สสส.สถิติฯ:ปู่ย่าตายายฟูมฟักหลานอีสานพ่อแม่เลี้ยงเด็กใต้เอง


เพิ่มเพื่อน    

(การไม่มีเวลาเหลียวแลเอาใจใส่ลูก การทำให้ลูกขาดรัก กำลังเป็นสถานการณ์วิกฤติของครอบครัวไทย)

        สสส.แจงตัวเลขพ่อแม่อีสานส่งลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงสูงสุด 40% พ่อแม่ภาคใต้พอใจเลี้ยงลูกเอง งานวิจัยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) จัดทำ สสส.จัดพิมพ์ : ชีวิตคนไทยใน 2 ทศวรรษของการพัฒนา สังคมไทยเปลี่ยน เด็กไทยกว่า 2 ใน 3 ครัวเรือนอยู่ในชนบท ฝากลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ครัวเรือนแหว่งกลางภาคอีสานมากที่สุด พ่อแม่ทำงานในกรุง ไม่ปล่อยลูกอยู่กันเอง บุพการีอุ้มชู สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เจาะลึกแม่คนหนึ่งมีลูกมากกว่า 6 คน ปัจจุบันแม่มีลูกเพียงคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ พ่อแม่ลูกอยู่กันพร้อมหน้าลดจำนวนลง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรืออยู่กับญาติ เด็กในชนบทได้รับการส่งเสริมโครงการอาหารกลางวันมากกว่าเด็กในเมือง

(ณัฐยา บุญภักดี)

      ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สสส. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกๆ 5 ปี ข้อมูลล่าสุดพบว่าภาคอีสานมีพ่อแม่ที่ต้องส่งลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เพราะต้องไปทำงานต่างถิ่นถึง 40% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 30% ตามมาด้วยครอบครัวในภาคกลางและภาคใต้ต่ำสุด คือพ่อแม่เลี้ยงลูกเอง ทั้งนี้ สถิติใกล้เคียงกับเมื่อหลายปีก่อน

      จากสถิติดังกล่าว แนวโน้มสังคมไทยจะมีสถิติครอบครัวข้ามรุ่นหรือจำนวนครอบครัวแหว่งกลาง คือมีเด็กและคนแก่อยู่ด้วยกันเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เนื่องจากผู้สูงวัยควรได้รับการดูแลทั้งเรื่องสุขภาพและอื่นๆ แต่คนสูงวัยกลับจะต้องมาดูแลเด็ก อีกทั้งบางครั้งก็ต้องมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันสังคมยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก อีกทั้งครอบครัวไม่มีทักษะการสื่อสารระหว่างคนต่างวัยและขาดการใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทัน โดยโครงการพัฒนาพื้นที่ครอบครัวอบอุ่นฯ เริ่มต้นทำงานโดยเชื่อมโยงเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน อาทิ สภาเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี เน้นการสร้างนวัตกรรมสังคมที่มุ่งให้ทุกฝ่ายมีกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น กิจกรรมพับเหรียญโปรยทาน

(เด็กในครัวเรือนที่ยากจนมีโอกาสได้อยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าเด็กในครัวเรือนที่ไม่ยากจน)

      “เราต้องสร้างตัวช่วย Social Start up ให้ปู่ย่าตายายในการเลี้ยงหลานไม่ให้เหน็ดเหนื่อยจนเกินไป เพราะโดยธรรมชาติแล้วผู้สูงวัยจะตามใจหลานเป็นส่วนใหญ่” ณัฐยาได้ยกตัวอย่างกลุ่มสตรีได้ดึงกลุ่มเด็กในสภาเด็กเข้ามามีส่วนร่วม และแบ่งปันรายได้ให้กับเด็ก กิจกรรมทำอาหาร เช่น “นึ่งข้าว ตำบักหุ่ง ทอดไก่ เก็บใบตองมาทำขนมเทียน” โดยเด็กๆ รวมกลุ่มทำอาหารกินเอง มีกลุ่มแม่ๆ มาให้คำแนะนำ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดอาสาสมัครครอบครัว (อสค.) ทำงานรูปแบบเดียวกับ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข โดย อสค.จะผ่านการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กตามพัฒนาการ ตลอดจนการสร้างทักษะสื่อสารกับคนในครอบครัว ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านใน ต.ศรีไคเข้าร่วมทั้ง 11 หมู่บ้าน รวม 148 ครอบครัว มีสมาชิกโครงการกว่า 3,000 คน

