(คนวัยเกษียณยุคใหม่ต่างเทใจใช้ถุงผ้าลดโลกร้อน)
การรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกมาแรงถึงขั้นมีการแชร์ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการประยุกต์อุปกรณ์ใส่ของขณะไปช็อปปิ้งในร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่งานนี้ทั้งแปลกและเรียกเสียงหัวเราะได้ไม่น้อย เนื่องจากบางคนเตรียมตัวไม่ทันเมื่อต้องโบกมือลาถุงพลาสติกเวลาไปซื้อของ และจริงอยู่ที่ไอเดียของคนสมัยก่อน อย่างการใช้วัสดุจากธรรมชาตินำมาบรรจุหรือห่อสิ่งของและอาหาร อาทิ ตะกร้าสาน ชะลอม ใบตอง เชือกกล้วย ฯลฯ ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ทว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไปอาจทำให้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้หาได้ยากมากขึ้น งานนี้คนรุ่นตายายไม่ยอมตกกระแส มาร่วมโหวตให้รู้ว่าภาชนะที่สำหรับใส่ของที่มาแรงในช่วงกระแสรณรงค์รักษ์โลกนี้เป็นอะไร…ไปดูกัน
ป้านิด (นามสมมุติ) วัย 66 ปี บอกว่า “สมัยตอนที่ป้ายังสาวๆ นั้น ก็ไม่มีถุงพลาสติกใช้กัน เวลาที่ไปซื้อของที่ตลาดก็จะมีถุงกระดาษสำหรับใส่เสื้อผ้า หรือบางครั้งก็หิ้วตะกร้าสานไปซื้อผัก ซื้อหมู หรือหากเป็นอาหารสดก็จะใส่ปิ่นโต หรือถ้าจะซื้อน้ำแข็งก็จะหากระติกน้ำเล็กๆ หรือกระป๋องนมข้นที่ใช้หมดแล้วล้างให้สะอาดและเอาไปใส่น้ำแข็ง ส่วนข้อดีของการใช้ถุงพลาสติกก็มีอยู่ในแง่ของการใส่กากของเสียหรืออาหารที่กินไม่หมด แล้วเทรวมใส่ถุงเพื่อนำไปทิ้งขยะ แต่ถ้ายังใช้ถุงพลาสติกใส่ของกันอยู่ แน่นอนว่าก็อาจทำร้ายธรรมชาติต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ”
(รุณ แสงกล้า)
ขณะที่ คุณป้ารุณ แสงกล้า วัย 65 ปี บอกว่า “ถุงผ้า” เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญของคนยุคนี้ เพราะข้อดีซื้อครั้งเดียวสามารถใช้ได้หลายครั้ง อีกทั้งสถานที่ต่างๆ ก็หันมาใช้ถุงผ้ากันหมดแล้ว “ป้าคิดว่าการใช้ถุงผ้าเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับคนยุคนี้ เพราะอันที่หนึ่งมันสามารถซักให้สะอาดและนำมาใช้ซ้ำหลายๆ ครั้งได้ อีกทั้งไม่อันตรายต่อโลกใบนี้ ทุกวันนี้เวลาที่ป้าไปหาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านย่านพระสมุทรเจดีย์ เขาก็ใช้ถุงผ้ากันเกือบทุกโรงพยาบาลแล้วค่ะ นอกจากนี้ ถุงผ้าใบเดียวสามารถใส่ของได้เยอะมากค่ะ เพราะถ้าเป็นถุงพลาสติกเมื่อใส่ของหนักๆ ครั้งเดียวก็ทะลุฉีกขาดแล้วค่ะ”
(ภาชนะจากธรรมชาติ ใช้อย่างถูกวิธีและใช้อย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน ทางเลือกของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลกของคนรุ่นใหม่ในอนาคต)
ถามถึงภาชนะอื่นๆ สมัยที่คุณรุ่นย่าคุณยายคุ้นเคยอย่าง ใบเตย เชือกกล้วย ปิ่นโต ฯลฯ นั้น ป้าเฮี้ยง วัย 60 ปี บอกว่า “ภาชนะรักษ์โลกนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ทว่าหาได้ค่อนข้างยากในปัจจุบัน ดังนั้นการพกถุงผ้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะหาได้ง่าย อีกทั้งมีความทนทาน ต่างจากถุงพลาสติกที่ฉีกขาดได้ง่าย และย่อยสลายได้ยาก ส่วนตัวเวลาที่ซื้อของและแถมถุงผ้าก็จะเก็บไว้ใช้ ส่วนภาชนะที่คนสมัยก่อนใช้ อย่างใบตอง ตะกร้าสานต่างนั้น นอกจากถือหรือพกพาลำบากแล้ว ในปัจจุบันก็มักจะหาได้ค่อนยาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในสังคมเมืองค่ะ”
(ธนโชติ สระสมศรี)
ด้าน คุณลุงธนโชติ สระสมศรี วัย 62 ปี บอกคล้ายกันว่า “ถุงผ้า” ถือได้ว่าเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตเวลาไปซื้อของในปัจจุบันนี้ เพราะพกง่ายและใช้ได้ค่อนข้างนาน และหากต้องการให้ภาชนะจากธรรมชาติใช้ได้จริงนั้น จำเป็นต้องมีการใช้เกิดความเคยชิน จึงจะเป็นข้อปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เจ้าตัวเล่าว่า
“ทุกวันนี้เวลาจะไปซื้อของก็จะพกถุงผ้าติดตัวตลอด หากว่าของที่ซื้อเป็นของแห้งสามารถใส่ถุงผ้าได้ นอกจากนี้ก็จะพกถุงพลาสติกเก่าที่ใช้แล้วสำหรับใส่ขวดน้ำดื่มหรืออาหารเปียก และใส่ในถุงผ้าอีกทีหนึ่ง และถ้าถามว่าภาชนะแบบเก่าที่ทำจากธรรมชาตินั้นก็เป็นสิ่งที่ดีมาก เช่น ใบตอง ตะกร้าหวายสาน แต่ถ้าอยากจะให้คนรุ่นใหม่ใช้วัสดุเหล่านี้จริง จะต้องทำให้เกิดความเคยชินและใช้อย่างสม่ำเสมอ จึงจะทำให้ภาชนะรักษ์โลกเกิดการใช้อย่างจริงจังและยั่งยืนในหมู่ของคนรุ่นใหม่ครับ”
(ป้าปอง)
ไม่ต่างจาก คุณป้าปอง วัย 68 ปีที่ยกให้ “ถุงผ้า” เป็นอาวุธประจำกาย ที่ไม่ว่าไปไหนมาไหนก็ต้องพกเป็นประจำ ที่สำคัญเจ้าตัวใช้ถุงผ้าในการช่วยลดโลกร้อนมานานหลายปีแล้ว บอกว่า “ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้แทนถุงพลาสติกอย่างวัสดุธรรมชาติอย่างอื่น อาจจะไม่ค่อยสะดวกในการพกพาและหาได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเป็นปิ่นโตเพื่อใส่อาหารก็สามารถใช้ได้ แต่อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังขณะถือ เพราะอาหารอาจจะหกเลอะเทอะได้ แต่ส่วนตัวป้าคิดว่าถุงผ้าเป็นอะไรที่โอเคมากที่สุดแล้ว เพราะสามารถใช้ได้หลายครั้งค่ะ”
ทว่า “ถุงผ้า” ยังเป็นหีบห่อที่มาแรงแซงทางโค้ง เนื่องจากวัสดุที่ใช้แทนถุงพลาสติกในรูปแบบของธรรมชาติ ไม่เพียงหาได้ยากในยุคนี้ แต่การนำมาใช้อย่างปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคยังเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขไปพร้อมๆกัน มุมมองจาก คุณลุงสมพงษ์ แซ่โค้ว วัย 60 ปี ที่บอกว่า
(สมพงษ์ แซ่โค้ว)
“ถุงผ้าดีที่สุดครับ เพราะสามารถซักให้สะอาดและนำมาใช้ได้หลายครั้ง ที่สำคัญซื้อ 1 ใบ ใช้ได้เกือบ 1 ปี ในส่วนของภาชนะจากธรรมชาติมันค่อนข้างหาได้ยาก เช่น ใบตอง ที่หากนำมาใช้จริง และร้านค้าต่างๆ นั้นไม่ทำความสะอาด หรือไม่ล้างใบตอง ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่ใส่หีบห่อที่ไม่สะอาด ยกตัวอย่างร้านขายอาหารบางร้านที่ไม่ล้างผักก่อนปรุงอาหาร เป็นต้น ทั้งที่ความจริงแล้วต้องแช่ล้างให้สะอาดเป็นเวลา 15 นาที ส่วนตะกร้านั้นก็หาได้ยากเช่นกันครับ เพราะคิดง่ายๆว่าเด็กยุคใหม่หรือผู้สูงวัยยุคใหม่หลายๆ คนก็สานตะกร้าไม่เป็น จึงทำให้ภูมิปัญญาด้านงานฝีมือค่อนข้างจะใกล้สูญหายไป ดังนั้นใช้ถุงผ้าเพื่อใส่ของเป็นสิ่งที่เหมาะกับยุคสมัยมากครับ หรือหากต้องการใช้ปิ่นโตใส่อาหารก็สามารถใช้ได้ เพียงแต่ว่าต้องทำจากวัสดุธรรมชาติ จากกากหรือชานอ้อยที่ไม่ใช่พลาสติก จึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพ”
ยุคนี้ถุงผ้าถือได้ว่ามาแรง เพราะหาง่ายและใช้ได้นาน แต่ภาชนะจากวัสดุรักษ์โลกอื่นๆ อย่าง ตะกร้า ใบตอง ฯลฯ นั้น หากคนรุ่นใหม่ใช้อย่างถูกวิธี กระทั่งเกิดเป็นความเคยชินในชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้มีทางเลือกของหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ในการใช้งานที่มากขึ้นเช่นกัน...ว่าไหมค่ะ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |