรคมาเป็นประเด็นของการชุมนุมเป็นหลักได้  มันอาจเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่ง แต่เรื่องหลักก็คือประเด็นสาธารณะที่มีจุดร่วมกันและไม่เกี่ยวกับตัวเอง  หากการชุมนุมใดก็ตามชุมนุมเพื่อตัวเอง เพื่อตัวแกนนำ มันไม่มีวันที่จะประสบความสำเร็จได้เลย

-หากธนาธรและอนาคตใหม่ที่มีคนไปลงคะแนนเสียงให้ตอนเลือกตั้งร่วม 6 ล้านเสียง นำมวลชนลงท้องถนน เขาจะต้องเจอกับอะไร?

ผมไม่แน่ใจว่าประชาชนจะมาตามจำนวนนี้หรือไม่ ถ้าผมไปเชื่อแบบนั้นก็แสดงว่าผมก็ต้องเชื่อว่า  14 ล้านคนตอนยุบไทยรักไทยเขาก็ต้องออกมา ดังนั้นถ้าจะคิดเรื่องการลงท้องถนนต้องเป็นประเด็นสาธารณะ ต้องเป็นเรื่องความทุกข์ของประเทศชาติและประชาชน ต้องไม่พูดเรื่องตัวเอง ต้องพูดเรื่องส่วนรวม เรื่องตัวเองต้องเก็บไว้ หลักการต่อสู้และการชุมนุมต้องเป็นอย่างนี้

จตุพร บอกว่า เขามองการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำพรรค และมีการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องลัทธิชังชาติอย่างต่อเนื่องในเวลานี้ว่า เป็นสิ่งที่ผมห่วงใยเพราะมันจะไปสร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงมากที่สุดและผมก็ยังเชื่อว่า เนื้อหาที่ศาล รธน.จะวินิจฉัยที่ไม่ได้เป็นการก้าวล่วง แต่เป็นความเชื่อว่าเนื้อหาต่างๆ ก็จะคล้ายๆ กับที่หมอวรงค์และสุเทพไปตั้งเวทีปราศรัย และหลังจากนั้น คำวินิจฉัยก็จะถูกนำไปขยาย มันก็จะไปสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งมันก็เคยมีบทเรียนกันมาแล้ว จุดจบก็จะไม่สวย เพราะถ้าไปสร้างความเชื่อของแต่ละฝ่ายให้เกิดขึ้นเมื่อใด เช่นฝ่ายธนาธรก็มีการอธิบายความ ขณะเดียวกันหมอวรงค์กับสุเทพก็อธิบายความ โดยที่เนื้อหาของสองฝ่าย คือความขัดแย้งและการหักล้างระหว่างกัน ท้ายที่สุดประชาชนก็ถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายอยู่ดี นี่ก็จะเป็นการเปิดประตูให้กับรัฐประหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย การเดินไปแบบนี้จุดจบคือการรัฐประหาร

-อนาคตข้างหน้า มีโอกาสที่สองฝ่ายดังกล่าวจะมาเผชิญหน้าหรือเกิดการปะทะกัน?

เรื่องการปะทะในเรื่องกำลังคงไม่ประเมินถึงขนาดนั้น แต่การปะทะทางความคิดมันจะระบาดไปในโซเชียลมีเดียและท้องถนน และจะเพิ่มอุณหภูมิท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ฝ่ายหมอวรงค์ อาจได้เปรียบเรื่องกลไกรัฐ ฝ่ายธนาธรก็ได้เปรียบเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ คนก็จะไหลหาธนาธร แล้วก็มีเนื้อหาประกอบอื่นๆ เช่นหมอวรงค์บอกต้องต่อต้านพวกชังชาติ  ที่ฟังแล้วก็บอกว่าพวกชังชาติคือพวกอนาคตใหม่ และท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การแตกแยกทางความคิดและจะลุกลามบนท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งน่าห่วงที่สุดที่ผมวิเคราะห์  ผมมองจากเหตุการณ์ในอดีตที่เมื่อเริ่มต้นกันแบบนี้ ปลายทางก็ต้องจบแบบนี้ คือระหว่างทางอาจมีปัญหาเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ แต่จุดจบจะเหมือนเดิม

ผมว่าฝ่ายคณะรัฐประหารและประชาชนต่างก็มีบทเรียน การรัฐประหารเขาก็ต้องทำให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น มันไม่ได้จบลงเพียงแค่การตั้งเวทีของสองฝ่าย แต่มันจะลุกลามจนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ซึ่งก็จะจงใจให้สถานการณ์เดินไปอย่างนั้น แล้วก็จะกลบเรื่องราวที่เป็นปัญหาของประชาชนทั้งหมด และประชาชนก็ต้องทุกข์หนักกว่าเดิม

-แต่ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์พูดมาตลอด ในสมัยรัชกาลปัจจุบันต้องไม่มีม็อบ?

ผมก็ยังเชื่อว่ากลุ่มเดิม ที่หมายถึงคู่ขัดแย้งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ความจริงต้องระมัดระวังมากกว่าเดิมในบรรดาแกนนำทั้งหลาย ก็อยากฝากไปถึงคุณสุเทพด้วยว่า ความจริงแล้วตัวแทนทั้งสามฝ่ายก็ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะในซีกพันธมิตรฯ, กปปส.และ นปช.เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับบ้านเมืองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทิศทางก็กำลังจะเดินไปได้ คนที่อยู่ในความขัดแย้งเดิมควรใช้ความอดทนทุกอย่าง อย่าเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งเพิ่มโดยไม่จำเป็น

ผมก็อยากสื่อความไปถึงนายสุเทพว่าต้องคิดให้มาก และควรหารือกับคนที่อยู่ในกระบวนการที่มีการพูดคุยกันทั้งสามฝ่ายเพื่อร่วมกันหาทางออกให้บ้านเมือง แต่กรณีของผู้มาใหม่รัฐบาลเองก็มีทุกอย่างอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสร้างประชาชนให้เป็นคู่ขัดแย้งกันเอง และขณะเดียวกันรัฐบาลมีหน้าที่แก้ไขปัญหาด้วยความอดทน ถ้ารัฐบาลใช้วิธีการด้วยการให้พรรคร่วมรัฐบาลไปตั้งเวทีและสร้างความขัดแย้งเสียเอง ความชอบธรรมของรัฐบาลก็จะหมด แล้วท้ายที่สุดรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ตัวพลเอกประยุทธ์ก็จะอยู่ยากเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพลเอกประยุทธ์จะควบคุมสถานการณ์ได้ทุกเรื่องราว

ผมก็วาดหวังว่าฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นฝ่ายที่หยุดก่อน เพราะผมก็ยังมองว่าการที่จะทำให้การชุมนุมของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลโตอย่างเต็มที่ก็คือรัฐบาลนั่นเอง ถ้าทำแบบนี้มันจะเป็นการสะสมคู่ขัดแย้งเดิมให้ไหลไปรวมโดยอัตโนมัติ อย่างที่พยายามจะมีการปั้นหมอวรงค์ขึ้นมา มันก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง ถามว่ารัฐบาลต้องการแบบนั้นหรือ พลเอกประยุทธ์จะปฏิเสธไม่ได้เพราะพรรคของคุณสุเทพคือพรรคร่วมรัฐบาล

 ผมว่าหากคู่ขัดแย้งเดิมสามฝ่ายคือ นปช.-พันธมิตรฯ-กปปส.ค่อยๆ ประคับประคองสถานการณ์  ผมยังเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ ปล่อยให้รัฐบาลเขาเดินอย่างที่ควรจะเดิน แล้วฝ่ายธนาธรเองก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในการขับเคลื่อน เพราะผมก็คงจะไปบอกให้ใครชุมนุมหรือต้องหยุดชุมนุมคงเป็นไปไม่ได้  เพียงแต่ถ้าจะชุมนุมก็ต้องมีความพร้อม ความพร้อมคือการรักษาชีวิตของประชาชน

ส่วนที่มีบางฝ่ายมองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มหมอวรงค์แนวร่วมอาจไม่ได้มาก เพราะมองจากผลการเลือกตั้งของพรรค รปช.ก็เห็นว่าในเหตุการณ์หนึ่งแล้วจะไปประเมินอีกสถานการณ์หนึ่งก็คงไม่ได้  แต่ว่ามันจะไปเป็นการเร่งสถานการณ์ อย่างที่ผมบอกข้างต้นการรุกฝ่ายเดียวมันโตยาก แต่ว่าถ้าต่างฝ่ายรุกแล้วสร้างความขัดแย้งให้มากขึ้น มันก็จะโตเร็วชนิดทวีคูณ ดังนั้นคนที่จะมาเร่งสถานการณ์ที่มันปรากฏอยู่ในขณะนี้ก็คือคู่ขัดแย้ง ที่พยายามทำให้เป็นคู่ขัดแย้ง เพราะเนื้อหาของฝ่ายทั้งหมอวรงค์และฝ่ายธนาธรที่มีการเดินสายไปพูด อย่างไรเสียปลายทางก็คือความขัดแย้ง และจุดจบความขัดแย้งก็คือ การรัฐประหาร

จตุพร-แกนนำคนเสื้อแดง ยังกล่าวขยายความถึงที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่า การเมืองไทยในอนาคตหากสถานการณ์ยังเป็นแบบปัจจุบันต่อไปเรื่อยๆ อาจนำไปสู่ความเห็นที่แตกต่างกันจนเกิดเหตุคล้ายกับช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการสร้างความชิงชัง  เช่นบอกว่านักศึกษาที่อยู่ใน ม.ธรรมศาสตร์เป็นคนญวน เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกโค่นล้มสถาบัน หรือบอกว่าในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ พูดใส่ซ้ำๆ กันแบบนี้ พูดแค่สถานีวิทยุสถานเดียว ทำให้คนที่เวลามันโกรธก็ไปทำสิ่งที่คนไม่คาดคิด เช่นจับคนแขวนคอที่ต้นมะขาม แล้วมีคนไชโยโห่ร้อง มันเกิดจากการสร้างความชิงชังทั้งสิ้น มันอาจไม่รุนแรงเท่าที่รวันดา

ตอนนี้ social media มีพลานุภาพเป็นล้านเท่าเทียบกับสถานีวิทยุสถานีเดียวในช่วงปี 2519 แต่วันนี้ทุกคนคือเจ้าของสถานี ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามมันไปไกลมาก แล้วจะทำให้คนโกรธแค้น ยิ่งเวลาที่คนเดือดร้อนอยู่แล้วจะยิ่งทำให้ความคิดเรื่องอื่นๆ ยิ่งคิดสั้น เพราะทุกคนคิดแต่ปัญหาเฉพาะหน้า ผมถึงบอกว่านี่คือมันจะนำไปสู่แบบช่วง 6 ตุลาคม 2519 เพราะเวลานี้คือการปลุกความชิงชัง ชิงชังมาก็ชิงชังไป ก็กล่าวหากันด้วยความชิงชัง แล้วมันก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ใช่การถกเถียงกันในเรื่องประเด็นสาธารณะ ที่ลักษณะแบบนั้นมันไม่ได้ทำให้คนเกลียดกันถึงขนาดฆ่ากัน แต่การปลุกให้คนชิงชังมาก็ชิงชังกลับไป ผมว่านี่คือโมเดลให้เกิดเหตุแบบ 6 ตุลาคม 2519 และจะรุนแรงกว่าช่วง 6 ตุลาคม 2519

-คิดว่ากระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อพลเอกประยุทธ์มีมากแค่ไหน และเกิดจากปัญหาอะไร?

เป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ที่ประชาชนเขาอดทนมาก เขาแลกกับความสงบของบ้านเมืองมาเป็นระยะเวลาร่วมหกปี แต่วันนี้มันเดือดร้อนแสนสาหัส จากปัญหาต่างๆ เช่นภัยแล้ง น้ำท่วม แล้วก็กำลังจะมีภัยแล้งอีก พืชผลทางการเกษตรที่ตอนนี้เราอาจจะยังพอมีข้าวกินอยู่บ้าง หรืออาจจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศมากิน ก็เป็นบรรยากาศก่อนเกิดเหตุ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งสิ้น แล้วที่สำคัญหากประชาชนเดือดร้อนมากกว่านี้จากปัญหาเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ ก็คือทุนใหญ่ที่รวยไม่รู้เรื่อง แต่ที่เหลือต่างยากจนหนัก ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการสร้างเวทีคู่ขัดแย้งทางการเมืองจะไม่เป็นประโยชน์ แต่ควรใช้วิธีแก้ปัญหาให้ตรงจุดกับคนที่เดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ

ส่วนการหาทางออกของพลเอกประยุทธ์หากสถานการณ์ไปถึงจุดหนึ่ง เช่นการลาออกหรือการยุบสภา ก็มองว่านายกฯ ยุบสภาปัญหาก็ไม่จบ ปัญหาก็กลับไปจุดเดิมเพราะวุฒิสภายังโหวตนายกฯ ได้อีกในช่วงห้าปีหลังใช้รัฐธรรมนูญ ยุบสภาปัญหาก็ไม่จบอยู่ดี ยิ่งรัฐธรรมนูญโอกาสจะเกิดการแก้ไขปรับปรุงได้แทบเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ มันก็สะสมปัญหาต่อไปแบบไม่มีทางออก จนท้ายที่สุดเชื่อว่า รธน.จะไม่ได้แก้ไขแต่จะได้ฉีก รธน.แทน

                ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวพลเอกประยุทธ์ว่าจะไปต่อได้หรือไม่ นายกฯ หลายคนเมื่อเจอวิกฤติเศรษฐกิจก็เลือกหนทางด้วยการลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบให้เห็น แต่ทั้งหมดไม่ได้ขึ้นอยู่กับพลเอกประยุทธ์แค่คนเดียว เช่นเดียวกับอดีตนายกฯ คนอื่นๆ คือองคาพยพของนายกฯ ก็ต้องพยายามให้นายกฯ ยื้ออยู่ในตำแหน่งจนวาระสุดท้าย ทั้งที่ตอนมีเวลาที่จะกระทำการใดๆ กลับไม่ทำ แต่วันที่ต้องลง กลับไม่มีทางเลือก

บทเรียนแบบนี้พลเอกประยุทธ์ควรต้องศึกษา เพราะปัญหาอยู่ที่ตัวท่านเอง วันนี้พลเอกประยุทธ์ต้องเอาความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เอาพวกพ้อง เพราะประชาชนต้องการความสำเร็จ พลเอกประยุทธ์ให้โอกาสพวกพ้องแล้ว แต่เมื่อทำไม่สำเร็จ แล้วพลเอกประยุทธ์ยังเห็นแก่พวกพ้อง ท้ายที่สุดประชาชนจะทนไม่ได้กับพลเอกประยุทธ์ แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์กล้าเปลี่ยน นำคนที่มีศักยภาพเข้ามา  พลเอกประยุทธ์ก็อาจหายใจไปได้อีกสักระยะหนึ่งในทางการเมือง เพราะคนก็อาจมีความหวังว่าคนที่เข้ามาใหม่อาจแก้ไขปัญหาได้ แต่หากปล่อยให้เดินไปอย่างนี้ โดยหลายคนอยู่มาจะห้าหกปีแล้วและทำได้แค่นี้ มันก็มากพอแล้ว วันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ประชาชนไม่ได้โทษรัฐมนตรี แต่โทษหัวหน้ารัฐบาลที่ทำหน้าที่หัวหน้าเศรษฐกิจด้วย

...........................................

พท.ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง จะสูญเสียไปเรื่อยๆ ฝ่ายค้านเสียท่าร่วมซื้อเวลาแก้ รธน. 

จตุพร-ประธาน นปช.-แกนนำคนเสื้อแดง วิเคราะห์เส้นทางการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลังสภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเขาเชื่อว่าการที่พรรคร่วมรัฐบาลร่วมเห็นชอบให้สภาตั้ง กมธ.ดังกล่าว ก็เป็นแค่การนำเรื่องการแก้ไข รธน.เข้าสู่โรงละคร เพื่อให้แต่ละคนได้เข้าไปแสดงบทบาทใน กมธ. แล้วสุดท้ายก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดย 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดินพลาดทางการเมืองที่ไปร่วมวงเข้าโรงละครซื้อเวลาครั้งนี้ด้วย

จตุพร ย้ำว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญไม่มีทางแก้ไขได้ ก็เพียงแค่เล่นละครต้มคนดูกันเท่านั้น การตั้งคณะ กมธ.วิสามัญของสภาเพื่อศึกษาเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องสำคัญ มันหาความสำเร็จได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ผมอยู่ในสภามาก่อน ผมเห็นอยู่ อะไรที่ไม่ต้องการความสำเร็จก็ให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาศึกษา

กรณีนี้ที่ต้องการให้มีการแก้ไข รธน.ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล แล้วรัฐบาลก็ใส่ไว้ในนโยบายเร่งด่วน ก็ต้องเสนอร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 โดยคืนอำนาจจากสมาชิกรัฐสภาไปให้ประชาชนนำไปแก้ โดยให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่าง รธน. แล้วสภาร่าง รธน.ก็เลือกกรรมาธิการยกร่าง รธน. พอร่างเสร็จก็ส่งไปทำประชามติ โดยตัดอำนาจของ ส.ส.-ส.ว.ออกไป

หากเป็นแบบนี้ ถามว่า ส.ว.จะโหวตให้ตัดอำนาจตัวเองหรือ แค่นี้ความจริงก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านต้องการในการแก้ไข รธน.ก็คือต้องการตัดอำนาจของ ส.ว. โดยที่กระบวนการแก้ไข รธน. รธน.ไปบัญญัติว่าเสียงเห็นชอบต้องได้รับเสียง ส.ว.มาลงมติเอาด้วยอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง เป็นแบบนี้แล้วการแก้ไข รธน.จะสำเร็จได้อย่างไร

-หากประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ จับมือกันสร้างกระแสเคลื่อนไหวนอกสภาเพื่อกดดันให้ ส.ว.-ส.ว.ต้องลงมติให้มีการแก้ไข รธน.เช่นทำแบบธงเขียวปี 2540 ถ้าทำแบบนี้มีโอกาสสำเร็จไหม?

มันก็จะเกิดแบบขนมจีนน้ำยา คือจากเรื่องคนเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ ก็จะมีเรื่องของรัฐธรรมนูญเข้าไปเป็นอีกหัวข้อหนึ่งเข้าไปผสม เพราะดูแล้วเขาไม่ได้มีเจตนาจะแก้ไข รธน.จึงให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ขึ้นมา แล้วก็จะรำวงไปเรื่อยๆ พอจะครบ 120 วันตามที่สภาให้ศึกษา ก็อาจจะมีการขอขยายเป็น 180 วัน

-มองว่าการทำงานของ กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน.ที่มีคนอย่าง บัญญัติ บรรทัดฐาน,  โภคิน พลกุล, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ อยู่ใน กมธ. สุดท้ายก็จะไม่ได้มีผลสำเร็จอะไรออกมาในเรื่องแก้ไข รธน.?

ผมว่าเอาแต่ละคนไปพูดในโบสถ์วัดพระแก้ว คิดว่าสำเร็จไหม ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยคือไม่สำเร็จ ถ้าจะมีใครไปคิดในทางการเมืองว่า กมธ.ชุดนี้จะทำให้การแก้ไข รธน.สำเร็จ ผมว่าคนนั้นเสียสติ เพราะหากเขาตั้งใจจริงให้มีการแก้ไข รธน.แค่มาตรา 256 มาตราเดียว ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องตั้ง กมธ.วิสามัญฯ อะไร ก็แค่เสนอร่างแก้ไข รธน.เข้ารัฐสภาไปเลย แล้วทุกฝ่ายแสดงความจริงใจออกมาให้เป็นเรื่องของประชาชน ก็วัดกันที่ประชาชน แต่พอสภาตั้ง กมธ. คนการเมืองก็ต้องรู้ว่านี้คือโรงลิเกที่ต้องแสดงเวียนไปเวียนมา และไม่ต้องการความสำเร็จ ก็เป็นแค่การซื้อเวลา และเสียงบประมาณแผ่นดินโดยไม่จำเป็น เปลืองแค่แอร์ในสภาเปลืองค่าเบี้ยเลี้ยง ค่ากาแฟให้ กมธ.

ส่วนประชาธิปัตย์ที่เสนอเรื่องนี้ ก็เพียงแค่แบ่งบทกันเล่น เพราะเขาเสียจุดยืนไปสองเรื่อง คือการที่อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.เคยประกาศไม่เอาพลเอกประยุทธ์ ก็ถือว่าเสียไปแล้ว เรื่องที่สอง คือการแก้ไข รธน. ซึ่งถ้าเรื่องนี้ ปชป.เสียไปอีก พรรคนี้ก็จะไม่มีอะไรเหลือ

ผมก็เคยเสนอว่า ฝ่ายค้านไม่ต้องทำอะไร ก็มอบอำนาจทั้งหมดให้พรรค ปชป.แล้วคอยยกมือตาม จะไปเสียเวลาทำไม เมื่อ ปชป.ใช้เรื่องแก้ไข รธน.เป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล พรรค ปชป.อย่างเทพไท เสนพงศ์ ก็เสนอร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 เข้าไป ซึ่งเรื่องนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ไม่มีใครคัดค้านอยู่แล้ว แล้วจะไปเสียเวลาทำไม ก็ปล่อยให้พรรค ปชป.ไปเคลียร์ในรัฐบาลกันเอง เพราะถ้า ปชป.ไม่อยู่ร่วมด้วย รัฐบาลก็ต้องมีอันเป็นไปในสภาฯ ทำแบบนี้ไม่ต้องเสียเวลา 

-ประชาชนสามารถแสดงออกให้ ส.ส.-ส.ว.รับรู้ได้อย่างไรว่า ประชาชนต้องการให้แก้ไข รธน.?

ผมว่ามันไม่ได้มาด้วยสถานการณ์ให้แก้ไข รธน. แต่จะมาด้วยเหตุการณ์อย่างอื่นก่อน ตอนก่อนเกิดเหตุการณ์ พ.ค. ปี 2535 เวลานั้นมีการเรียกร้องให้แก้ไข รธน. 4 ประเด็น โดยเฉพาะ 2 ประเด็นสำคัญคือ นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และประธานรัฐสภามาจากประธานสภา ตอนนั้นเรียกร้องกันเกือบตาย แต่ไม่สำเร็จ แต่พอเกิดเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 การแก้ไข รธน.ในที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งวัน แต่มันแลกด้วยการสูญเสีย ถ้าถามผม เรื่องแก้ไข รธน.จะมาจาก กมธ.วิสามัญของสภาฯ หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่มีทาง ตอนนี้แค่ซื้อเวลา 4 เดือนแล้วก็จะขยายเวลาอีกต่อไป

จตุพร วิจารณ์ด้วยว่า การที่ฝ่ายค้าน 7 พรรคไปร่วมในเรื่องการตั้ง กมธ.วิสามัญดังกล่าว ก็ไปเล่นตามเกมโดยไม่จำเป็น ถามว่าต้องการความสำเร็จหรืออยากแค่แสดงบทบาท ถ้าอยากแค่แสดงบทบาทก็ไปร่วมใน กมธ. ซึ่งเขาให้แสดงบทบาทเต็มที่ และยิ่งแสดงบทบาทมาก 120 วันก็ไม่พอ ก็จะเป็น 180 วัน รัฐบาลก็พร้อมจะให้เวลา ศึกษาไม่ต้องจบ เพราะฝ่ายค้านไปเล่นในเกมที่เขาต้องการ ความจริงถ้ามองง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ก็ยกภารกิจเรื่องนี้ทั้งหมดให้พรรค ปชป. แบบนี้จะประสบความสำเร็จ แต่ฝ่ายค้านก็แค่ต้องการแสดงบทบาท ไม่ต้องการความสำเร็จ

...ถามว่าในซีก 7 พรรคฝ่ายค้าน ใครกล้าการันตีว่าเรื่องนี้จะสำเร็จ ก็เห็นกระดานอยู่แล้ว ไปให้เสียเวลาทำไม ก็โยนภารกิจทั้งหมดให้หัวหน้าพรรค ปชป. หากแก้ไขไม่ได้ก็เป็นความรับผิดชอบของเขาไป เพราะฝ่ายค้านแก้ไข รธน.ไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากต้องอาศัยเสียง ส.ว. 84 เสียงโหวตเอาด้วย ที่หากพลเอกประยุทธ์ไม่เอาด้วย มันจะเป็นไปได้ไหม เพราะ ส.ว.เขาจะมาโหวตด้วยเขาก็จะมา 250 เสียง ไม่มา ก็ไม่มาเลย 250 เสียง การจะให้มาโหวตเอาด้วย 84 เสียง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเขามาจากที่เดียวกัน เมื่อฝ่ายค้านเข้าไปในโรงละครเขาแล้ว เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าเป็นสถานที่รับซื้อเวลา ก็ไปเสียทีแล้ว ก็ยังเล่นการเมืองแบบเดิม ยังไม่เปลี่ยน

ผมก็เชื่อว่ายิ่งเล่นการเมืองแบบเดิม ก็จะยิ่งจบแบบเดิม ถ้าเล่นกันแฟร์ๆ อย่าไปกลัวพรรค ปชป.ได้หน้า เพราะถ้าแก้ไข รธน.สำเร็จ แล้ว ปชป.ได้รับการชื่นชม แล้วจะเป็นไรไป แต่ถ้าแก้ไม่สำเร็จ ความทุกข์ทั้งหมดก็จะไปตกที่พรรค ปชป. เพราะเรื่องแก้ไข รธน.เป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค ปชป. เรื่องนี้เพราะไม่อ่านกันให้สุดทาง ทำให้การไปร่วมเกมตั้ง กมธ.วิสามัญของสภาฯ เพื่อศึกษาแก้ไข รธน.เป็นความผิดพลาดของพรรคฝ่ายค้านอย่างไม่น่าให้อภัยมาก

ปิดท้าย เราถาม จตุพร ในฐานะอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถึงสถานการณ์ของเพื่อไทยยามนี้โดยเฉพาะหลังแพ้เลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่นให้พลังประชารัฐ โดยเขาวิเคราะห์วิจารณ์แบบตรงไปตรงมาถึงพรรคเพื่อไทยว่า การแพ้เลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่น อย่างเรื่องการใช้อำนาจรัฐ ใครเป็นรัฐบาลก็ใช้อำนาจรัฐกันทั้งนั้นก็เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องไม่มองข้ามรายละเอียดอื่นมากมายที่เป็นองค์ประกอบที่มันมากกว่าผลลัพธ์สุดท้ายทางการเมือง ผมว่าพรรคเพื่อไทยก็ต้องคิดบทเรียนเหมือนกัน คำพูดสวยหรูใครก็พูดกันได้ ทุกคะแนนบริสุทธิ์ก็ว่ากันไป ฝ่ายชนะก็ประกาศชัยชนะ ฝ่ายแพ้ก็ประกาศอย่างนั้น แต่ก็ต้องรู้ว่า การเลือกตั้งไม่ได้ง่าย เพราะบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายที่เคยอยู่กับพรรคเพื่อไทยก็ไปอยู่พลังประชารัฐจำนวนมาก หลายคนก็มีบทบาท ก็รู้เขารู้เรา

ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ยกระดับและเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ก็จะต้องสูญเสียไปเรื่อยๆ และที่สำคัญที่สุด สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ระยะยาวมันไม่มีใครผูกขาดกันได้อีกต่อไป เหมือนประชาธิปัตย์ ตอนนี้ภาคใต้ก็ผูกขาดไม่ได้อีกแล้ว อีสานก็เฉกเช่นเดียวกัน ถ้าไม่ปรับให้เกิดความเท่าทันกับความต้องการของประชาชน ก็จะต้องสูญเสียไปเรื่อยๆ

...เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ที่เคยชนะท่วมท้นในภาคอีสานก็ยังต้องจบลง เหมือนกรุงเทพมหานครก็ไม่มีใครผูกขาดอีกต่อไป ประชาธิปัตย์ไม่เหลือ ส.ส.กทม.แม้แต่ที่เดียว อะไรก็เกิดขึ้นมาได้ ภาคอีสานก็เฉกเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่นักการเมืองต้องทันกับการเปลี่ยนแปลงของประชาชนและของโลก อย่าง พลังประชารัฐ ถ้า 3 ป.ไม่อยู่ พรรคพลังประชารัฐก็สลายตัวเหมือนกัน กระดานการเมืองในการรองรับสถานการณ์วันข้างหน้า ทุกฝ่ายก็ต้องปรับตัว ถ้ายังอยู่บนหลักคิดเดิมๆ ที่เคยสำเร็จกันมา จริงอยู่มันอาจจะยังอธิบายกันได้อยู่ แต่ก็ต้องรู้ว่ามันไม่เพียงพออีกต่อไป คนต้องการสิ่งใหม่มาแทนที่ว่าใครจะสอดคล้องมากกว่ากัน

ผลเลือกตั้งที่ขอนแก่น อาจจะยังประเมินอะไรกันไม่ได้มาก เพียงแต่ว่าเป็นสัญญาณว่าคุณต้องปรับตัว เพราะเป็นเขตที่คุณควรชนะได้อย่างง่ายดาย ก็ต้องทบทวนว่าจะยกระดับให้ทันความคิดของประชาชนได้อย่างไร ก็ต้องยอมรับความเป็นจริง หากไม่ยอมรับความเป็นจริงแล้วเข้าใจในบริบทเดียว มันจะไม่มีวันพลิกสถานการณ์ได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่ากว่าจะมีการเลือกตั้งรอบหน้า กระดานการเมืองยังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันอีกหลายรอบ

                                                                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

                                                                                                  วิจักพันธุ์ หาญลำยวง

..........................................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"