เหล่านักวิชาการป้องอนาคตใหม่ แสดงความกังวลกับบทบัญญัติ "ยุบพรรค" "ปริญญา" ไม่เห็นด้วยให้ศาล รธน.ใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุ “อาจจะ” ล้มล้างการปกครอง งง! เรื่องเงินกู้ก็ยุบพรรคได้ด้วย อาจารย์ มช.มาดุมาก! ท้ายุบไปเลย แล้วจะรู้ว่าความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมจะจบไปด้วย
เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ห้อง 201 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กลุ่มอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีการบัญญัติเรื่องเหตุจากการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว หรืออาจจะสั่งให้ยุบพรรค หรืออาจจะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยก็ได้ แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการนำคำนี้ออกจากรัฐธรรมนูญ และนำไปอยู่ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 แทน
เขากล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ในมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองระบุว่า ถ้ามีการกระทำที่ “อาจ” จะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ก็อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ ในส่วนนี้มีปัญหาที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญได้ และมีการให้ใช้ดุลยพินิจในการตีความกว้างเกินไป สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
"การให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจในการจะตัดสินใจยุบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ด้วยเหตุที่พรรคการเมืองนั้นเพียงแค่ “อาจจะ” เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นเรื่องที่กำกวมมากจนเกินไป และที่มากไปกว่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนมาตัดสินยุบพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนนั้นก็เป็นเรื่องที่ผิดหลักการเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุที่นิติบุคคลก็คือบุคคลที่มีชีวิตตามกฎหมาย การตัดสินยุบพรรคการเมืองที่เป็นนิติบุคคลก็ไม่ต่างจากการตัดสินประหารชีวิตบุคคลธรรมดา-หากการกระทำใดที่ศาลเห็นว่ามีปัญหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ก็น่าจะขอให้เขาเลิกการกระทำนั้นตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ก็เพียงพอแล้ว ให้ต่อสู้กันในสภาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า"
ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า กรณีของพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังเป็นกรณีศึกษาขณะนี้ มีสองเรื่องคือปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองก็เป็นตามที่ตนได้พูดไปแล้ว และเรื่องเงินกู้ ซึ่งตนยังกังขาว่าเป็นเหตุให้นำไปสู่การยุบพรรคได้ด้วยหรือ เพราะใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่มีการระบุว่าเงินกู้เป็นรายได้ของพรรคการเมืองได้ แต่ทั้งนี้ การบอกว่าเงินกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายตนว่าเป็นการไปไกลเกินไป
เพราะหลักกฎหมายมหาชนมีอยู่ชัด ว่าถ้าเป็นองค์กรของรัฐ สิ่งใดที่กฎหมายไม่ให้อำนาจไว้จะทำไม่ได้ แต่ระหว่างประชาชนด้วยกันต้องใช้กฎหมายแพ่ง ถ้าสิ่งไหนกฎหมายไม่ห้ามเอาไว้ย่อมทำได้ พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล เป็นการรวมตัวกันของพลเมือง ตามหลักกฎหมายแพ่งการไม่ห้ามแปลว่าทำได้ หลักมีอยู่แล้ว
“ถ้าวิเคราะห์กันในทางการเมือง พรรคอนาคตใหม่เราจะชอบหรือไม่ชอบ เลือกหรือไม่เลือกก็ตาม เป็นปฏิกิริยาต่อการที่ คสช.อยู่ในอำนาจนานเกินไป อย่าลืมว่าพรรคตั้งก่อนเลือกตั้งแค่ปีเดียว ถ้าความสุขจะกลับคืนมาไม่นานเหมือนสัญญาไว้ตอนยึดอำนาจใหม่ๆ ถ้าไม่มีการสืบทอดอำนาจ ก็คงจะไม่มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น คนเลือกพรรคอนาคตใหม่มีจำนวนไม่ใช่น้อย กว่า 6 ล้านเสียง ผมว่าให้สู้กันในสภาดีกว่า ถ้าการกระทำของเขามันไม่ถึงขั้นล้มล้างระบอบการปกครองมันไปถึงขั้นยุบพรรคไม่ได้ การกระทำตรงไหนที่มีปัญหาก็ไปบอกให้เลิกการกระทำก็พอ ให้สู้กันในสภาดีกว่า” ผศ.ปริญญากล่าว
ผศ.ปริญญายังกล่าวต่อว่า ข้อที่ตนเป็นห่วงคือสุดท้ายฝ่ายตุลาการต้องเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร นี่เป็นหลักการทั่วโลก ฝ่ายบริหารห้ามเลือกฝ่ายตุลาการ จะได้เกิดความเป็นกลางในการทำหน้าที่ แต่การที่ สนช.ที่มาจาก คสช.เป็นคนเลือกศาลรัฐธรรมนูญ และต่อไปนี้ ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งมาเช่นกัน จะเป็นคนเลือกศาลรัฐธรรมนูญต่อ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้กำลังจะกล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นกลาง แต่สิ่งนี้กำลังทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจต่อความเป็นกลาง
ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า บทบาทของอำนาจตุลาการที่เข้ามาในสังคมการเมืองไทยและพรรคการเมือง เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นหลังปี 2549 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้นศาลรัฐธรรมนูญยังคงจำกัดอำนาจของตนเองในการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือวินิจฉัยคดีการเมือง แต่หลังจากปี 2549 มา ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเข้ามามีบทบาทในคดีการเมืองต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปยุบพรรคการเมือง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน คดีนายสมัคร สุนทรเวช คดีแก้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น
แล้วทำไมพรรคอนาคตใหม่ถึงโดนคดีและมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราเห็นคือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ มีเป้าหมายอยู่ที่พรรคที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชนชั้นนำ ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่กระทบถึงประโยชน์และอำนาจของชนชั้นนำดั้งเดิมอย่างเป็นประจำ เช่น การเลิกเกณฑ์ทหาร การเข้าไปแตะงบประมาณกองทัพ ชนชั้นนำจึงเลือกที่จะใช้อำนาจตุลาการมาทำหน้าที่อีกครั้ง ส่วนอนาคตใหม่จะยุบหรือไม่ตนไม่รู้
รศ.สมชายกล่าวว่า เงื่อนไขของปี 2562-2563 ขณะนี้ ถ้าเทียบกับตอนยุบพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เงื่อนไขที่จะนำไปสู่การยุบหรือไม่ยุบ ตอนนั้นเกิดขึ้นได้เพราะมีอำนาจนำที่มีบารมีชี้นำไปในทางเดียวกัน แต่ตอนนี้อำนาจนำที่ชี้นำในสังคมไทยแตกต่างกันไป สิ่งที่น่าสังเกตคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่หมดอายุไป 5 คน และต้องพ้นจากตำแหน่ง เหตุใดจึงไม่มีการแต่งตั้งใหม่ ตนคิดว่าสิ่งนี้เป็นเพราะอำนาจนำที่มีบารมีแตกต่างออกไป การตั้งคนใหม่จึงไม่สู้น่าไว้วางใจเท่า
“ความชอบธรรมของผู้มีอำนาจตอนนี้กำลังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ถ้าถามใจผม ยุบไปเลย ถ้าเห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาต้องจัดการเลย อย่าปล่อยให้เกิดการแพร่กระจาย การกระทำแบบนี้ ยุบไปเลย แล้วจะได้รู้ว่าการยุบพรรคการเมือง จะไม่ได้ทำให้ปมปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมจบไปด้วย” รศ.สมชายกล่าว
รศ.โคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังมีความพยายามยุบพรรคการเมือง ซึ่งการยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมาผลเป็นอย่างไร เราก็ทราบมาแล้วว่ามันนำไปสู่ความยืดเยื้อ แต่พวกเขาก็ยังจะใช้วิธีการเหล่านี้ต่อไป
“พรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ดีรับฟังได้ ทำไมไม่เปิดพื้นที่ให้เขาดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีพรรคการเมืองเหล่านี้ ประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง อย่าไปพิฆาตเขาเลย” รศ.โคทมกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โพสต์ข้อความระบุว่า “ผมขอเรียนให้พ่อแม่พี่น้องทราบว่า ในวันศุกร์ที่ 10 มกราคมนี้ เวลา 15.00 น. ผมจะไปรายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาอันเกี่ยวกับการแสดงออกที่สกายวอล์กเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมยืนหยัดเคียงข้างต่อสู้กันมา” #ไม่ถอยไม่ทน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |