"ราชบุรีโฮลดิ้ง "ต่อยอดอาชีวะสปป.ลาวเรียนรู้"พลังงานทดแทน"


เพิ่มเพื่อน    

    
    
     พลังงานสะอาดที่จะมาทดแทนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าไม่ได้มีแค่พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น ยังมีพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ได้อีก เช่น พลังงานชีวมวลจากเศษวัสดุที่ได้จากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตร หรือจะเป็นพลังงานน้ำ พลังงานลม  เป็นต้น ซึ่งพลังงานทดแทนเหล่านี้นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ยังช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้นด้วย


             ขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถือเป็นเพื่อนบ้านที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับประเทศไทยอย่างมาก  เป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมอยู่หลายอย่าง ตอนนี้สปป.ลาว กำลังพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงระยะทาง 427 กิโลเมตร  ซึ่งใช้ต้องใช้ไฟฟ้ามกพอสมควร แต่อีกด้านหนึ่ง สปป.ลาว ก็ยังคงตระหนักต่อกระแสโลก ที่หันมาให้ความสำคัญกับการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิง เปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน ทางสปป.ลาว รุกหน้าผลิตพลังงานทดแทนควบคู่ไปกับสังคมที่กำลังเจริญเติบโต โดยผ่านการพัฒนาคนให้เป็นผู้ขับเคลื่อน  เลยเป็นที่มาที่กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) “โครงการการศึกษาเสริมสร้างทักษะอาชีพ” ระยะที่ 2 หลังจากที่เคยเข้าร่วมในระยะแรกมาแล้วเมื่อปี 2554


      โครงการนี้เป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมความรู้ สนับสนุนการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะวิชาชีพในด้านต่างๆ ให้กับสถาบันอาชีวศึกษา สปป.ลาว และเพิ่มทักษะด้านพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าในระยะที่ 2 เพื่อตรียมพร้อมรับกับความต้องการของภาคธุรกิจพลังงานทดแทนที่กำลังขยายใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ

 


    กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่มาของโครงการนี้เกิดจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทได้มีการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในสปป.ลาว อยู่หลายแห่ง เช่น เขื่อนน้ำงึม 2, เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา และได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทราช-ลาว เซอร์วิท จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการเดินเครื่องซ่อมบำรุงรักษาเขื่อนน้ำงึม 2 อีกทั้งยังมีการลงทุนซื้อหุ้นของการไฟฟ้าลาว ในตลาดหลักทรัพย์ของสปป.ลาว เลยให้ความสำคัญกับพื้นที่สังคมที่เข้าไปดำเนินธุรกิจด้วย


        โครงการในระยะแรก ดำเนินการมาเป็นเวลา 5 ปี เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของสปป.ลาว ให้เติบโต มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในสปป.ลาว และยกระดับความรู้ทางด้านวิชาการและทักษะด้านปฏิบัติการ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการเพิ่มโอกาสด้านการพัฒนาเทคนิควิชาชีพให้แก่ครู อาจารย์ และนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายระดับปวส. รวมถึงสนับสนุนทุนศึกษา อุปกรณ์เครื่องมือตลอดจนห้องปฏิบัติการฝึกอบรมให้แก่สถาบันอาชีวศึกษา มุ่งปรับคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการคือ วิทยาลัยเทคนิคลาว เยอรมัน, วิทยาลัยเทคนิคสรรพวิชา,วิทยาลัยเทคนิคปากป่าสัก,วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทร์,วิทยาลัยเทคนิควิชาชีพแขวงลวงพระบาง, และโรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสมแขวงไซยะบุรี


        “การสนับสนุนแบบนี้ เป็นแนวคิดมาจากโครงสร้างแม่ไก่ ลูกไก่ ให้ทุนครูไปเรียนให้มีทักษะเชี่ยวชาญ แล้วเอามาสอนลูกศิษย์  เราให้ทุนครูไปทั้งหมด 50 ทุน ส่วนนักศึกษาอาชีวะ มี 611 คน และพบว่านักศึกษากว่า 80% ที่จบออกไปมีงานทำ หลายร้อยคนยังได้ทำงานที่บริษัทราช-ลาวด้วย ใช้งบประมาณสนับสนุนโครงการไปทั้งหมดประมาณ 20 ล้านบาท” นายกิจจา กล่าว


       กรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ  กล่าวอีกว่า ในส่วนของระยะที่ 2 ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2561-2566 ได้ขยายการสนับสนุนการศึกษาเพิ่มเติม  จากที่ส่งเสริมทักษะ 3 สาขา คือ สาขาเชื่อมโลหะ สาขาไฟฟ้าควบคุม และสาขาเครื่องกล และจะเพิ่มสาขาพลังงานทดแทนเข้าไปในระยะที่สองนี้ด้วย เพราะเห็นว่าเรื่องพลังงานทดแทนเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกสนใจ   โดยทางสปป.ลาว ได้วางให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาคำม่วน ที่เพิ่งเข้าร่วมเพิ่มเติมในระยะนี้เป็นต้นแบบ โดยจะมีการจัดตั้ง “ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมด้านพลังงานทดแทน ลาว-ราชบุรี” ซึ่งจะมีหลักสูตร สื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้แก่ พืชพลังงาน พลังงานจากขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้งและซ่อมบำรุงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการวิจัย ทดลอง และฝึกปฏิบัติด้านต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับพัฒนาความรู้และทักษะของสาขานี้


         “สปป.ลาว มีความเหมาะสมกับการใช้พลังงานทดแทน เพราะด้วยสภาพพื้นที่ อากาศ  คล้ายประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นประเทศเกษตรกรรม พืชที่ได้จากการทำเกษตรกรรมสามารถนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนได้ เขาบอกกับเราว่าเขามีพืชที่เหมาะสมเยอะ อย่างพวกพืชโตเร็ว มีพวกกระถินชนิดต่างๆ กระถินนรงค์ กระถินเทพา แล้วก็อีกหลายชนิดที่เป็นพืชพื้นถิ่นของเขา ถ้าหากนำมาศึกษาดีๆ แล้วพัฒนาคนของเขา เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ดี ผมว่าเขามาถูกทางแล้ว ที่ไปมุ่งเน้นในการสนับสนุนอาชีวศึกษา อนาคตจะได้เป็นประเทศส่งออกอุตสาหกรรมพลังงาน และด้านอื่นๆ แทนการนำเข้า” นายกิจจา กล่าว


       ส่วนทางด้านนายหนูพัน อุดสา อธิบดีกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว กล่าวว่า สปป.ลาวยังขาดแรงงานคนหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเทคนิคเฉพาะ แต่ด้านพลังงานที่ทางราชบุรีโฮลด์ดิ้งเข้ามาส่งเสริม อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกวันนี้การศึกษาของสปป.ลาว มีอาชีวศึกษาของรัฐ 23 แห่ง เอกชนมากกว่า 60 แห่ง  มีนักศึกษาในอาชีวศึกษาของรัฐ 30,000 กว่าคน พบว่า 1 ปี อาชีวศึกษาผลิตนักศึกษาได้ทั่วประเทศ 15,000 คน ถือว่าน้อยเพราะคนรุ่นใหม่นิยมจบมัธยมปลายแล้วเรียนต่อมหาวิทยาลัย สิ่งที่ขาดหลักๆ ก็คือเรื่องของการสร้างบุคคลากรรองรับตลาดแรงงานอุตสาหกรรม  ทางกระทรวงศึกษาฯ ของลาวจึงเข้าร่วมโครงการ ตามแผนยุทธศาสตร์ การปฏิรูประบบการศึกษาชาติระยะที่ 2  และปฎิรูปการเรียนการสอนอาาชีวศึกษาระหว่างปี 2559-2563  เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งลาวตั้งเป้าเป็นชาติพ้นขีดความยากจนในปี 2563 และก้าวขึ้นเป็น “Battery of ASEAN” หรือเป็นแหล่งพลังงานอาเซียนในอนาคต


        “ลาวยังต้องการแรงงานในอุตสากรรมเยอะ อย่างตอนนี้เรามีรถไฟความเร็วสูง แต่ยังขาดคนดูแลแผนกช่าง เช่น ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมบำรุง ฯลฯ รถไฟฟ้า 1 กม.ต้องการคน 25 คน แต่ทั้งหมด 427 กม. รวมทั้งสิ้นก็ประมาณ 6,000 กว่าคนเลย แล้วยังไม่รวมแผนกอื่นๆ อีก หวังว่าคนของเราจะประสบความสำเร็จจากการศึกษาในโครงการที่ร่วมกับทางราชบุรี นอกจากเป้าหมายที่จะผลิตบุคคลากรรองรับอุตสาหกรรมด้านพลังงานแล้ว ต่อไปยังต้องเตรียมรับแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมา พร้อมกับความเจริญเติบโตในอนาคตด้วย” นายหนูพันกล่าวทิ้งท้าย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"