ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองสุดแสนยุ่งเหยิง ทำให้หลายคนอาจจะลืมไปว่า ในปีหน้า ประเทศไทย จะมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งเป็นสนามที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับ การเลือกตั้งระดับชาติ ขณะเดียวกัน หลายพรรค ก็เริ่มเดินหน้าแคมเปญการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยผู้รับสมัครในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ประชาชนจับตาอย่างพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งคาดว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. รอบนี้ จะไม่ใช่มีม้าเพียง 2 ตัวเหมือนอย่างที่เป็นกันมาตลอดหลายปี ซึ่งอาจจะมี “ม้า” ถึง 4 ตัวด้วยซ้ำ หากทุกพรรคส่งผู้สมัครมากันพร้อมหน้า โดยยังไม่นับฝ่ายที่ประกาศตัวว่าจะลงชิงตำแหน่ง “ในนามอิสระ”
สำหรับผู้ที่ “เปิดหน้า” มาแล้ว คนแรกคือ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ชิงเปิดตัวก่อนเพื่อน โดยไม่ขึ้นกับพรรคใด โดยให้เหตุผลแบบหล่อๆว่า “ประชาชนเบื่อขัดแย้ง” อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวก็ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ได้ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการความเป็นอิสระในการขับเคลื่อนงานมากกว่า ประกอบกับนักการเมืองที่มีภาพของความทันสมัย และเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ ทำให้ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย รายนี้ เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่ใครๆ ก็ห้ามประมาทเด็ดขาด
ช่วงเวลาไล่ๆ กัน นางสาวรสนา โตสิตระกูล หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันการปฏิรูปพลังงาน และอีกหลายๆ เรื่อง ทั้ง การแบน 3 สารพิษ การชนะคดี แปรรูป การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือการสกัดกั้นการจดสิทธิบัตรกัญชาจากต่างประเทศ ก็ประกาศตัวเช่นกันว่า “พร้อมเป็นตัวเลือก” ให้คนกรุง พร้อมอาสาเปิดประตูเชื่อมระหว่งาประชาชนและกทม. ผ่านเฟซบุ๊ก“กทม.มีทางออกบอกรสนา”อย่างไรก็ตาม ในสายตาคนรุ่นใหม่ ชื่อของนางสาวรสนา อาจจะขายไม่ได้สักเท่าไร แต่ต้องอย่าลืมว่า เมื่อปี 2551 เจ้าตัวเคยได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.กรุงเทพฯ ด้วยคะแนนเสียงถึง 743,397 คะแนน จึงทำให้เป็นอีกหนึ่งผู้สมัครที่ห้ามมองข้าม นอกจากนี้ ยังมีมวลชวน ที่เคยอยู่กับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศพร้อมหนุนหลังเต็มที่
ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น “พรรคอนาคตใหม่” เองก็ออกตัวแรงไม่น้อยหน้าใคร เมื่อมาพร้อม #อนาคตใหม่เขย่าท้องถิ่นไทย แม้ทางพรรคจะยังไม่เปิดเผยแคนดิเดต ในส่วนของ กทม. หลังโดนมรสุมมะรุมมะตุ้มอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนทำให้ ประเด็นดังกล่าวถูกลดทอนความสำคัญลง พร้อมดึงดูดความสนใจของประชาชนทั้งหมดไปที่ว่า ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อถึงวันเลือกตั้งกทม. จะยังมีชื่อ “พรรคอนาคตใหม่” อยู่ในสารบบการเมืองไทยอยู่หรือไม่
ด้านพรรคประชาธิปัตย์เองอาจจะมาอย่างราบเรียบ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาเองสามารถครองเมืองหลวง ถึง 3 สมัย หรืออาจจะเป็น 4 หาก นับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่เป็นลูกหม้อของ “พรรคคนดี” และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “พ่อเมืองหลวง” จาก ม.44 อีกด้วย
อย่างไรก็ตามเสียงสะท้อนของคนกรุงจากการเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมานั้นเล่นเอา แชมป์เก่าอย่าง ปชป. ไปไม่เป็น เมื่อพวกเขา “สูญพันธ์” อย่างสมบูรณ์แบบในพื้นที่ กทม. ขณะที่ “พรรคเพื่อนร่วมอุดมการณ์” อย่างพลังประชารัฐ กลับเข้าวิน เป็นที่ 1 ด้วยจำนวน 12 ที่นั่ง อนาคตใหม่ 10 ที่นั่ง และ เพื่อไทย 8 ที่นั่ง แต่ในรายละเอียดนั้น พรรคอนาคตใหม่ กลับได้คะแนนดิบมากที่สุดกว่า 800,000 คะแนน ตามมาด้วยพรรคพลัวประชารัฐ และ เพื่อไทย ก่อนจะเป็นประชาธิปัตย์ ตามลำดับ
หากวัดจัดคะแนนเสียงครั้งล่าสุดแล้ว กระแสข่าวการ “แท็กทีม” ระหว่างขั้ว เพื่อตั้งทีมชิงชัยตำแหน่งผู้ว่า กทม. จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง ระหว่าง “เพื่อไทย-อนาคตใหม่” กับ “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” เพราะหมากเกมนี้ หากวางยุทธศาสตร์เพลี่ยงพล้ำแล้ว “แชมป์เก่า” อย่าง ประชาธิปัตย์นั้น อาจจะสูญพันธ์ อย่าง “สมบูรณ์แบบ”
อย่างไรก็ตาม การแท็กทีมระหว่าง “พปชร.-ปชป.” ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะทั้ง 2 ค่ายนั้นก็ “ผสมพันธุ์” กันมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งอยู่แล้ว ภายหลังจากการโดนเด้งกลางอากาศของ “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดนเด้งด้วยคำสั่ง คสช. คนที่ไปแทนที่ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล คือ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” อดีตรองผู้ว่าฯ ยุค “ชายหมู” นั่นเอง
นอกจากนี้ บุคลากรคนอื่นที่เปลี่ยนหน้าไปมา ก็วนเวียนกันอยู่ อย่าง "รองผู้ว่าฯ สกลธี ภัททิยกุล" ที่หลังๆ มักจะโพสต์เฟซบุ๊คโจมตีพรรคอนาคตใหม่อยู่เนืองๆ นั่นก็เด็กเก่าจากค่าย “พระแม่ธรณีบีบบมวยผม” หรือรองผู้ว่าฯ อีกคน อย่าง นายเกรียงยศ สุดลาภา นั่นก็เคยเป็น ส.ส.ปชป.เช่นเดียวกัน
นี่ยังไม่นับรวมบรรดาอดีตทีมโฆษก ที่เคยอยู่ อย่าง “นางสาวตรีดาว อภัยวงษ์” หรือ “นายณัฐนนท์ กัลยาณศิริ” บุตรชาย ของ นายวิรัตน์ กัลยาณศิริ ตามการ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” รวมถึงบรรดาที่ปรึกษา รองผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯอีกหลายคน นอกจากนี้ ทีมบริหารกทม.ชุดปัจจุบัน ยังปล่อย “ไพ่เด็ด” มาอีก 1 ใบ นั่นคือ “ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง” หรือ “หมวดเอิร์ธ” ลูกชายคนเล็กหัวแก้วหัวแหวน ของ พล.ต.อ.อัศวิน ที่มานั่งในตำแหน่ง “โฆษกกทม.” เจ้าตัวมาพร้อมด้วยภาพของคนรุ่นใหม่ ที่มีการศึกษาจากต่างประเทศ มีภาพของความใจดี และความขึงขัง มุ่งมั่นทำงาน อยู่ภายในตัวพร้อมๆ กัน จึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะเรียกคะแนนนิยม หากมีใครในบรรดาผู้บริหารกทม.ชุดปัจจุบัน ตัดสินจะลงสนาม กทม. ต่อ
หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า คนกรุง อาจจะได้พบกับ ผู้ว่าฯใหม่หน้าเดิม อย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ที่ให้ข่าวยึกยักไปมา เดี๋ยวก็จะไม่ลงสมัคร เดี๋ยวก็ใบ้ว่าอาจจะลงแบบวันแมนโชว์ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วยุทธศาสตร์แต่ละพรรคนั้นจะเป็นอย่างไร แต่คงไม่มีพรรคไหนกล้าเสี่ยง เมื่อขั้วตรงข้ามประกาศว่าจะ “แท็กทีม” อีกฝั่งก็คงต้องใช้วิธีเดียวกัน ไม่เช่นนั้นโอกาสชนะนั้น เรียกได้ว่า ”เป็นไปไม่ได้เลย”
และที่แน่นอนที่สุด การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่มีความเข้มข้น และ สูสีที่สุด แบบห้ามกระพริบตาเลยทีเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |