ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงฯข้องใจ 'กรมควบคุมมลพิษ' ละเลยฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้


เพิ่มเพื่อน    

9 ม.ค.63 - นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยว่า การดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งวางไว้แล้วเสร็จใน 1,000 วัน ตอนนี้เหลือเพียง 200 กว่าวัน ยังไม่มีการกำจัดมลพิษเลยแม้แต่น้อย  เป็นเพียงการพยายามย้ายมลพิษบางส่วน การดำเนินการที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ศาลปกครองสูงสุดให้กรมควบคุมมลพิษกำจัดตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ให้ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ซึ่งการ ”กำจัดมลพิษ” ตามหลักวิชาการที่กรมควบคุมมลพิษเคยดำเนินการที่ห้วยคลิตี้คือ ให้บริษัทกำจัดสารพิษนำของเสียไปกำจัดในโรงงานภายนอก โดยใช้ความร้อนทำให้สารพิษเสถียรไม่มีพิษ แล้วฝังกลบในพื้นที่ของบริษัท แต่การดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษตามโครงการฟื้นฟูฯ เป็นการ ”ย้ายมลพิษ” จากในลำห้วยบางส่วน ไปฝังกลบในป่าเหนือลำห้วยคลิตี้เท่านั้น  ไม่มีการนำไปกำจัดตลอดลำห้วย

นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา แกนนำชาวบ้านคลิตี้ล่าง กล่าวว่า มีพื้นที่อีกจำนวนมากที่ทางเหมืองแร่ตะกั่ว เอาของเสียจากการทำแร่มากองทิ้งไว้ ซึ่งของเสียเหล่านี้มองเห็นได้ชัดเจนเป็นดินละเอียดสีเหลือง บางพื้นที่ถมลำห้วยขนาดเล็กจนเต็ม เป็นพื้นที่หลายสิบไร่  จากการตรวจของกรมควบคุมมลพิษเองพบว่ามีตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในดินกว่าแสนมิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษประกาศคือ ตะกั่วในพื้นดินต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  แม้ทราบเรื่องนี้แต่กรมควบคุมมลพิษก็ยังไม่มีแผนกำจัดมลพิษในดินเหล่านี้

โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ เริ่มสัญญา 16 พฤศจิกายน 2560 สิ้นสุดสัญญา 13 สิงหาคม 2563 รวมเวลาดำเนินการ 1,000 วัน  โดยจะดูดตะกอนบางส่วนจากหน้าฝายดักตะกอน 4 ไปฝังกลบในหลุมฝังกลบ ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน 454,762,865.73 บาท

ด้านนายโจ่ก่องหล้า นาสวนบริสุทธิ์ ชาวบ้านคลิตี้ล่างที่เคยมีอาการบวมทั้งตัว เป็นโรคไต เป็นฝีในสมอง และพี่น้องที่ไปตรวจมีใบรับรองแพทย์ว่าเป็นโรคพิษสารตะกั่วเรื้อรัง กล่าวว่า การดำเนินการที่ผ่านมาทำไปเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลย กรมควบคุมมลพิษเคยบอกว่า จะเอามลพิษที่อันตรายจากบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ตะกั่วไปกำจัดภายนอก  ก็ไม่ได้เอาออก  ปล่อยไว้ที่เดิม ทำเพียงเอาดินมาปิดทับไว้เท่านั้น ซึ่งบ่อตะกอนนี้อยู่ติดกับลำห้วยคลิตี้ ถ้าฝนตกก็จะซึมไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้อีก

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พบว่ามีการนำหินที่ขุดจากการทำบ่อฝังกลบ ซึ่งขุดบริเวณบ่อหินผุที่เป็นพื้นที่ศักยภาพแร่ ใกล้ๆ เหมืองแร่บ่องาม เป็นแหล่งแร่ที่นำมาแต่งแร่ที่โรงแต่งแร่คลิตี้ นำมาถมถนนตลอดสายคลิตี้บนถึงคลิตี้ล่าง ระยะทางราว 12 กิโลเมตร  อาจเป็นการนำแร่ตะกั่วที่อยู่ใต้ดินออกมาแพร่กระจายสู่สาธารณะ กรณีนี้เป็นผลจากการแต่งแร่ตะกั่วของบริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรส ประเทศไทย จำกัด ที่ทำกิจกรรมแต่งแร่ตะกั่ว แล้วปล่อยมลพิษจากการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้  ทำให้ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่างที่ใช้น้ำในลำห้วยอุปโภคบริโภคเจ็บป่วยล้มตาย จนมีการฟ้องบริษัทผู้ก่อให้เกิดมลพิษ และฟ้องกรมควบคุมมลพิษที่ละเลยหรือล่าช้าไม่ทำหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดี(กรมควบคุมมลพิษ) กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี  และชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดี(ชาวบ้านคลิตี้ล่าง) เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท  ทั้งนี้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"