ธ.ก.ส.งัดสินเชื่อฉุกเฉิน-สินเชื่อฟื้นฟู 4 หมื่นล้านอุ้มเกษตรกรประสบภัยแล้ง นาปรังที่หนองคายหนีตาย จ้างสูบน้ำโขงเข้านาหวังหล่อเลี้ยงต้นข้าวจนออกรวง บุรีรัมย์ แหล่งน้ำดิบผลิตประปาน้ำแห้งขอดตื้นเขินสุดในรอบ 60 ปี กระทรวงเกษตรฯ เร่งผลิตหญ้าแห้งอัดก้อนเลี้ยงปศุสัตว์ใน 5 จังหวัดภาคกลางตอนบน
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า ธ.ก.ส.มีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นแล้ว ประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อการใช้จ่ายฉุกเฉิน และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากภัยแล้งปีก่อน ที่ขณะนี้ยังมีวงเงินเหลือจากปีก่อนอีกประมาณ 40,000 ล้านบาท จากกรอบที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติการช่วยเหลือในรอบปีบัญชี 2562-2564 ไว้เดิม 55,000 ล้านบาท ฉะนั้นจึงมั่นใจว่าวงเงินดังกล่าวจะเพียงพอต่อการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแน่นอน ในเบื้องต้นได้สั่งการให้ ธ.ก.ส.พื้นที่ลงสำรวจความเสียหายของเกษตรกรทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะสรุปตัวเลขความเสียหายดังกล่าวได้ภายในเดือน ม.ค.นี้ และจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ภายในเดือน ก.พ. หรือแล้วแต่รอบการผลิตของเกษตรกร
“ธ.ก.ส.พื้นที่จะสำรวจผู้ที่เสียหายใหม่ว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่คาดการณ์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ประสบภัยเดิม และได้รับความช่วยเหลือในรอบปีบัญชีก่อนแล้ว แต่หากสำรวจพบผู้เสียหายรายใหม่ ธ.ก.ส.ก็จะขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเพื่อให้ครบรอบเวลาในการให้ความช่วยเหลือ 3 รอบปีบัญชี” นายสมเกียรติกล่าว
ปัจจุบันลูกค้าเกษตรกรของ ธ.ก.ส.ที่อยู่ในภาคเหนือตอนล่างมีกว่า 3 แสนราย และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1 ล้านราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งในทุกๆ ปี
สถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดหนองคาย ทำให้ในช่วงนี้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่สูบน้ำจากแม่น้ำโขงหลายแห่ง ได้เร่งสูบน้ำส่งให้กับเกษตรกรในพื้นที่บริการที่ช่วงนี้มีความต้องการใช้น้ำมาก ทั้งนี้ สถานีสูบน้ำบ้านเนินพระเนาว์ ที่ดำเนินการโดยเทศบาลเมืองหนองคาย ต้องสูบน้ำโขงส่งให้เกษตรกรในเขตพื้นที่บริการกว่า 2,000 ไร่ทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาปรัง ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่ข้าวกำลังเจริญเติบโต มีความจำเป็นต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงมาก แม้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำชั่วโมงละ 80 บาท เป็นการเพิ่มต้นทุนในการทำนาก็ตาม
ขอนแก่น ที่บ้านห้วยเตย ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น นายสมบัติ มีลักษณะสม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานขอนแก่น ลงพื้นที่พบปะประชาชนและตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างห้วยเตย พร้อมนำรถติดป้ายประชาสัมพันธ์และเครื่องขยายเสียงวิ่งประชาสัมพันธ์รอบๆ หมู่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า นายสมบัติกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยเตยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 760,000 ลูกบาศก์เมตร จากปริมาณความจุ 5.34 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้เพียง 460,0000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝน
บุรีรัมย์ น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดฝั่งพื้นที่ ต.สะแกซำ อ.เมืองบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตประปาหล่อเลี้ยงเขตตัวเมืองบุรีรัมย์ และผลิตประปาหลายหมู่บ้าน รวมทั้งใช้เพื่อการเกษตร มีสภาพตื้นเขินสุดในรอบ 60 ปี บางจุดแห้งขอดจนมองเห็นเนินดินและตอไม้โผล่กลางอ่างเป็นบริเวณกว้าง ปัจจุบันเหลือน้ำในอ่างเพียงประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณความจุอ่างกว่า 27 ล้านลูกบาศก์เมตร จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำผลิตประปา และวิถีชีวิตชาวบ้านที่อาศัยแหล่งน้ำดังกล่าวในการหาปลาเพื่อนำไปบริโภค และขายตามตลาดเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว
ชัยนาท สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้เพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จาก 85 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อส่งน้ำไปช่วยผลักดันน้ำเค็มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 8-10 มกราคมนี้ โดยใช้เวลา 3 วัน น้ำจะไหลไปถึงกรุงเทพมหานคร จึงขอให้ประชาชนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทไปจนถึงจังหวัดปทุมธานี งดสูบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไปใช้เพื่อการเกษตร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขื่อนเจ้าพระยาจะระบายน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีผลกระทบกับปริมาณน้ำด้านเหนือเขื่อน แม้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนมีน้อยและมีแนวโน้มลดลง ยังสามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งเจ้าพระยาได้ ไม่กระทบกับน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานจะรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไว้ไม่ให้ต่ำกว่าระดับ 14.00 เมตร (รทก.) เพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านประตูระบายน้ำต่างๆ ทั้งสองฝั่งเจ้าพระยาได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ
พิจิตร นางจรุณี ดำช่วย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์พิจิตร กล่าวถึงแผนการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้รับนโยบายจากกรมปศุสัตว์ กระทวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรผู้ทำอาชีพเลี้ยงสัตว์ประเภทโค กระบือ แพะ แกะ เกรงว่าฤดูแล้งในปีนี้สัตว์เลี้ยงอาจประสบปัญหาขาดแคลนพืชอาหารที่อยู่ในธรรมชาติซึ่งเกิดจากวิกฤติภัยแล้ง ที่คาดว่าน่าจะแล้งหนักยาวนานไปถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ดังนั้นในช่วงนี้ ศูนย์วิจัยฯ จึงได้เร่งผลิตหญ้าแห้งอัดก้อนที่มีเป้าหมายการเนินการจำนวน 220 ตัน เพื่อเตรียมพร้อมในการแจกจ่ายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, พิษณุโลก, อุทัยธานี โดยขณะนี้ได้ดำเนินการพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว อีกทั้งยังมีหญ้าแห้งอัดก้อนอยู่ในสต๊อกที่เป็นของเก่าอีก 100 ตัน สรุปโดยรวมจึงมีหญ้าแห้งอัดก้อนรวม 320 ตัน ซึ่งจะสามารถเลี้ยงโค กระบือได้มากถึง 48,000 ตัว ซึ่งหญ้าแห้งอัดก้อน 1 ก้อน สามารถเลี้ยงโค กระบือได้ 3 ตัวต่อ 1 วัน จึงมั่นใจว่าแล้งนี้ โค กระบือ แพะ แกะ จะไม่ขาดแคลนอาหารอย่างแน่นอน หากเกษตรกรท่านใดสนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.08-7294-3049 ในวันและเวลาราชการ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |