ผลสำรวจผู้ชายกว่าครึ่ง:ผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน


เพิ่มเพื่อน    

“MAN CAN DO” STOP VIOLENCE สสส. มูลนิธิหญิงไทยก้าวไกล รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง 2562 ด้วยแนวคิดงานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ถ่ายรูปแล้วโพสต์ลง Facebook หรือ Instagram พร้อมแฮชแท็ก #houseworkchallenge ผลสำรวจกลุ่มผู้ชาย 1 ใน 3 ตอบตรง แม้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านแต่งานบ้านก็ต้องเป็นหน้าที่ผู้หญิง ผู้ชายกว่าครึ่งมองว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน อย่าให้ขาดตกบกพร่อง

 

             

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง (25 พ.ย.ทุกปี) ภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เพื่อสร้างกระแสเชิญชวนคุณผู้ชายช่วยทำงานบ้าน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฟนหรือภรรยาฝ่ายเดียว หวังลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัวและชีวิตคู่

             

ทั้งนี้ ได้มีการเดินรณรงค์บริเวณป้ายรถเมล์เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมเชิญชวนให้ผู้ชายโพสต์รูปทำงานบ้านติดแฮชแท็ก #Houseworkchallenge #งานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศ

 

             

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รณรงค์แก้ปัญหาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย ในกลุ่มคนที่มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ภายใต้การดูแลพบว่า ร้อยละ 23 ของเด็กและเยาวชนพักอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีคนดื่มอย่างหนัก เด็กในครอบครัวนี้จะมีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็น 3.3 เท่าของครอบครัวที่ไม่มีคนดื่มหนักภายในบ้าน      

             

เมื่อมีการเก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จากข่าวในหน้า นสพ. 10 ฉบับในปีที่ผ่านมานั้น พบว่ามีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวจำนวน 623 ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันสูงที่สุดร้อยละ 61.6 เกือบทุกประเภทข่าวความรุนแรงในครอบครัวมีความเชื่อมโยงกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สรุปได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และมีส่วนทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

             

สสส.และภาคีต้องการทำให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมแก้ไขได้ ในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวในครอบครัว ช่วยกันทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ดูแลลูก ถือเป็นการนำเรื่องที่เข้าใจง่าย ดูเหมือนใครๆ ก็ทำได้ แต่กระทบชิ่งไปถึงรากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศอย่างเห็นได้ชัด งานบ้านจึงเป็นจุดเริ่มต้นก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เกิดความเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในครอบครัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กทั้งในครอบครัวและระบบการศึกษาเป็นวิธีหนึ่งเพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงในครอบครัว

             

“ซินดี้ร่วมรณรงค์กับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมากกว่า 3 ปี เห็นถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมร่วมกับ สสส. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล การจัดแคมเปญเปลี่ยนวิธีคิดด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวได้ โดยเฉพาะผู้ชายสามารถเลิกเหล้าได้ ช่วยแม่บ้านทำงานบ้าน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็จะดีขึ้น” รุ่งอรุณกล่าว

             

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ได้มีการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นต่อการทำงานบ้านของกลุ่มผู้ชายวัย 18-50 ปี ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จำนวน 1,995 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-14 พ.ย. พบว่าร้อยละ 54.9 มองว่าผู้ชายช่วยงานบ้านเป็นเรื่องที่ควรภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ร้อยละ 16.9 ไม่เห็นด้วย เกินครึ่งคือร้อยละ 53.5 มองว่าผู้หญิงที่ดีต้องทำงานบ้านเป็นแม่ศรีเรือน อย่าให้บกพร่อง ร้อยละ 47 มองว่าผู้ชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.5 มองว่าแม้ผู้หญิงจะทำงานนอกบ้าน แต่งานบ้านก็ยังเป็นเรื่องของผู้หญิงอยู่ดี ร้อยละ 33.2 ระบุด้วยว่า งานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชาย แต่เป็นหน้าที่ของผู้หญิง “เมียต้องทำ บ้านช่องต้องสะอาด ผมไม่สนใจ” “หน้าที่ของผู้หญิงเขาไม่ให้เราไปยุ่ง บอกว่าจะบาป”

             

ส่วนข้อเสนอแนะต่อประเด็นงานบ้าน ผู้ชายกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.2 มองว่าครอบครัวมีส่วนช่วยในการปลูกฝังเรื่องการทำงานบ้าน และสร้างทัศนคติที่ดีเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศตั้งแต่เด็กๆ ร้อยละ 73.3 ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงให้งานบ้านเป็นงานของทุกคนและทำได้ทุกเพศทุกวัย

             

ผลของการสำรวจสะท้อนว่าผู้ชายบางส่วนมีความเชื่อว่างานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง สาเหตุมาจากความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ได้รับการบอกและสอนว่าผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ส่วนผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูก หากปล่อยให้ผู้ชายทำจะเสียศักดิ์ศรี ขอให้เปลี่ยนมุมมองว่าผู้ชายก็ทำงานบ้านได้ ไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียว ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในครอบครัวลดลง มูลนิธิฯ ตั้งใจรณรงค์แคมเปญนี้เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ เปลี่ยนแปลงว่างานบ้านไม่ใช่เรื่องของเพศ แต่เป็นของทุกคน ไม่จำเป็นต้องแบ่งเพศ เมื่อลงพื้นที่เข้าไปทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ชายชุมชน พบว่าหลังจากได้ช่วยงานบ้านแล้วผู้ชายจะให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ดี ปัญหาต่างๆ ลดลง ภาครัฐต้องปรับหลักสูตรใหม่สร้างความเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

             

บนเวทีมีการจัดแสดงละครสั้นนำเสนอทุกคนในครอบครัวมีบทบาทในการช่วยงานบ้านได้ตั้งแต่การซักผ้า ตากผ้า ทำกับข้าว การเช็ดถูบ้านเรือน จะเป็นการทำเดี่ยวหรือช่วยกันทั้งครอบครัวก็ได้ ผู้หญิงก็ไม่ควรตำหนิถ้าผู้ชายทำงานไม่เรียบร้อย เพราะผู้ชายตั้งใจจะแบ่งเบาภาระและเปลี่ยนแปลงตัวเอง การตำหนิติติงจะยิ่งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าความตั้งใจนั้นสูญเปล่า หมดกำลังใจ ควรเปลี่ยนเป็นการชื่นชม ให้กำลังใจ หากมีส่วนไหนที่ยังไม่เรียบร้อยก็ช่วยกันแก้ไขใช้โอกาสพูดคุย ปรับตัวเข้าหากัน ถือเป็นการลดช่องว่างระหว่างกันได้อีกทางหนึ่งด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"