ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เคยได้ชื่อว่า เป็นพื้นที่สีแดงของจำนวนผู้ติดสุรา และขึ้นชื่อว่า มีภาษีสรรพสามิตมากที่สุดในตรังจากร้านเหล้ากว่า 10 ร้าน
แต่ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้เหลือร้านเหล้าเพียงร้านเดียว สิ่งที่น่าจับตามอง คือพวกเขาใช้วิธีใดในการแก้ปัญหาให้ตำบลแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปได้
นับเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่า กลไกการขับเคลื่อนสุขภาวะที่ใช้ในการช่วยเหลือของชุมชนแห่งนี้ได้ผล เพราะครอบครัวที่ดีย่อมทำให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุข หากเกิดปัญหาใดปัญหาหนึ่งขึ้นในครอบครัว สมาชิกต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้ครอบครัว ยังเป็นครอบครัวที่อบอุ่นดังเดิม
“ หนุ่มเลิกเหล้า สาวพักตับ” กลไกสำคัญของการงดเหล้าเข้าพรรษา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะงดเหล้าไปตลอดชีวิต โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดหล้า (สคล.) ริเริ่มโครงการรณรงค์ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เพื่อเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า โดยใช้แนวทางจากการสร้างชุมชนคนสู้เหล้า
“ ในชุมชนเมื่อก่อนคนดื่มเหล้าเยอะมากเกือบทุกบ้าน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ปัจจุบันชุมชนลดการดื่มเหล้าอย่างเห็นได้ชัด จากร้านเหล้า 10 ร้าน ตอนนี้มีร้านเหล้าในชุมชนเหลือเพียงร้าmนเดียวเท่านั้น และช่วงเข้าพรรษา ขายเหล้าไม่ได้ จนบางร้านต้องหยุดขาย เพราะไม่มีคนซื้อเหล้า ร้านเหล้าร้านเดียวก็ขายยาก เมื่อก่อนเปิดตลอด 24 ชม. ตอนนี้เปิดเพียงช่วงกลางวันเท่านั้น” นางพยอม หนูนุ่ม ชาวนาข้าวเสีย อ.นาโยง สมาชิกสาวพักตับ กล่าว
ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินงานขบวนการ "สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า" เธอเล่าถึงความเป็นมาของสาวพักตับ เริ่มแรกสามีดื่มเหล้า แล้วมีปัญหากับครอบครัว ตนเป็นจิตอาสา เริ่มจากกิจกรรมงดเหล้า เข้าพรรษา ปี 2557 ได้ชวนสาวๆ หมู่บ้านละ 5 คน จำนวน 50 คน ไปถวายเทียนพรรษา ปี 2558 เริ่มชวนหนุ่มๆ มางดเหล้า สามีมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ไม่สนใจ ทำงานต่อเนื่อง มีสาวๆ พักตับเพิ่มขึ้นทุกปี จนปี 2559 สามีหยุดเหล้าให้
“ ล่าสุดมีหนุ่มเข้าร่วมโครงการงดเหล้าในปีนี้ร่วมกว่า 60 คน สามีก็จะหยุดดื่มเหล้าให้ตลอดชีวิต ภูมิใจมาก ช่วงหลังไม่ค่อยมีปัญหาครอบครัว ตอนนี้เราตั้งเป็นชมรม หนุ่มงดเหล้า สาวพักตับ และเราจะทำต่อไปในตำบลอื่นและขยายไปยังอำเภอนาโยงให้ครอบคลุมทั้งอำเภอด้วย” นางพยอม กล่าว
ด้าน นางญาณี สรงสุวรรณ์ หนึ่งในสาวพักตับ เปิดใจว่า เข้าร่วมโครงการเครือข่ายงดเหล้าตั้งแต่ปี 2557 หลังจากนั้นมีการประชุมหารือ แลกเปลี่ยนความคิดที่จะชวนให้คนมางดเหล้าเข้าพรรษา และมีกลยุทธ์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สาวพักตับ ไปหาคนให้งดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2558 โดยให้เริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน ให้ใช้พลังของภรรยา พลังของแม่ ดึงคนใกล้ตัวที่เป็นนักดื่ม หรือบุตรที่กำลังเริ่มเป็นนักดื่มหน้าใหม่ มาเริ่มงดเหล้า ปีแรกทำไม่สำเร็จ เพราะสามีต่อต้าน ไม่ยอมเลิกเหล้าให้ จนปี 2559 พยายามให้สามีเลิกเหล้าให้ได้จึงชวนร่วมกิจกรรมรณรงค์ ในที่สุดสามียอมงดเหล้า มีเคล็ดลับ คือ ใช้ใจ ใช้ความรัก เน้นรักลูก รักครอบครัว เพราะคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำก่อน
“ อาจจะเป็นใจของเขาด้วยที่คิดได้ เลยหยุดเหล้าให้ ตอนแรกจะหยุดแค่เข้าพรรษาแต่หลังจาก 3 เดือนก็ไม่แตะเหล้าอีกเลยจนวันนี้ เหมือนได้ชีวิตครอบครัวใหม่ จากเดิมที่มีสามีกินเหล้า ชีวิตไม่มีความสุข มีแต่เรื่องเกิดขึ้นในครอบครัว ทะเลาะจนลูกร้องไห้ ลูกห้ามปรามก็ไม่ฟัง ดูเหมือนลูกเก็บกด และยิ่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นลูกก็เริ่มดื่ม เราเป็นนักรณรงค์ได้ดึงลูกกลับมาด้วย พอสามีเริ่มหยุดเหล้าได้ ปีต่อมาก็ชวนเพื่อนๆ บางส่วนยอมร่วมโครงการและงดเหล้าครบพรรษา ในวงเหล้าเมื่อมีคนงดเหล้า ที่เหลือก็ลด ไม่ดื่มหนักเช่นเคย ตอนนี้นักดื่มเหล้าขอร่วมโครงการกับเราเอง” นางญาณี เผยด้วยความดีใจ
เมื่อสามีเลิกเหล้าใหม่ๆ สาวพักตับ บอก ครอบครัวต้องทราบอาการของคนที่กำลังเลิกเหล้า เพื่อจะได้รู้วิธีปฏิบัติตัวต่อผู้ที่ต้องการเลิก เช่น ช่วงที่เลิกเหล้า ตอนแรกนั้นจะหงุดหงิด และตอนแรกจะดื่มๆ หยุดๆ จะต้องไม่ซ้ำเติมเมื่อเขาไปดื่มอีก เพราะเป็นอาการของคนที่เลิกดื่มตอนแรก ,ให้กำลังใจ อยากกินอะไรก็ซื้อให้กินเลย ต้องเตรียมน้ำหวานหรือขนมหวานไว้ เวลากลับมาบ้านหรืออยากเหล้า ก็ใช้ความหวานเป็นตัวช่วยลดความอยากเหล้าลง และเมื่อสามีหยุดเหล้าใหม่ๆ มีอาการหงุดหงิด ให้ลูกไปชวนพ่อคุย เมื่อตอนเลิกใหม่ๆ ต้องมีคนคอยประกบ โดยเฉพาะคนในครอบครัว เช่น จัดกิจกรรมที่จะทำในครอบครัวทุกเย็น เพราะว่าสามีจะดื่มเหล้าตอนเย็น ก็ต้องรีบทำอาหารให้เสร็จเพื่อจะได้กิน หากิจกรรมทำร่วมกัน ซึ่งเป็นเวลาที่เคยดื่มเหล้า เช่น ชวนไปออกกำลังกาย ไปปิกนิกนอกบ้าน
“ ที่นี่น่าสนใจ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงพักตับ พื้นที่อื่นเป็นผู้ชายที่หยุดเพื่อพักตับตนเอง เราเปลี่ยนมุม คือเน้นผู้หญิงที่มีอิทธิพลต่อครอบครัว เพราะฉะนั้น พ่อบ้านมีแนวโน้มที่จะทำตาม การที่สามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคได้ ลูกจะมีตัวอย่างที่ดี อนาคตของประเทศก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น “นางญาณี กล่าว
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสร้างตำบลปลอดเหล้าให้สำเร็จ ชุมชนจะต้องเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาและมีทางแก้ไข ชาว ต.นาข้าวเสีย พิสูจน์เรื่องนี้อย่างดี เพราะทนไม่ได้ที่เห็นเยาวชนจับกลุ่มดื่มเหล้า พ่อบ้านตั้งวงดื่มเหล้า และเกิดปัญหามากมาย จึงรวมตัวกันคิดว่าทำอะไรได้บ้าง และเอาผู้หญิงที่มีปัญหามาพูดคุยกัน สุดท้ายก็สามารถชนะปัญหาต่างๆ ได้ อย่างเรื่องการใช้เงินในกระเป๋าของครอบครัวไปซื้อเหล้า บุหรี่ พนัน ซึ่งบั่นทอนเศรษฐกิจครอบครัว ถ้าลด ละ เลิก ได้ครอบครัว จะมีความสุขมากขึ้น ลูกมีตัวอย่างที่ดี อนาคตก็จะไปในทางที่ดีขึ้น อย่างนาข้าวเสีย ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สีแดง มีคนติดสุราจำนวนมากก็ลดลงได้มากที่สุดในจังหวัด ตำบลนาข้าวเสียนับเป็นต้นแบบชุมชนที่ดีที่สามารถใช้กระบวนการ สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า ได้อย่างสำเร็จ เชื่อว่าเหนือสิ่งอื่นใดที่เป็นตัวหนุนเสริมที่สำคัญในกระบวนการนี้ คือความรัก ของ ทั้งหนุ่มเลิกเหล้า สาวพักตับ ที่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และคอยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในการงดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน จนกลายเป็น งดเหล้าตลอดชีวิตได้สำเร็จนั่นเอง