โลกใกล้สงครามใหญ่ มากที่สุดในหลายสิบปี!


เพิ่มเพื่อน    

 

              ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านวันนี้แขวนอยู่บนเส้นด้ายจริงๆ เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ภายใต้บรรยากาศแห่งการเผชิญหน้ารอบนี้

                อิหร่านชักธงสีเลือดประกาศ "เลือดต้องล้างด้วยเลือด"

                นายทหารอิหร่านที่ปรึกษาของผู้นำสูงสุดยืนยันผ่านซีเอ็นเอ็นว่า ฝ่ายความมั่นคงของอิหร่านมีแผนโจมตี "ที่ตั้งทางทหาร" ของสหรัฐฯ เป็นการแก้แค้น

                นักการเมืองอิหร่านคนหนึ่งประกาศว่าจะต้องบุกถล่มทำเนียบขาวจึงจะ "สาสม" กับความแค้น

                ชาวอิหร่านนับล้านร่วมไว้อาลัยนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ "คุดส์" เป็นเวลา 3 วัน สะท้อนถึงความเป็น "วีรบุรุษ" ของเขาในสายตาของคนอิหร่าน

                ผู้จัดงานศพเรียกร้องขอรับเงินบริจาคคนละ 1 ดอลลาร์ให้ได้ 80 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 2,400  ล้านบาทเป็น "ค่าหัว" ของโดนัลด์ ทรัมป์

                พลตรีฮอสเซ็น ซาลามี ผู้บัญชาการกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ประกาศว่าได้วางยุทธศาสตร์ล้างแค้นไว้แล้ว

                หนึ่งในเป้าหมายคือจะต้องไม่ให้ทหารสหรัฐฯ อยู่ในภูมิภาคนั้นอีกต่อไป

                รัฐสภาอิรักมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขับไล่อเมริกาออกนอกประเทศ

                ทรัมป์สวนกลับด้วยการบอกว่าถ้าอิรักขับไล่ทหารอเมริกัน เขาก็จะตอบโต้ด้วยมาตรการ "คว่ำบาตร" อย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

                ถามว่าอิหร่านมีความสามารถในการสู้รบมากน้อยเพียงใดหากตัดสินใจจะเปิดศึกกับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ

                คำตอบคืออิหร่านคงจะเลือกวิธีการที่ตนเองได้เปรียบมากกว่าจะเป็นการเปิดสงครามเต็มรูปแบบ

                นั่นคือการเลือกที่จะโจมตีจุดที่ตั้งทางทหารของสหรัฐฯ ในส่วนต่าง ๆ ของโลก และหากทำได้ก็คงจะ "เด็ดหัว" ผู้นำทางทหารของสหรัฐฯ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

                เพื่อยืนยันแผน "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ให้คนอิหร่านมีความมั่นใจในความจริงจังของผู้นำของเขาเอง

                แสนยานุภาพทางทหารของอิหร่านเองเป็นเช่นไร

                บีบีซีเก็บข้อมูลที่น่าสนใจให้เห็นภาพเปรียบเทียบความสามารถในการทำศึกสงคราม

                สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ของอังกฤษประเมินว่า อิหร่านมีทหารที่พร้อมประจำการรบ 5 แสน 2 หมื่น 3 พันนาย

                จำนวนนี้รวมถึงทหารในกองทัพปกติ 3 แสน 5 หมื่นนาย และอีกอย่างน้อย 1 แสน 5 หมื่นนาย ในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม หรือไออาร์จีซี (IRGC หรือ Iran Revolutionary Guard Corp)

                นอกจากนี้ยังมีกำลังพลของไออาร์จีซีอีก 2 หมื่นนาย มีภารกิจหลักคือใช้เรือรบลาดตระเวนในช่องแคบฮอร์มุซ

                นี่คือจุดที่เกิดการเผชิญหน้ากับเรือบรรทุกน้ำมันต่างชาติหลายครั้งในปีที่ผ่านมา

                บีบีซีรายงานว่าไออาร์จีซีถูกก่อตั้งเมื่อ 40 ปีก่อน เพื่อพิทักษ์ระบอบอิสลามในอิหร่าน และได้กลายเป็นกองทัพขนาดใหญ่ ขั้วอำนาจการเมือง และผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของอิหร่าน

                แม้ว่าไออาร์จีซีจะมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพหลักของอิหร่าน แต่ถือว่าเป็นหน่วยรบที่มีพลังอำนาจบารมีสูงสุด

                หน่วยรบพิเศษ Quds ที่นำโดยนายพลสุไลมานีทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการลับในต่างประเทศให้ไออาร์จีซี ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดอิหร่าน อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี

                กำลังของหน่วยคุดส์มีประมาณ 5,000 นายที่ถือว่าฝึกปรืออย่างเข้มข้น มีความสามารถสู้รบอยู่ในระดับสูง เรียกกันเสมอว่าเป็น elite force

                บีบีซีบอกว่าหน่วยรบพิเศษ "คุดส์" ถูกส่งไปปฏิบัติการในซีเรีย ให้คำแนะนำทางการสู้รบกับกองกำลังที่ภักดีต่อประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดของซีเรีย และกองกำลังติดอาวุธชาวมุสลิมชีอะห์อย่างเหนียวแน่นมาตลอด

                แต่ในสายตาของอเมริกาหน่วยรบพิเศษนี้มีภารกิจทางลับมากกว่านั้นมาก...ไม่ว่าจะเป็นการให้การสนับสนุนเงินทุน การฝึกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้องค์กรในตะวันออกกลางที่วอชิงตันขึ้นบัญชีดำเป็นองค์กรก่อการร้าย

                ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยคุดส์กับกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักวิเคราะห์ทางทหารของตะวันออกกลาง

                แต่เมื่ออิหร่านประกาศ "ฉีก" ข้อตกลงเรื่องหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ และยุโรปที่ลงนามเมื่อปี 2015 หลังเหตุการณ์สังหารนายพลสุไลมานี ก็ย่อมแปลว่าประเทศนี้พร้อมจะใช้อาวุธร้ายแรงเพื่อยืนยัน "แผนแก้แค้น" อย่างเต็มพิกัด.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"