      ชีวิตคนไทยในสองทศวรรษของการพัฒนา ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ณัฏฐาภรณ์ เลียมจรัสกุล บรรณาธิการ จัดทำโดย : แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของครอบครัว เห็นภาพอนาคต แนวโน้มของสังคม ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนในวัยเด็กที่จะเติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ในอนาคต หนังสือชุดนี้มี 3 เล่ม ชีวิตคนไทยในสองทศวรรษของการพัฒนา แรงงานข้ามชาติ อัตลักษณ์และสิทธิความเป็นพลเมือง และทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย “ในอดีตที่ผ่านมาของสังคมไทย บ้าน นอกจากจะเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของผู้คนแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือภายในบ้านจะมีคนอยู่ร่วมกันมาก ทั้งปู่ย่า พ่อแม่ ลุงป้าน้าอา ลูกหลาน ภายในบ้านจึงมีบรรยากาศที่อบอุ่น เกื้อกูลช่วยเหลือกัน เสียดายที่บรรยากาศเหล่านี้ได้เริ่มสูญหายไปจากสังคมไทยมากขึ้น แม้แต่ในชนบทห่างไกล ยามนี้ภาพของ “คนชรากับเด็กเล็กๆ ใช้ชีวิตร่วมกัน โดยพ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานต่างเมือง” ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปหรือบ้านของคนเมือง ก็เป็นบ้านที่แสนจะเงียบเหงา เพราะมีเพียงพ่อแม่ลูกอยู่กันตามลำพัง” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุยแห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ใน “คิดเพื่อเด็ก” ตีพิมพ์ พ.ศ.2540

(เด็กที่ได้อยู่กับพ่อและแม่จะมีสัดส่วนเหลือเพียงร้อยละ 62 เท่านั้น)

      นักประชากรศาสตร์และนักสังคมศาสตร์พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของครัวเรือนบางประเภท การที่สังคมไทยมี “ครัวเรือนแหว่งกลาง” ครัวเรือนอยู่คนเดียวและครัวเรือน 1 รุ่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รายงานฉบับนี้แบ่งประเภทครัวเรือนโดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าครัวเรือนกับสมาชิกในครัวเรือน เหมือนวิธีการแบ่งของนักประชากรศาสตร์ ในช่วงหลายทศวรรษของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพบว่า จำนวนคนสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมากและขนาดครัวเรือนเล็กลงมากแล้ว ลักษณะของครัวเรือนไทยยังมีการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขึ้นของครัวเรือนอยู่คนเดียว ครัวเรือน 1 รุ่น และครัวเรือนแหว่งกลาง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมมีผลต่อสภาวะความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว

      รายงานการเปลี่ยนแปลงประเภทครัวเรือนไทย 6 ประเภท (ข้อมูลล่าสุด) ปี 2552 ไทยมีครัวเรือน 19.8 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนอยู่คนเดียว หมายถึง ครัวเรือนที่มีผู้อาศัยอยู่ลำพังเพียงคนเดียว ครัวเรือนอยู่กับเพื่อนหรือญาติ หมายถึง ครัวเรือนที่มีผู้อาศัยอยู่กับบุคคลอื่นที่มิใช่สามี-ภรรยา หรือญาติพี่น้องของตนเองโดยบุคคลที่อาศัยอยู่ด้วยกันถือเป็นบุคคลอื่นนอกครอบครัว ครัวเรือน 1 รุ่น หมายถึง สามีและภรรยา (หรือ) สามีและภรรยา และคนนอกหรือญาติพี่น้อง หรือเพื่อน ครัวเรือน 2 รุ่น หมายถึง พ่อแม่ลูก หรือพ่อแม่ลูก และคนนอกหรือพ่อลูก หรือพ่อลูกและคนนอก หรือแม่ลูก หรือแม่ลูกและคนนอก ครัวเรือน 3 รุ่น หมายถึง พ่อแม่ลูกหลาน หรือพ่อแม่ลูกหลานและคนนอก หรือพ่อลูกหลาน หรือพ่อลูกหลานและคนนอก หรือแม่ลูกหลาน หรือแม่ลูกหลานและคนนอก และครัวเรือนแหว่งกลาง หมายถึง ปู่ย่าตายายและหลาน หรือปู่ย่าตายายหลานและคนนอก หรือทวดปู่ย่าตายายและหลาน หรือทวดปู่ย่าตายายหลานและคนนอก

      แม้ว่าครัวเรือนประเภทเด็กอยู่กับคนแก่ หรือครัวเรือนแหว่งกลาง ในปี พ.ศ.2552 จะมีจำนวนกว่า 1.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อยกว่าครัวเรือนประเภทอื่นๆ แต่ถ้าสังเกตให้ดี ครัวเรือนประเภทนี้มีอัตราการเปลี่ยนแปลงถึงร้อยละ 6.68/ปี เป็นอัตราที่สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับครัวเรือนทุกประเภท (ในช่วงปี พ.ศ.2541 และปี พ.ศ.2552)

      กว่า 2 ใน 3 ของครัวเรือนไทยยังอาศัยอยู่ในเขตชนบท ส่วนใหญ่จะพบครัวเรือนแหว่งกลางลักษณะนี้ในชนบท โดยเฉพาะภาคอีสาน พ่อแม่ที่อยู่ในวัยทำงานมักจะอพยพไปทำงานในเมือง แล้วฝากลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายช่วยดูแล การที่เด็กอาศัยอยู่ในชนบทกับปู่ย่าตายายน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยที่สุดจะมีคนคอยดูแล ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่บ้านเพียงลำพังหากพ่อแม่ไปทำงาน หรืออาศัยในชนบทน่าจะมีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า การที่เด็กไม่อยู่กับพ่อแม่ก็จะทำให้มีปัญหาขาดความอบอุ่น ขาดคนคอยดูแลเรื่องการเรียนหนังสือ โดยเฉพาะปู่ย่าตายยายไม่รู้หนังสือ

      จำนวนประชากรวัยเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปีในครัวเรือนได้ลดลงไปกว่าครึ่งเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะครัวเรือนประเภท 2 รุ่น ผลของการเปลี่ยนแปลงคือจำนวนนักเรียนในครัวเรือนลดน้อยลง ยกเว้นเพียงแต่กลุ่มครัวเรือนประเภท 3 รุ่น และครัวเรือนแหว่งกลาง (ประเภทเด็กอยู่กับผู้สูงอายุ) ที่พบว่ามีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น การที่ครัวเรือนมีเด็กและนักเรียนลดลง เป็นโอกาสให้พ่อแม่มีทรัพยากรที่จะใช้สำหรับการศึกษาของเด็กนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น

      ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ครอบครัวไทยมีลูกน้อยลง ในช่วงกว่า 60 ปีที่แล้ว สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้หญิง 1 คนจะมีลูกเฉลี่ยประมาณ 6.3 คน สมัยนั้นประชากรทุกๆ 1,000 คนจะเป็นทารก 44 คน ปัจจุบันจะพบว่าผู้หญิงมีลูกลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 คนเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบจากจำนวนประชากรทุกๆ 1,000 คน จะมีเด็กเกิดใหม่เหลือเพียง 15 คน

      หากพิจารณาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี และจำนวนครัวเรือนที่มีเด็กอาศัยอยู่ มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2531 จำนวนเด็กทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 31 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่จำนวนครัวเรือนที่มีเด็กคิดเป็นร้อยละ 66 ของครัวเรือนทั้งหมด ในปี พ.ศ.2552 จำนวนเด็กลดลงเหลือร้อยละ 48 ถ้าจำแนกตามภูมิภาคพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่ครัวเรือนที่มีเด็กอยู่มากที่สุด ขณะที่ กทม.มีสัดส่วนครัวเรือนที่มีเด็กน้อยที่สุด และส่วนใหญ่ครัวเรือนที่มีเด็กมักอยู่ในพื้นที่ชนบทมากกว่าในเมือง

      จากสถิติในช่วงปี 2549-2552 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีครัวเรือนที่เด็กได้อยู่ร่วมกับพ่อแม่พร้อมหน้ากันทั้งคู่ หรืออาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง มีจำนวนร้อยละ 81 เด็กที่ได้อยู่กับพ่อและแม่จะมีสัดส่วนเหลือเพียงร้อยละ 62 เท่านั้น รองลงมาคือเด็กพักอาศัยอยู่กับญาติ ร้อยละ 21 และเด็กอาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพัง หรือที่เรียกกันว่าแม่เลี้ยงเดี่ยว มีอยู่ร้อยละ 14.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.):  ภาพ

 

 

 

เด็กอยู่กับคนอื่นเสี่ยงสูบบุหรี่ดื่มเหล้า

      สถานการณ์ที่เด็กได้อยู่กับพ่อและแม่พร้อมหน้าพร้อมตากันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ.2549 สัดส่วนเด็กที่ได้อยู่กับทั้งพ่อและแม่คิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวนเด็กทั้งหมด แต่ตัวเลขค่อยๆ ปรับลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.4/ปี ปี พ.ศ.2552 สัดส่วนเด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่พร้อมหน้ากันลดลงเหลือเพียงร้อยละ 62 หากแยกครัวเรือนในเมืองจะมีสัดส่วนเด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่มากกว่าเด็กในชนบทคิดเป็นร้อยละ 68 ของเด็กในเมืองทั้งหมด แตกต่างจากเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบทมีสัดส่วนร้อยละ 61 ของเด็กในชนบท เด็กในภาคอีสานมีเด็กเพียงร้อยละ 55 ที่มีโอกาสได้อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ ซึ่งจัดว่าเป็นสัดส่วนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ

      เด็กในครัวเรือนที่ยากจนมีโอกาสได้อยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าเด็กในครัวเรือนที่ไม่ยากจน โอกาสที่เด็กครัวเรือนยากจนจะได้อยู่ร่วมกับพ่อแม่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 62 ในปี พ.ศ.2549 ลดเหลือเพียงร้อยละ 55 ในปี 2552 กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้พักอาศัยกับพ่อแม่พบว่า อีกร้อยละ 28 อยู่กับญาติ มองเห็นถึงช่องว่างเป็นอย่างมาก สาเหตุหลักที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ เนื่องจากพ่อแม่มีภาระการทำงานอยู่คนละจังหวัด (ร้อยละ 49) รองลงมาคือพ่อแม่แยกทางกัน (ร้อยละ 32) พ่อหรือแม่เสียชีวิต (ร้อยละ 8)

      การเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีเด็กและผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันเองมีมากขึ้น จากเดิมร้อยละ 0.4 ของครัวเรือนทั้งหมด ปี พ.ศ.2531 ร้อยละ 1 ปี พ.ศ.2552 การปรับตัวสูงขึ้น ครัวเรือนที่อาศัยในพื้นที่ชนบทและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายายจะประสบกับความเสียเปรียบด้านการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่อาศัยกับพ่อแม่ แต่ระดับสุขภาพจะไม่แตกต่างกัน

      โครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริมฟรีมีเป้าหมายเพื่อเสริมโภชนาการของเด็กนักเรียนในวัยเรียนให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปี พ.ศ.2535 รัฐอุดหนุนค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กในระดับประถมศึกษา อัตราคนละ 5 บาท/วัน ตลอดปีการศึกษา (200 วัน) ประมาณเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 30 ของจำนวนเด็กในแต่ละสถานศึกษา ต่อมาปี พ.ศ.2552 ครม.มีมติเห็นชอบให้นักเรียนทุกคนตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่  6ได้รับงบประมาณอาหารกลางวันเต็มจำนวนและให้ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็น 13 บาท/คน/วัน

      เมื่อมีการเปรียบเทียบระหว่างการจัดสรรเงินโครงอาหารกลางวันเด็กในเมืองและในชนบทแล้ว พบว่าปัจจุบันในชนบทมีสัดส่วนครัวเรือนที่เด็กนักเรียนได้รับอาหารกลางวัน/อาหารเสริมฟรี คิดเป็นร้อยละ 63 ซึ่งมากกว่าเด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่ในเมือง (ร้อยละ 44)

      ในปี 2545 ก่อนมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเด็กไทยถึงร้อยละ 18 ที่มีการรายงานว่าไม่ได้รับ/ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลใดๆ เลย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งร้อยละ 7 ของจำนวนเด็กทั้งหมด มีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลจากราชการ/รัฐวิสาหกิจ แต่หลังจากดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ในปี พ.ศ.2552 พบว่าสัดส่วนเด็กที่รายงานว่าไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลใดๆ และมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 18 ในปี พ.ศ.2545 เหลือเพียงร้อยละ 3

      ในงานวิจัยยังพบว่า การที่เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่มีผลกระทบในทางลบต่อโอกาสของการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก มีผลกระทบต่อเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย โอกาสในการเข้าเรียนต่อเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 32.5 และร้อยละ 27 ปรากฏการณ์นี้ยังพบมากในครัวเรือนฐานะยากจนที่พ่อแม่แยกทางกัน หรือต้องออกไปหางานทำไกลจากถิ่นที่อยู่อาศัย

      ด้วยนโยบายสาธารณะ 1.ประเทศไทยจะขาดสมดุลทางโครงสร้างประชากร รัฐควรมีมาตรการที่สนับสนุนให้การมีบุตรไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจมากเกินไปสำหรับพ่อแม่ 2.ส่งเสริมให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่ว่าพ่อแม่จะย้ายถิ่นไปทำงานที่ใด ปี 2552 เด็ก 5.5 ล้านคน หรือร้อยละ 38 ของจำนวนเด็กทั้งหมด ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่ พ่อแม่ควรมีทางเลือกที่จะดูแลเด็กเอง โดยมีภาครัฐช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก และอำนวยความสะดวกให้พ่อแม่ ควรมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมว่าการไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มีผลต่อเด็กอย่างไร

      3.เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับผู้อื่นในต่างจังหวัด ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ความเสี่ยงต่อการออกเที่ยวกลางคืน การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การดูคลิปไม่เหมาะสม การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รัฐบาลควรมีนโยบายติดตามเด็กกลุ่มนี้ โดยเน้นบทบาทของครูในการสังเกตพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้ ควรติดต่อกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก เพื่อแก้ไขปัญหาก่อนที่จะมีเหตุร้ายแรง ปี 2552 เด็ก 3 ล้านคน หรือร้อยละ 21 ของเด็กทั้งหมดอยู่กับญาติหรือคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พ่อแม่ 4.ปี 2552 ครัวเรือนที่มีเด็กเกือบ 9 แสนครัวเรือน หรือร้อยละ 9 ของครัวเรือนที่มีเด็กทั้งหมดมีฐานะยากจน ดังนั้นควรมีนโยบายที่มุ่งเป้าที่จะประคับประคองเด็กจากครัวเรือนยากจน.

 

 

      “การไม่มีเวลาเหลียวแลเอาใจใส่ลูก การทำให้ลูกขาดรัก กำลังเป็นสถานการณ์วิกฤติของครอบครัวไทยและเด็กไทยในปัจจุบัน หากไม่มีหนทางเยียวยาสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง เด็กไทยจำนวนมากก็จะถูกผลักไสลงไปในห้วงปัญหามากมาย และในภาพรวมก็คงเป็นเครื่องชี้วัดว่าสังคมไทยก็คงดีได้ยากด้วย” ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ์ อาจารย์ประจำภาควิชานโยบายการจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน “เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม” ตีพิมพ์ พ.ศ.2548

 

 

      “สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ครอบครัวจำนวนมากทั้งในเมืองและในชนบทกำลังเปลี่ยนแปลง ประเภทพ่อไปทาง แม่ไปทาง ทิ้งลูกน้อยไว้ มีให้พบเห็นทุกสัปดาห์ที่ผมนั่งตรวจผู้ป่วยนอก ปู่ย่าตายายดูแลเรื่องเหล่านี้ไม่ไหว พ่อแม่ก็ตัดสินใจไปแล้วว่าจะไม่ดูแล โรงเรียนและวัดอ่อนกำลัง..เราไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับครอบครัวรูปแบบใหม่ ไม่มีนโยบายระดับชาติ” นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ใน “วัยรุ่นไม่เป็นปัญหา” ตีพิมพ์ พ.ศ.2549

 

 

      “การจัดการศึกษาเฉพาะสำหรับหมู่คณะ ถึงจะจัดให้สูงสุดเพียงใดก็ไม่ใช่กำลังอันแท้จริงของชาติ บราวนิ่งกวีผู้ขึ้นชื่อได้กล่าวไว้ว่า “อย่าเพียรสร้างแต่ยักษ์และเทวดาเลย จงพยายามยกคนทั้งชาติให้สูงขึ้นพร้อมกันเถิด” อันนี้เป็นคติสำหรับการศึกษาสมัยนี้ ซึ่งต้องผันแปรไปเป็นการศึกษาสำหรับชาติ เพื่อฐานะแห่งชาติ คือคนทั้งหมดได้ขยับขึ้นสูงแล้วย่อมมีกำลังที่จะแข่งขันต่อสู้กับชาติอื่นๆ ได้ทุกวิถีอาชีพ” เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ชี้แจงต่อที่ประชุมอุปราชและเทศาภิบาล พ.ศ.2462.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"