“โรคกระดูกพรุน” ถือได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพของคนวัยเก๋าที่สำคัญ โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เสี่ยงต่อการ “หกล้มกระดูกหัก” จากภาวะกระดูกพรุน ทั้งนี้ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า คนวัย 60 ปี ร้อยละ 75% นั้น เป็นโรคกระดูกพรุนจากปัญหาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ลดน้อยลง จึงเป็นสาเหตุของการหกล้มที่พบได้ในคนวัยเกษียณ และปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือภาวะติดเตียงและเสียชีวิตในที่สุด ในงาน “สูงวัยใส่ใจ ไม่ล้ม ไม่พรุน” ที่จัดขึ้นโดย รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และโรคกระดูก มาให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการหกล้มและป้องกันโรคกระดูกพรุนไว้น่าสนใจ
รศ.นพ.วสุวัฒน์ กิติสมประยูรกุล หัวหน้าภาคเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า “เมื่อเราอายุ 30 ปีขึ้นไป ความเสื่อมในร่างกายจะเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ดังนั้นเมื่ออายุ 60 ปีก็จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อในร่างกายของคนอายุ 60 ปี ก็จะน้อยลงกว่าคนวัยหนุ่มสาวคิดเป็นร้อยละ 25 หรือกล้ามเนื้อเสื่อมลง คิดเป็น 1 ใน 4 ของวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เมื่อกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงก็จะทำให้การหกล้มเกิดขึ้นได้ง่าย ที่สำคัญยังเป็นอุปสรรคในการลุกเดิน หรือขึ้นลงบันไชดอีกด้วย หรือการที่ผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องการทรงตัว ส่วนหนึ่งก็มาจากโรคทางระบบประสาท กระทั่งทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือเดินเซ
แต่ทั้งนี้สาเหตุสำคัญของการหกล้ม หรือมีปัญหาการทรงตัวนั้น มาจาก “โรคกระดูกพรุน” และสาเหตุของโรคกระดูกพรุนก็มีปัจจัยหลายด้าน ทั้งความเสื่อมของอวัยวะในร่างกายเมื่ออายุมาก รวมถึงการกินยาในกลุ่มที่ทำให้ง่วงนอน หรือยาต้านโรคซึมเศร้าที่ทำให้กระดูกพรุน หรือแม้การเจ็บป่วยโรคทางระบบประสาท ที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการทรงตัว นอกจากนี้ปัจจัยแวดล้อมอื่นที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้ม ก็มีทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ที่เป็นโรคต้อหินทำให้การมองเห็นไม่ชัด ผู้ที่เป็นโรคเท้าผิดรูป ทำให้เดินไม่สะดวก ก็ทำให้การทรงตัวไม่ดี เสี่ยงล้มบาดเจ็บเช่นเดียวกัน
สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการหกล้มจากโรคกระดูกพรุนนั้น ส่วนหนึ่งเกิดการจากการที่กระดูกบางลง หรือแม้แต่ผู้หญิงวัยทองที่หมดประจำเดือน ก็ทำให้ฮอร์โมนต่างๆในร่างกายลดลง และทำให้เกิดการทำลายมากกว่าสร้าง นี่จึงเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนเมื่อเข้าสู่วัยทอง ดังนั้นการป้องกันโรคกระดูกพรุนในวัยหนุ่มสาว จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีแรงต่ำ”
(พ.ต.ท.นพ.ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์)
พ.ต.ท.นพ.ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศผู้สูงวัย และโรคกระดูกพรุน รพ.ตำรวจ ให้ข้อมูลว่า “ปัญหาการหกล้มในผู้สูงอายุนั้นเกิดขึ้นในต่างจังหวัดค่อนข้างมาก หรือคิดเป็น 200 รายต่อปี เช่น จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ประสบอุบัติเหตุหกล้มคิดเป็น 25% นอกจากนี้ยังพบผู้สูงอายุเจ็บป่วยจากการหกล้ม โดยเฉลี่ยคิดเป็น 150 เคสต่อปี สาเหตุของการหกล้มในคนสูงวัยที่อายุระหว่าง 50-60 ปีนั้น เกิดจากการที่กระดูกหัก เช่น ข้อมือหักที่ทำให้การทรงตัวเสียสมดุลและหกล้มในที่สุด ส่วนในคนอายุ 70 ปีขึ้นไป จะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยที่ไม่มีสาเหตุ หรือในบางรายพบว่าอาการปวดหลังดังกล่าวมาจากการยกของหนักอย่างไม่ถูกวิธี
นอกจากหกล้มแล้วยังพบว่าผู้สูงอายุนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับ “ตัวเตี้ยลง” ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ แต่หากไปพบแพทย์และเอกซเรย์แล้วพบว่าเกิดการยุบตัวลงของกระดูก ซึ่งเกิดจากการที่กระดูกบางลง และจากข้อมูลพบว่าผู้หญิงร้อยละ 80% ที่มีภาวะกระดูกบางนั้นเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคเนื้องอกในกระดูก โรคไทรอยด์เป็นพิษ เนื่องจากต่อมไทรอยด์จะควบคุมฮอร์โมนทุกอย่างในร่างกาย อีกทั้งเมื่อกระดูกบางลงมักจะตามด้วยภาวะที่เกิดขึ้นอย่าง “การล้มกระดูกสะโพกหัก” เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุหกล้มก็จะมีภาวะการล้มซ้ำ คิดเป็นร้อยละ 20-30%
(ผู้สูงอายุเดินและปั่นจักรยานในฟิตเนส ช่วยเสริมสร้างกระดูกแข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน)
สำหรับวิธีตรวจเช็กผู้ป่วยที่มีประวัติการล้มจากปัญหากระดูกพรุนและกระดูกบางนั้น จะใช้หลักการคือ ซักถามประวัติการหกล้ม ภายในระยะเวลา 1 ปี (หกล้ม 2 ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี มีความเสี่ยงกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน) รองลงมาคือ สอบถามปัญหาการทรงตัวจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือไม่ เป็นโรคหัวใจ โรคต้อกระจกที่มองเห็นไม่ชัดหรือไม่ กระทั่งเป็นโรคความดันโลหิตที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้มหรือไม่ และอีกขั้นตอนที่สำคัญคือ การเช็กการทรงตัว โดยการ 1.นั่งบนเก้าอี้ และลุกขึ้นเดินวนไป 3 เมตร และกลับอีก 3 เมตร ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเดินในระยะเวลาดังกล่าวนาน เกิน 15 วินาทีขึ้นไป ถือว่าเสี่ยงต่อการหกล้ม ส่วนการเช็กการทรงตัวอันที่ 2 คือให้ผู้สูงอายุลุกนั่งบนเก้าอี้จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งหากทำนานเกิน 12 วินาที อีกทั้งเกิน 12 วันไป มีความเสี่ยงหกล้มเช่นเดียวกัน
ส่วนการเสริมสร้างความแข็งแรง ให้กับกระดูกแต่เนิ่นๆ นั้น คือการออกกำลังกายที่เน้นการลงน้ำหนักต่ำ เพื่อให้กระดูกเกิดการกระแทกบ้าง เพื่อสร้างทั้งความแข็งแรง และกระตุ้นให้กระดูกมีการสร้างผลิต แต่ไม่ใช่การว่ายน้ำ เพราะจะเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่ามากกว่า (ในผู้ป่วยโรคเข่าเสื่อมนั้นจะสามารถพบได้ 2 โรคทั้งโรคกระดูกพรุนและโรคข้อเข่าเสื่อม การออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก เช่น การปั่นจักรยาน การวิ่ง จะส่งผลต่อข้อเข่า จึงเหมาะกับการว่ายน้ำ) นอกจากนี้การเดิน หรือการวิ่งจ๊อกกิ้งก็สามารถทำได้ หรือผู้สูงอายุคนไหนที่เคยวิ่ง ก็สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกด้วยวิธีนี้ได้ เพราะถือเป็นกีฬาที่มีการกระแทกแบบแรงต่ำ โดยเฉลี่ยนั้นให้ออกกำลังกายรูปแบบดังกล่าวครั้งละ 15-20 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ หรือจะเลือกปั่นจักรยานก็ได้เช่นกัน เพราะเป็นชนิดกีฬาที่มีการกระแทกที่ไม่รุนแรงจนเกินไป แต่ผู้สูงอายุควรปั่นจักรยานอยู่กับที่ หรืออยู่ในฟิตเนสที่มีพนักพิง เพื่อป้องกันการก้มหลังมากเกินไป นอกจากนี้ก็ควรสัมผัสแสงแดดที่มีวิตามิน D ในการเสริมสร้างแคลเซียมความแข็งแรงของกระดูก โดยเฉพาะแสงแดดในช่วง 9-10 โมงเช้า”
ปิดท้ายกันที่ พญ.ซายน์ เมธาดิลกกุล ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออโธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน บอกว่า “การป้องกันการล้มในผู้สูงอายุที่เกิดจากโรคกระดูกพรุนและนำไปสู่กระดูกหักนั้น ให้สังเกตอย่างง่ายว่า หากคุณเป็นผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีลักษณะตัวผอมบาง ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน เพราะเนื่องจากเป็นกลุ่มโรคที่ไม่แสดงอาการ จะพบเมื่ออาการของโรคอยู่ในระยะปานกลางไปจนถึงเจ็บป่วยหนัก เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ กระทั่งความสูงเริ่มลดลง หรือแม้ในผู้ชายที่อายุ 70 ปีขึ้น มีภาวะความสูงลดลง 4 เซนติเมตรใน 1 ปี หรือกินยาในกลุ่มของสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคภูมิแพ้ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือมีประวัติในครอบครัวป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน ปัจจัยเหล่านี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ที่จำเป็นต้องไปแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด เพื่อนำมาสู่การรักษาโรคกระดูกพรุนที่ตรงจุด ซึ่งจะช่วยป้องกันการหกล้ม ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |