ก้าวข้ามวิกฤติแก้ รธน. เกมประนีประนอมอย่างมีเงื่อนไข


เพิ่มเพื่อน    

                เกมการเมืองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นมูฟเมนต์สำคัญ ได้ดำเนินมาถึงจุดที่หลายฝ่ายออกอาการสบายใจ หายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น

                อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานของสภาผู้แทนราษฎรอันเกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือของพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงส่งท้ายปีเก่า 2562 นั่นคือ

                เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้ผ่านการลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ 445 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ภายหลังจากอภิปรายมา 2 วัน 

                โดยก่อนหน้านั้นเกิดการงัดข้อประลองกำลัง ส.ส.ในฟากฝ่ายของตนชนิดข้ามสัปดาห์ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล กรณี ส.ส.ฝ่ายค้านลงคะแนนได้เสียงมากกว่า ส.ส.ฝ่าย รัฐบาล ให้ตั้งคณะกรรมาธิการไปตรวจสอบผลกระทบจากคำสั่ง ประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. แต่ฝ่ายรัฐบาลแก้เกมด้วยการจะให้นับคะแนนใหม่ ฝ่ายค้านจึงมีการวอล์กเอาต์เพื่อไม่ให้ครบองค์ประชุม จะได้ไม่ต้องนับคะแนนใหม่ สุดท้ายฝ่ายค้านก็แพ้ไปตามระเบียบ

                มาถึงคิวรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนฯ ตั้งคณะกรรมาธิการฯ จำนวน 49 คน แบ่งกันไปตามสัดส่วนของ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายคณะรัฐมนตรี กำหนดกรอบเวลาไว้ 120 วัน

                มีข้อน่าสังเกตบางประการ ประการแรก แม้ฝ่ายค้านจะได้ที่นั่งน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล + ฝ่ายคณะรัฐมนตรี แต่ดูรายชื่อแล้วก็ล้วนแต่เป็นตัวกลั่นๆ ทั้งนั้น อาทิ นายปิยบุตร แสงกนกกุล, นายรังสิมันต์ โรม, นายโภคิน พลกุล, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายวัฒนา เมืองสุข, นายสุทิน คลังแสง, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นต้น

                แถมยังได้ขุนศึกจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นตัวช่วยให้พอมีลำหักลำโค่นมากขึ้น เช่น นายเทพไท เสนพงศ์, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รวมทั้งนายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา

                ประการที่สอง ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคณะรัฐมนตรีได้ส่งขุนพลประเภท “ขาลุย” มาประดาบชนิดหมัดต่อหมัดกับฝ่ายค้านเต็มที่ อาทิ นายสิระ เจนจาคะ, นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้บริหารจากเครือ เดอะเนชั่น - อดีตแกนนำ กปปส.

                เสริมทัพเต็มพิกัดพร้อมจะปะทะประเด็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วยการส่งคนที่เคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานมาร่วมวงศ์ไพบูลย์เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านผ่านด่านคณะกรรมาธิการไปได้ง่ายๆ ประกอบด้วย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

                ภายใต้ข้อจำกัดของเวลาที่กำหนดไว้ 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคมเป็นต้นมา เมื่อคณะกรรมาธิการเดินหน้าทำงาน ซึ่งก็คือการประชุมอย่างต่อเนื่อง มาล้อมวงถกแถลงแลกเปลี่ยนความเห็นกันในการศึกษาหาแนวทางให้ได้ข้อสรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ควรจะมีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างไร

                พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่พอใจหลักเกณฑ์ วิธีการการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 256 ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงกระทำแทบไม่ได้ เพราะวางเงื่อนไขให้ ส.ว.ต้องลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด

                ก็ในเมื่อ ส.ว.ก่อกำเนิดด้วยน้ำมือของ คสช. ส่วน ส.ว.ย่อมรู้บุญคุณคนแต่งตั้ง จะไปทรยศหักหลังย่อมเป็นไปไม่ได้

                นี่เองเป็นปมเงื่อนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มต้นที่การแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้คำว่า ต้องสะเดาะกุญแจตรงนี้ก่อน

                โดยในชั้นแรกนี้ มาศึกษากันก่อนว่าควรแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะถูกออกแบบให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนกับในอดีตเคยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วเมื่อปี 2540 และ 2550

                ปัญหาก็คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร.จะได้มาอย่างไร จะให้ ส.ส.และ ส.ว.ชุดปัจจุบันมีส่วนคัดเลือก เหมือนที่เคยลงมติเลือก ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ดีหรือไม่ หรือจะเอาอย่างไร

                สิ่งที่อาจจะขลุกขลักติดขัด น่าจะอยู่ที่วุฒิสภาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการคณะกรรมาธิการชุดนี้

                แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาที่รัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” วางทุ่นระเบิดปูทางเอาไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.คือ การให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐ มนตรีในระยะ 5 ปีของการมีวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาก็ได้เทคะแนนเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ ได้สมใจนึกตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

                รวมทั้งอำนาจหน้าที่อื่นๆ ของวุฒิสภา การดำรงสถานะการเป็น ส.ว.ที่ต้องอยู่ในวาระไปจนครบ 5 ปี และการสรรหาและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระต่างๆ ห้ามมีใครมาแตะต้องเป็นอันขาด

                นี่คือประเด็นที่ฝ่ายอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเผชิญกับแรงต้านและไม่ได้คะแนนโหวตจาก ส.ว. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะ “สั่งการ” ให้ ส.ว.ยอมผ่อนปรนลงบ้างหรือไม่

                คณะรัฐมนตรียังประกอบไปด้วย พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนามาร่วมด้วย และนโยบายรัฐบาลก็เขียนไว้ชัดเจนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

                การศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการต้องรับฟังความเห็นประชาชนด้วย ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง การคิดคะแนน ส.ส.และปาร์ตี้ลิสต์ ฯลฯ คุณสมบัติเทพขององค์กรอิสระ ที่หาคนมีความสามารถเข้ามาทำงานได้จำกัด

                ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะต้องมาพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร โอกาสจะเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญคงจะยากหากทุกฝ่ายประนีประนอมอำนาจกัน.

 พระรามเก้าโพสต์ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"