(ลูกประ)
จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของภาคใต้ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์สวยงาม มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ชวนค้นหา และอาหารรสเด็ดหลายร้านที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ก็คือ หมู่บ้านคีรีวง ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นแหล่งโอโซนมีอากาศบริสุทธิ์ เพราะโอบล้อมด้วยภูเขา มีลำคลองธรรมชาติ นอกจากนี้ "เมืองคอน" ยังมีทะเล ถ้าไปที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอมก็จะเจอกับน้ำทะเลใสแจ๋ว หรือถ้าแนวบริโภคไปเที่ยวไปก็ต้องไปที่ร้านโกปี๋ ร้านกาแฟดัง ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง และยังมีอีกหลายจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
แต่วันนี้เราจะพาไปแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองคอน นั่นก็คือ "อำเภอนบพิตำ" หนึ่งในอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่ที่นี่กำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผ่านโครงการวิจัยประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวอำเภอนบพิตำสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมมือกับชาวบ้านในอำเภอนบพิตำ
อำเภอนบพิตำมีต้นทุนที่สำคัญ คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และยังมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการต่อสู้การปกครองในอดีตที่ยังคงมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ อีกทั้งยังมีความโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนที่นี่ยังคงหมุนไปอย่างช้าๆ ทำให้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวในสไตล์ที่ชอบ
(บรรยากาศหลาดทุ่งสง)
เส้นทางก่อนไปนบพิตำ เราแวะไปที่ตลาดอำเภอทุ่งสงที่เปิดมากว่า 2 ปี ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ในซอกตึก บนถนนชัยชุมพล ทอดตัวยาวกว่า 200 เมตร ด้านหน้าตลาด ถูกจัดให้เป็นลานการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของเยาวชน ด้านข้างยังมีห้องสมุดเคลื่อนที่ให้กับเด็กๆ ได้อ่านหนังสือที่ชอบ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจ ร้านค้าทั้งหมดจะขายโดยคนทุ่งสงเท่านั้น จำนวนกว่า 250 ร้าน ส่วนใหญ่เป็นอาหารพื้นบ้านภาคใต้ อย่าง ยาหนม ขนมโค ผักสด ขนมจีนน้ำยา ฯลฯ ยังมีจุดแยกขยะอย่างเป็นระเบียบ ที่นี่จะเปิดทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-21.00 น.
(ทำผ้าบาติกลายป่าประ)
วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางไปที่ บ้านสะพานราง ตำบลกะเหรอ อำเภอนบพิตำ ที่นี่เป็นบ้านของกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านสะพานราง ที่มีการพัฒนาลวดลายให้สวยงาม รวมไปถึง กลุ่ม ป.บาติก ที่ทำผ้าบาติก ซึ่งพัฒนาเพิ่มลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ป่าประ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่นที่มีอยู่มากในนบพิตำ และพรมเช็ดเท้าของกลุ่มสตรีท้ายทุ่ง ซึ่งทั้งหมดจะมีการพัฒนาต่อยอดต่อๆ ไปอีก เพราะเป้าหมายคือขายให้กับนักท่องเที่ยว
ต่อด้วยการแสดง "รำโทนนกพิทิด" หลายคนคงไม่เคยได้ยินมาก่อน ท่ารำนี้คิดค้นขึ้นโดย ครูแนบ ล่องลือฤทธิ์ ที่ออกแบบลีลาการรำคล้ายนกพิทิด ตัวผู้และตัวเมีย เกี้ยวพาราสีกัน ส่วนการแต่งตัวนักแสดง บนศีรษะจะสวมหัวนกพิทิดที่ชาวบ้านทำขึ้นมา สวมใส่กับชุดผ้าบาติกสีเขียวเหลืองสดใส โยกเป็นจังหวะพร้อมกับขับร้องเพลงที่แต่งเป็นเรื่องราวของนกพิทิด พร้อมกับดนตรีประกอบหลักคือ โทน ฉิ่ง และฉาบ จังหวะการรำเต็มไปด้วยท่วงท่าที่มีลักษณะคล้ายนกจริงๆ แต่อ่อนช้อย ดูแล้วก็สนุกสนานเพลิดเพลินไม่น้อย
(พรมเช็ดเท้าลายนกพิทิด และลูกประ)
ตัวนกพิทิดนั้นมีอยู่จริง บางที่เรียกว่า นกทึดทือ ลักษณะคล้ายนกเค้าแมว ลำตัวสีน้ำตาล มีลายกระสีขาว ขนคิ้วยาวเห็นชัดเจน ตาสีเหลืองและหากินในเวลากลางคืน ปัจจุบันก็ยังมีการพบนกพิทิดอยู่ในป่า ส่วนการรำโทนนกพิทิดจะใช้แสดงในงานสำคัญ หรืองานบุญ ผู้ที่สืบสานก็ยังมีน้อย ดังนั้นหัวหน้าคณะรำโทนนกพิทิด ชมรมผู้สูงอายุ จำนวน 13 คน ได้เผยแพร่การแสดงนี้ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่อไป
(ตาปาน ตำนานของถ้ำ)
เราเดินทางต่อไปที่ "ถ้ำเขานายปาน" บ้านนาแงะ ตำบลนาเหรง อำเภอนบพิตำ แต่เสียดายที่เข้าไปด้านในถ้ำไม่ได้เพราะฝนดันตกลงมาซะงั้น มองภายนอกถ้ำแห่งนี้ก็เหมือนถ้ำทั่วไปที่มีแมกไม้ปกคลุม แต่พอเดินมาอีกสักหน่อยจะเห็นรูปปั้นตาปานสีขาวโดดเด่นอยู่ด้านหน้า ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตาปานเป็นทหารของพระเจ้าตาก มาอาศัยอยู่ที่ถ้ำ มีการพบอาวุธต่างๆ ในถ้ำ และภายในถ้ำยังเชื่อกันว่ามีเหล็กไหลอีกด้วย อีกทั้งเส้นทางเดินถ้ำยังสามารถทะลุผ่านไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งได้ ซึ่งชาวบ้านได้มาช่วยกันพัฒนาดูแลให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวผจญภัย ดีกว่าถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง
(เช็กอุณหภูมิได้ด้วยนะ)
ได้เวลาไปผ่อนคลายร่างกายที่ "บ่อน้ำร้อนกรุงชิง" ตำบลกรุงชิง ที่นี่เป็นน้ำร้อนธรรมชาติที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ชาวบ้านตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์บ่อน้ำร้อนกรุงชิงขึ้น และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2552 บ่อน้ำร้อนที่นี่สามารถแช่ได้ทั้งแช่ตัว หรือจะแช่แค่เท้าก็ได้ อุณหภูมิร้อนไม่มาก ประมาณ 40 องศา ถ้าได้นั่งแช่ก็จะฟินมากๆ เพราะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สูดเอาโอโซนเข้าปอดไปได้เต็มๆ ส่วนราคาให้บริการ แช่ตัว 30 บาท แช่เท้า 10 บาท ใครไม่อยากแช่น้ำร้อนก็ไปล่องแก่งที่น้ำตกกรุงชิงก็ได้ด้วย
(ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ)
ในตำบลกรุงชิงยังมี "ศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ พออวด" พี่ไก่ วิลาวัลย์ จรรยาดี เล่าให้ฟังก่อนลงมือทำจริงว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นสีธรรมชาติที่มาจากต้นไม้ในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเน้นสีที่มาจากเถาวัลย์อวด ที่มาจากย่านอวด หรือเรียกว่าต้นอวด ที่ในพื้นที่มีเยอะ และด้วยคุณสมบัติที่เป็นเถาวัลย์เหนียว ชาวบ้านก็มักจะนำมาใช้มัดสิ่งของ แต่ตนได้ลองนำมาทดลองในการใช้เป็นสีย้อมผ้า ให้สีน้ำตาลธรรมชาติ และยังมีสีจากเปลือกลูกประ เม็ดมะปราง ความพิเศษยังอยู่ที่การเขียนเทียนเป็นลวดลายต่างๆ ได้อีกด้วย พอได้ลองลงมือทำจริง การเขียนเทียนจากแม่พิมพ์น่าจะง่ายสุดสำหรับเราแล้ว
(ต้นอวด และเถาวัลย์อวด ให้สีน้ำตาลธรรมชาติ)
จุดสุดท้ายเราจะไปกันที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขานันที่ 5 พื้นที่อุทยานเป็นป่าประที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดกว่า 5,000 ไร่ ผืนป่าเขียวขจี เพียงด้านนอกที่ตั้งสำนักงานเราก็จะเห็นว่าต้นไม้ที่ถูกผูกด้วยผ้าสีเหลือง หรือที่เรียกกันว่าบวชป่า ก็คือต้นประ ลำต้นสูงชะลูดที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ในการหาเก็บลูกประมาใช้เป็นอาหารด้วยการดอง จะได้เก็บไว้กินนานๆ
(นมประ)
แต่พอมีกลุ่มวิจัยเข้ามาพัฒนาให้องค์ความรู้ ร่วมพัฒนาไปกับชาวบ้าน ลูกประก็ถูกนำมาแปรรูปได้หลากหลาย อาทิ คุกกี้ประ นมประ ลูกประทอด ที่เราได้ชิมลูกประทอด อร่อยคล้ายแมคคาเดเมียเลย ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด ใครไปก็ไม่ควรพลาดนะ ทั้งจะมาลองชิมหรือทำมัดย้อม ติดต่อได้ที่ พี่ไก่ 09-0815-7584.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |