ภาพบีบีซีจากทางอากาศแสดงถึง 5 จุด ณ ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ Al Asad ทางตะวันตกของอิรักที่ถูกจรวดของอิหร่านทำให้เสียหาย แต่ไม่มีใครบาดเจ็บหรือล้มตาย
สำนักข่าวตะวันตกหลายแห่งวิเคราะห์คำแถลงของโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อคืนวันพุธว่า เป็นการ "ผ่อนเบาลง" เพราะอิหร่านดูเหมือนจะไม่ได้ตอบโต้รุนแรงอย่างที่คาดการณ์
Financial Times ของอังกฤษพาดหัวใช้คำว่า "measured" แปลว่าทรัมป์ระมัดระวังในคำพูด ไม่ออกมาประกาศว่าจะตอบโต้อิหร่านที่ยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพอเมริกันสองแห่งในอิรักเมื่อเช้าวันอังคารที่ผ่านมา
สื่ออเมริกาใช้คำว่า blink สำหรับอิหร่าน หลังจากที่ทรัมป์บอกว่าผู้นำอิหร่านดูเหมือนจะ "stand down" ซึ่งแปลว่าค่อยๆ ปีนลงจากจุดยืนที่แข็งกร้าว
Blink หมายถึงกะพริบตา ในความหมายที่ว่าในการจ้องที่จะฟาดฟันระหว่างอเมริกากับอิหร่านนั้น ฝ่ายหลังกะพริบตาก่อน...ใช่หรือไม่?
บางบทวิเคราะห์ตะวันตกใช้คำว่า brink (ที่หนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งใช้ในพาดหัว) อันหมายถึง "ขอบเหว" ที่ทั้งสองฝ่ายกำลังยืนจ้องหน้ากันอยู่
ฝ่ายไหนเล่นเกม "เสียว" ตรงขอบเหว หวังขู่ให้อีกฝ่ายหนึ่งกลัวจนต้องถอยไป เรียกกลยุทธ์สุ่มเสี่ยงนี้ว่า brinkmanship
ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีตั้งคำถามว่า ที่อิหร่านยิงจรวดใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักและไม่มีใครบาดเจ็บ (ตามคำอ้างของทรัมป์) นั้น ตีความได้ไหมว่าอิหร่านจงใจจะไม่ยิงใส่จุดสำคัญในฐานทัพเพื่อจะได้ไม่ต้องมีทหารอเมริกันเสียชีวิต สหรัฐฯ จะได้ไม่ตอบโต้อย่างรุนแรง
แนววิเคราะห์นี้มองไปถึงว่าอิหร่านต้องการจะสงบศึก ซีเอ็นเอ็นอ้างแหล่งข่าวระดับสูงทางทหารสหรัฐฯ ด้วยซ้ำว่า อิหร่านได้ส่งสัญญาณผ่านอย่างน้อย 3 ช่องทางว่าที่ยิงใส่ฐานทัพสหรัฐฯ นั้นถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการ "แก้แค้น" ที่อเมริกาสังหารนายพลกอเซ็ม สุไลมานีแล้ว
วิเคราะห์อย่างนี้ย่อมทำให้ผู้นำอิหร่านต้องรู้สึกว่าเป็นการหยามเกียรติกันมากไปหน่อย
เพราะผู้นำสูงสุดของอิหร่านอยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนีเพิ่งประกาศไปว่า การยิงจรวดใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักนั้นเป็นเพียงการ "ตบหน้า" สั่งสอนเท่านั้น และแค่นี้ไม่พอ เป้าหมายสุดท้ายของอิหร่านคือต้องให้อเมริกาออกจากตะวันออกกลางอย่างถาวร
แน่นอนว่าอิหร่านคงไม่ต้องการเปิดสงครามเต็มรูปแบบกับสหรัฐฯ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอิหร่าน "ยอมจบแค่นี้" และให้สถานการณ์กลับสู่สภาพเดิมที่ให้สหรัฐฯ คงอิทธิพลในตะวันออกกลางต่อไป
หลังจากนี้เมื่อรัฐสภาอิรักมีมติให้ขับไล่ทหารอเมริกันออกไป และอิหร่านได้สร้างสัมพันธ์กับอิรักใกล้ชิดมากขึ้นแล้ว อิทธิพลสหรัฐฯ ในภูมิภาคนั้นก็จะเริ่มมีปัญหาในรูปแบบใหม่
สงครามจรยุทธ์จะเกิดขึ้นจากพันธมิตรติดอาวุธของอิหร่านในตะวันออกกลาง และทรัมป์จะต้องคิดหนักว่า การประกาศเพิ่มการคว่ำบาตรอิหร่านนั้นเป็น "อาวุธ" เพียงพอที่จะสกัดอิทธิพลของอิหร่านในวันข้างหน้าหรือไม่
เกมการเผชิญหน้าเพิ่งเริ่มต้น การถล่มด้วยอาวุธจะแปรรูปเป็นการเผชิญหน้าในทุกรูปแบบทั้งทางการเมือง, การก่อเหตุร้าย, การจับตัวประกัน, สงครามไซเบอร์ และการจัดระเบียบใหม่ในตะวันออกกลาง
เพราะปูตินแห่งรัสเซียก็เริ่มแสดงบทบาทคึกคักทันที...จีนก็ต้องเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นจากเดิม...ตุรกีกำลังรอจังหวะของตน และผู้นำซีเรียก็เห็นโอกาสที่จะพลิกสถานการณ์ให้ตนได้เปรียบยิ่งขึ้น
สหรัฐฯ ทำจดหมายถึงยูเอ็นอ้างมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ว่าที่สังหารนายพลอิหร่านนั้นเป็นการ "ป้องกันตัวเอง"
แต่ก็พร้อมจะเจรจาโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้อิหร่านยอมประพฤติตนในลักษณะที่จะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง
อิหร่านก็ทำจดหมายถึงยูเอ็นอ้างมาตรา 51 เหมือนกัน อ้างว่าการถล่มฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักก็เป็นการ "ป้องกันตนเอง" เช่นกัน
เป็นไปได้อย่างไรที่สองประเทศพันตูกันเสร็จแล้วอ้างว่าต่างคนต่างป้องกันตนเอง
เหมือนไม่มีใครก่อเหตุก่อนกระนั้นหรือ
การเสียชีวิตของนายพลสุไลมานีกำลังจะทำให้ภูมิทัศน์แห่งอำนาจและสมการแห่งมหาอำนาจในตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจริงๆ
การเผชิญหน้าเพียงแปรรูปเท่านั้น การปะทะกันจะเปลี่ยนเพียงรูปแบบ แต่เนื้อหาแห่งการชิงอำนาจยังเป็นเรื่องเดิม
ทราบแล้วเปลี่ยน!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |