สถานการณ์ความขัดแย้งที่เดินหน้าสู่ความรุนแรงระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ภายหลังการลอบสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานี ของอิหร่าน เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายต่างจับตามองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะก้าวไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่
ในขณะที่มุมมองด้านเศรษฐกิจ ก็เริ่มมีคำถามตามมามากมายว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับภาพรวมเศรษฐกิจโลก ที่เดิมๆ ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการกีดกันทางการค้าจนเป็นผลทำให้ภาพรวมการค้าโลกชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา
โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานจับตาสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดว่าเหตุการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางใด “อุตตม สาวนายน” รมว.การคลัง ระบุว่า ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น จึงยังพูดไม่ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง แต่ความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลกระทบนั้นมีอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแค่กับไทยเท่านั้น เป็นกับทั้งโลก ขณะที่ปัจจัยบวกก็ยังมีอยู่ จากการคาดการณ์แนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2563 จะขยายตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่คาดกันว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่ยังมองว่า อาจจะเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบที่เกิดจากความขัดแข้งของ 2 ประเทศ คือ สหรัฐและอิหร่าน ว่าจะรุนแรงและลุกลามบานปลายไปในทิศทางใด โดยอาจจะต้องรอดูท่าทีของทั้ง 2 ประเทศก่อน
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เอง โดย “พิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค และสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน ไปจนถึงตลาดทุนทั้งของไทยและทั่วโลก โดยในระยะสั้นที่เห็นชัด คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้นักลงทุนส่วนใหญ่หันไปถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากกว่า ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาทองคำมีการปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ระยะกลางและระยะยาว ประเมินว่าเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน รวมถึงอาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเล็กน้อย แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปีนี้น่าจะปรับตัวได้ดีขึ้น ด้วยเพราะยังมีปัจจัยบวกด้านอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบจากความรุนแรงระหว่าง 2 ประเทศ แต่หากเกิดการตอบโต้กันรุนแรงมากขึ้น จนมีการปิดเส้นทางเดินเรือ ก็อาจจะเป็นผลทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไปอีก
“สถานการณ์ความไม่สงบจะเพิ่มความท้าทายในการฟื้นฟูตลาดส่งออกในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิรัก อิหร่าน และตลาดแอฟริกาที่มีประเทศในตะวันออกกลางเป็นช่องทางการค้าให้สินค้าไทย แต่ก็ยังเชื่อว่าจะอยู่ในวิสัยที่สามารถหาแนวทางขยายการค้าได้”
ขณะที่ภาคเอกชน โดย “กลินท์ สารสิน” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความผันผวนของค่าเงิน อีกทั้งยังมีปัจจัยลบใหม่จากความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง จากกรณีสหรัฐและอิหร่าน ที่หากสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงดังกล่าวตึงเครียดและยืดเยื้อ ก็อาจมีผลทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า นโยบายการเงินเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น ท่ามกลางราคาน้ำมันพุ่งจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน โดยข้อมูล ณ วันที่ 6 ม.ค.2563 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 7% แตะระดับ 70.5 สหรัฐต่อบาร์เรล และจากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อว่า สหรัฐและอิหร่านจะมีแผนปฏิบัติการทางทหารต่อจากนี้ในรูปแบบใด ซึ่งไม่ว่าสหรัฐหรืออิหร่านจะช่วงชิงความได้เปรียบในการโจมตีกองกำลังทหารของอีกฝ่ายก่อน เรื่องดังกล่าวก็มีทีท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยยังขึ้นอยู่กับระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และระยะเวลาที่ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง
อย่างไรก็ดี จากการประเมินเบื้องต้น หากราคาน้ำมันดิบดูไบยืนที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้น 0.75% นั่นหมายถึงเงินเฟ้อทั่วไปจะขยับขึ้นมาเป็น 1.15%-1.65% ในขณะที่จะมีผลต่อจีดีดีประมาณ 0.08%.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |