ต้นแบบอนุรักษ์เพลงรำเหย่ยพื้นบ้าน "ป้าบุษ"ไอดอลวัยตกกระของลูกหลาน


เพิ่มเพื่อน    

ใครที่ชื่นชอบรายการทีวี เกี่ยวกับผู้สูงอายุมากประสบการณ์ ที่เป็นต้นแบบหรือโรลโมเดลของคนวัยหลัก 6 ที่มีคุณภาพและลูกหลานๆ จาก ต.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี คงรู้จักกันดีสำหรับ “ป้าบุษ รำเหย่ย” กับเสียงร้องเพลงพื้นบ้าน สำเนียงเหน่อ แต่ไพเราะปนฉะฉานของเพลงรำเหย่ยผสมเพลงแรป ในแบบฉบับของ คุณป้าบุษกร พรหมมา ประธานวัฒนธรรม หมู่บ้านหนองขุย ต.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี ที่เจ้าตัวได้หยิบเอาเพลงรำเหย่ยซึ่งเป็นเพลงพื้นถิ่นของชาว ต.หนองสาหร่าย มาขับขานให้ไพเราะน่าฟังและเข้ากับยุคสมัย ที่เด็กๆ มักชื่นชอบเพลงแรป แต่ทว่าก็ไม่ลืมเพลงประจำถิ่นของตัวเอง เพราะได้ยินกันมาตั้งแต่แบเบาะ

นอกจากการเป็นแบบวัยเก๋าที่สืบสานวัฒนธรรมการร้องเพลงพื้นบ้านอย่างรำเหย่ยแล้ว ป้าบุษ ในวัย 68 ปี ยังชอบร้องเพลงฉ่อย ชอบตีกลองยาว ร้องเพลงลูกทุ่งโชว์ ตลอดจนเชี่ยวชาญในการเป็นหมอทำขวัญข้าว และหมอทำขวัญข้าวขึ้นยุ้ง ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากปู่ย่าตายาย กระทั่งปัจจุบันเจ้าตัวได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนยุคใหม่เกี่ยวกับการร้องรำเพลงเหย่ย เพลงฉ่อย และการตีกลองยาว ประจำโรงเรียนในชุมชน อย่างโรงเรียนสระลุมพุก จ.กาญจนบุรี อาทิตย์ละ 2 วัน (บ่าย 2 โมงถึง 4 โมงเย็น) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ ปีที่ 6 ที่สำคัญเจ้าตัวยังทำหน้าที่เป็น อสม.ประจำหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งวันว่างจากการให้ความรู้เด็กๆ เจ้าตัวยังประกอบอาชีพทำสวนทำไร่ และเป็นเกษตรกรปลูกพริก ผักสวนครัวปลอดสารพิษ จำหน่ายและแบ่งปันให้คนชุมชนได้บริโภคอีกเช่นกัน ...ถือเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพที่ควรเอาเป็นแบบทั้งวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ด้วยกัน ทั้งในแง่ของการสืบสานวัฒนธรรม และการดูแลสุขภาพแบบบ้านๆ แต่ได้ใจทั้งคนรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ให้หยิบมาทำตาม

ป้าบุษ เล่าให้ฟังว่า “การดูแลสุขภาพของป้าบุษไม่มีอะไรมาก เราก็จะเลือกกินผักสวนครัวปลอดสารเคมีที่เราปลูกเองโดยไม่ได้ซื้อจากร้านค้า เช่น ฟักทอง บวบ ผักคะน้า กล้วย ถั่วแปบ หรือแม้แต่พริกสดที่เราไม่ได้ฉีดยา ก็รับประทานผักและปลาเป็นอาหารหลัก และเนื่องจากอายุมากขึ้น ตอนเย็นๆ นั้นก็จะดื่มนมเพื่อเสริมสร้างกระดูกไปด้วย นอกจากนี้ก็จะเลือกกินของเปรี้ยวและของเผ็ด เช่น มะม่วงน้ำปลาหวาน เพราะจะทำให้สมองโล่ง และรู้สึกสบายหัวมากขึ้น ประกอบอายุมาก ฟันอาจจะไม่ค่อยดี ป้าบุษก็จะขูดมะม่วงให้เป็นฝอยๆ เพื่อให้กินง่ายกับน้ำปลาหวานและอร่อยมากขึ้น”

ฟังเคล็ดลับการกินอาหารอร่อยและได้สุขภาพดีจากผักผลไม้ปลอดสารเคมีที่ปลูกเองแล้ว ทว่า ป้าบุษ ยังแอบกระซิบว่า เจ้าตัวไม่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แถมยังได้นำหลัก 5 อ.จากการเป็น อสม.ประจำหมู่บ้านมาปรับใช้การเสริมสุขภาพให้แข็งแรง มีอารมณ์ที่แจ่มใส และที่แน่ๆ เจ้าตัวก็ไม่ลืมบอกเคล็ดลับความงามให้กับหนุ่มสาวยุคใหม่ โดยการใช้สมุนไพรในการเติมสวยให้กับเจ้าตัวมาแต่ไหนแต่ไร และหันหลังให้กับครีมบำรุงยุคสมัยนี้

วิธีที่ทำให้อารมณ์ของป้าแจ่มใส ภายใต้หลัก 5 อ.จากความรู้ในการเป็น อสม.ประจำหมู่บ้าน คือการร้องเพลงให้อารมณ์เบิกบาน เช่น เวลาที่ป้าไม่ได้ไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็กๆ และไม่ได้ไปออกรายการทีวีในเทปต่างๆ ที่ติดต่อป้ามา ป้าบุษก็ร้องเพลง ขณะที่ป้าเก็บพริก บางครั้งก็ร้องเพลงลูกกรุง บางครั้งก็ร้องเพลงลูกทุ่งของสุรพล สมบัติเจริญ, ละอองดาว สกาวเดือน หรือแม่ผ่องศรี วรนุช แค่นี้ก็มีความสุขแล้วค่ะ ส่วนการดูแลสุขภาพและความงามให้เป็นไปตามวัยของป้าบุษ คือการใช้สมุนไพรไทยอย่างการนำว่านหางจระเข้มาฝานเอาแต่เนื้อวุ้นและนำมาพอกหน้า เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า ส่วนผมนั้นก็ยังใช้น้ำมะกูดสระผมและอาบน้ำ อีกทั้งนำมะขามเปียกมาแช่น้ำและถูตัว ทำให้ผิวผ่อง

ส่วนการออกกำลังกายของป้าบุษ ก็เลือกใช้วิธีที่ง่ายที่สุด คือการเหยียบกะลามะพร้าวคว่ำ และใช้สองมือพิงผนัง หรือข้างฝาบ้าน เพราะเวลาที่เท้าของเราได้หยิบบนกะลามะพร้าวนั้น ก็จะทำให้ได้ยืดเหยียดเส้นประสาทใต้ฝ่าเท้า และยืดกำลังแขนเช่นกัน ป้าทำทุกวันวันละ 15 นาทีก่อนเข้านอน ซึ่งจะทำให้นอนหลับสบายมากขึ้น ส่วนหนึ่งป้าก็เป็นคนที่ค่อนข้างหลับง่ายอยู่แล้วค่ะ หรือบางวันก็สลับมาแกว่งแขนวันละ 15 นาที มันจะช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนไปเลี้ยงระบบหัวใจได้ดีอีกเช่นกันค่ะ”

ทว่า เน็ตไอดอลคนวัยเกษียณ แห่งเมืองกาญจน์ ที่เล่าด้วยน้ำเสียงเหน่อแบบจริงใจว่า นอกจากงานด้านการสืบสานวัฒนธรรม การร้องการรำเพลงพื้นบ้านให้กับเด็กๆ วัยเรียน หรือแม้แต่อนุรักษ์ประเพณีเกี่ยวข้าว ด้วยการเป็นหมอทำขวัญข้าว และหมอทำขวัญข้าวขึ้นยุ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูเพื่อไม่ให้สูญหายแล้ว งานในวันว่างของเจ้าตัวคือการทำสวนทำไร่ ปลูกพริกปลูกผักสวนครัวปลอดภัยไว้กินไว้ขายเลี้ยงชีพ ที่สำคัญการได้ทำงานเมื่อวัยเข้าสู่วัยเกษียณนับเป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง ในฐานะคนรุ่นใหญ่ที่ต้องการถ่ายทอดสิ่งดีๆ ทั้งการร้องรำทำเพลงไปสู่คนรุ่นลูกหลาน เนื่องจากรักงานในด้านนี้

รวมถึงการทำงานเป็นจิตอาสาอย่าง อสม.ประจำหมู่บ้านมาหลายสิบปี ซึ่งทุกวันนี้ยังต้องเข้าไปส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ประจำอนามัยประจำหมู่บ้านเกี่ยวกับครอบครัวที่รับผิดชอบ ทั้งรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับครัวเรือนที่มีผู้พิการ โดยเจ้าตัวได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยม ไปชวนพูดคุย หรือแม้แต่รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการให้ความรู้การรับประทานอาหารอย่างถูกวิธีของผู้สูงอายุ ที่งานนี้เจ้าตัวบอกว่าทำด้วยความสุขและความเต็มใจ

  • ทุกวันนี้ป้าบุษอายุ 68 ปี แต่ก็มีความสุขกับการทำงานในรูปแบบต่างๆ ที่ได้รับ ทุกอย่างมันก็สลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปกันไปค่ะ เช่น เวลาที่ไปเป็นวิทยากรให้กับเด็กนักเรียนเกี่ยวกับการร้องรำทำเพลงพื้นบ้านนั้น หากว่าเด็กสนใจอยากเรียนอะไร ป้าบุษก็จะให้เขาเรียน เช่น ถ้าเด็กอยากรำ วันนั้นก็สอนรำไทย หรือเด็กอยากตีกลองยาว ก็จะสอนการตีกลองยาว หรืออยากร้องรำเหย่ยผสมเพลงแรป ป้าก็จะสอนตามที่เด็กร้องขอ อีกทั้งหากเด็กคนไหนเก่งด้านไหน ก็จะดึงตัวออกมาให้เป็นผู้นำกับเพื่อนในห้องเรียน สมมุติว่าเด็กคนนั้นรำสวย ป้าก็จะคัดเด็กออกมา และเวลาที่ทางผู้ใหญ่ในตำบลมีงาน และเชิญป้าบุษไปออกงานต่างๆ อาทิ งานเกี่ยวข้าวร้องเพลง หรือรำอวยพรต่างๆ ป้าก็จะพาเด็กที่มีความสามารถในด้านต่างๆ ไปออกงานด้วย เด็กๆ จะมีค่าขนมคนละ 200-300 บาท ที่สำคัญเด็กจะได้ประสบการณ์จากการออกงาน และได้แสดงความสามารถจริงๆ ด้วยค่ะ ตรงนี้เราก็รู้สึกดีใจ รู้สึกภูมิใจ ในการทำหน้าที่ของตัวเองในการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน ทั้งการร้อง การรำ ไม่ให้สูญหาย อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาดีๆ เหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบต่อไปค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"