นายกฯ ยอมรับแก้ปัญหาภัยแล้งต้องใช้เวลาและไม่อาจทำได้ทั่วทั้งหมด จึงต้องปรับเปลี่ยนการปลูกพืช ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แนะขุดดินแลกบ่อน้ำ บิ๊กป้อมชี้ต้องรอถึงกลางปีจึงมีฝน เตรียมใช้งบฉุกเฉิน 3 พันล้านแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เผยเขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำแค่ติดก้นอ่าง
เมื่อวันจันทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งถือเป็นปัญหาประเทศไทยมาตลอดในระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต จากอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรามีคณะกรรมการทำงานอยู่แล้ว และวันนี้ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขวิกฤตน้ำขึ้นมา เพื่อบูรณาการให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คณะเดิมวางแผนระยะยาว ทั้งการเก็บน้ำ พร่องน้ำ ระบายน้ำ อย่างไร ที่ไหนบ้าง โดยต้องใช้งบประมาณสูงมาก ทยอยดำเนินการตามแผน ขณะที่ในบางพื้นที่ยังทำไม่ได้ น้ำไปไม่ถึง จึงเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช หาพื้นที่ที่เหมาะสม ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถึงต้องมีนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อที่จะให้ปลูกพืชพลังงานทดแทน ทุกอย่างตนได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การแก้ปัญหาน้ำต้องมอง 2 อย่าง ระยะยาวมีแผนถึง 20 ปีที่ต้องแก้ทั้งระบบให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกตารางนิ้วจะมีน้ำไปถึงได้ ซึ่งไม่ได้เพราะบางพื้นที่สูง บางพื้นที่ต่ำ บางพื้นที่ต้นทุนน้ำไม่พอ ถึงจะมีเขื่อนก็ไม่พอ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นเพื่อให้มีแหล่งน้ำในพื้นที่ เช่น การขุดลอกคูคลอง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ขนาดเล็ก วันนี้ให้ไปหาวิธีการทำอย่างไรในการขุดดินแลกน้ำ ขุดดินแลกบ่อ ก็ให้ทำกันไปด้วย โดยดินที่ขุดเจ้าของที่ก็ขายให้คนที่ขุดไป ตนถามแล้วตามกฎหมายทำได้
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลจะไปทำอะไรให้ทุกอย่างคงไม่ได้ขนาดนั้น พยายามทำให้มากที่สุด ท่านก็ต้องช่วยตัวเองบ้าง เช่น ขุดบ่อ อย่างน้อยก็มีน้ำอุปโภคบริโภค ไม่อย่างนั้นน้ำประปาก็ขาด น้ำอุตสาหกรรมก็ขาด อุตสาหกรรมเขาก็เสียภาษีเหมือนกันและสูงกว่าปกติ ทุกคนก็ต้องอยู่กันแบบนี้ อย่าให้มาบิดเบือนเรื่องคนรวยคนจน เอื้อประโยชน์คนรวย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้บอกล่วงหน้าไปแล้วว่าเราจะดูแลในเรื่องการเอาน้ำใต้ดินและบนดินมาใช้ในการอุปโภคและบริโภค ส่วนน้ำทำการเกษตรมีไม่เพียงพอจึงต้องปรับเปลี่ยน โดยไม่สามารถทำนาปรังได้ เพราะว่าน้ำในปีนี้น้อยมาก เราพยายามขุดบ่อน้ำบาดาลทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 500 แห่ง อย่างไรก็ตาม คิดว่าน้ำที่มีอยู่สามารถใช้เพียงพอได้ถึงเดือน ก.ค.63 นอกจากนี้ จำเป็นต้องใช้งบฉุกเฉิน 3 พันล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งครั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมั่นใจใช่หรือไม่ว่าจะรับมือได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนบอกไปแล้วว่าจะมีน้ำใช้ไปถึงเดือน ก.ค.63 เมื่อถามย้ำว่าจะต้องทนไปถึงเดือน ก.ค.63 ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ฝนจะไม่มีถึงเดือน ก.ค.63
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีเพียงเขื่อนลำปาวเท่านั้นที่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำต่ำมาก ขณะนี้ได้ใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 96 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 5 ของน้ำใช้การ ส่วนการระบายน้ำยังคงระบายออกวันละ 0.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจัดเป็นปริมาณน้ำที่น้อยมาก
นครสวรรค์ ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง กระทบทั้งภาคการเกษตร และการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเกษตรกรหลายพื้นที่ต้องดิ้นรนหาแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรทุกวิถีทาง นายสมพร ดาวศุกร์ ชาวนา ต.หนองกรด อ.เมืองนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ได้ลงทุนขุดเจาะบ่อบาดาลในอ่างเก็บน้ำหลวงพ่อจ้อย เพื่อสูบน้ำขึ้นไปเลี้ยงนาข้าวที่กำลังตั้งท้องออกรวง หลังจากอ่างเก็บน้ำแห้งขอดจนไม่สามารถสูบน้ำในอ่างใส่นาข้าวได้ตามปกติ แม้ว่าจะลงทุนไปแล้วหลายหมื่นบาทก็ต้องยอมทำ เพราะไม่อยากให้ข้าวที่ปลูกไว้ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ แต่ในขณะเดียวกันยังมีต้นข้าวบางส่วนที่ส่งน้ำไปไม่ถึง จึงทำให้มีต้นข้าวบางส่วนยืนต้นตายบ้างแล้ว
สุโขทัย นายไวพจน์ ช่างชัย ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองอ้อ พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในพื้นที่หมู่ 3 หมู่ 4 หมู่ 9 จำนวนกว่า 150 คน ได้ช่วยกันขนกระสอบทรายเร่งทำฝายกั้นน้ำในแม่น้ำยม บริเวณหลังท่าทรายศิริไทย หมู่ 3 ต.หนองอ้อ อ.ศรีสัชนาลัย หลังพบระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้บางช่วงแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้
หนองคาย ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอโพนพิสัย นายศุภกร มูลสุวรรณ รอง ผวจ.หนองคาย เป็นประธานประชุมคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำห้วยหลวง จากนั้นนายศุภกรเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำโขงปีนี้น่าเป็นห่วง ระดับน้ำต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยระดับน้ำวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคายอยู่ที่ 1.72 เมตร น้ำไหลช้าจนเกิดเป็นตะไคร่น้ำสีเขียวเกาะตามโขดหิน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระดับน้ำโขงที่ลดต่ำลงจะไม่สามารถผันน้ำโขงเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเกษตรได้เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้นเกษตรกรต้องใช้น้ำด้วยความรอบคอบ ใช้ให้เกิดประโยชน์ ชะลอพื้นที่เพาะปลูก ลดพื้นที่การทำนาปรัง สำหรับน้ำจากห้วยหลวงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ได้ปิดประตูระบายน้ำทุกบานไม่ให้ไหลลงแม่น้ำโขง เพื่อกักเก็บไว้ให้ประชาชนได้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยจะไม่เปิดประตูระบายน้ำปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขง เพราะจากการคำนวณของเจ้าหน้าที่ชลประทานแล้ว ระดับน้ำห้วยหลวงมีความเหมาะสมใช้ได้จนถึงฝนตกรอบใหม่ของปีนี้
ชัยนาท ภัยแล้งกระทบกระชังเลี้ยงปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกรต้องดันกระชังปลาไปเลี้ยงกลางแม่น้ำ และเร่งจับปลาที่ยังไม่ได้ขนาดขายบางส่วนก่อน เพื่อลดความแออัดในกระชัง ป้องกันปลาขาดออกซิเจน ตายยกกระชัง เหตุจากแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำลง
นายชาตรี ทองน่วม อายุ 49 ปี ผู้เลี้ยงปลากระชังใน ต.ธรรมามูล อ.เมืองชัยนาท เปิดเผยว่า แม่น้ำเจ้าพระยาที่ลดต่ำลง ทำให้มีผลกระทบกับการเลี้ยงปลาสังกะวาดในกระชัง ซึ่งตนเลี้ยงไว้ จำนวน 12 กระชัง มีปลามากกว่า 240,000 ตัว ตอนนี้ดันกระชังออกไปไกลจากตลิ่งกว่า 60 เมตรแล้ว ส่วนปลาในกระชังก็เริ่มมีอาการขาดออกซิเจน ไม่กินอาหาร โตช้า ลอยตายบ้าง แต่ยังไม่มาก จึงต้องใช้เครื่องออกซิเจนช่วยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเติมออกซิเจนในน้ำและลดความเครียดของปลา และปลาที่ยังไม่ได้ขนาด ประมาณ 24,000 ตัว ขายออกไปก่อน เพื่อลดจำนวนปลาในแต่ละกระชังลง ไม่ให้แออัดมากจนเกินไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |