สสส. SAMHSA ยกนิ้วงานคลินิกจิตสังคม ศาลอาญาธนบุรี


เพิ่มเพื่อน    

 

เปิดบ้านศาลอาญาธนบุรีโครงการนำร่องแก้ปมปัญหาคนล้นคุกอย่างยั่งยืน ตัวแทนองค์กรให้บริการทางสุขภาพและติดสารเสพติดจากสหรัฐ เวียดนาม สสส.นำทีมสื่อมวลชนดูงานความสำเร็จของคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม สสส. ป.ป.ส. ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ช่วยเหลือผู้ต้องขังเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ทำความผิดซ้ำอีกในข้อหายาเสพติด ไม่หลบหนีขณะปล่อยตัวชั่วคราว อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรีแจง Key Success อยู่ที่สังคมให้โอกาสให้อภัยด้วยระบบปรึกษาหารือ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ในโครงการกำลังใจฯ

               

คณะดูงานจากองค์กรการให้บริการทางสุขภาพและการติดสารเสพติด Substance Abuse and Mental Health Services Administration(SAMHSA) ประเทศสหรัฐ Kevin P.Muhven และ Kenneth Robertson Consultant CJ Behavior Health, HOANG VU Country Director จากประเทศเวียดนาม ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเอชไอวีและสารเสพติดแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานกิจการยาเสพติดและการใช้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ ศูนย์การใช้สารเสพติดและบริการด้านสุขภาพจิต คณะจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสื่อมวลชนเข้าศึกษาดูงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลอาญาธนบุรี

               

ทั้งนี้ จาตุรงค์ สรนุวัตร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี, พรหมพิริยะ เกิดสันเทียะ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี, โกศล หกสุวรรณ ประธานผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมศาลอาญาธนบุรี ให้การต้อนรับและบรรยายพิเศษ, จิรดา กฤตยานุกูล ผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 70, ศุภพร ถิระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 70 ทำหน้าที่เป็นล่ามเพื่อถ่ายทอดการประชุมให้คณะจากต่างประเทศได้รับฟัง มีการนำวีดิทัศน์เรื่องจริงของเด็กสาวคนหนึ่งที่ติดยาเสพติด และกระบวนการทำงานของคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลอาญาธนบุรี

 

               

จาตุรงค์ สรนุวัตร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี กล่าวว่า มีคดีขึ้นสู่ศาลอาญาธนบุรี 4,500 เรื่อง เป็นคดียาเสพติด 70% เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาล ผู้ต้องหาเกิดความเครียดทางอารมณ์และจิตใจ ควรได้รับคำแนะนำ สร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อลดความเครียด เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ทำความผิดซ้ำอีกในข้อหายาเสพติด ไม่หลบหนีขณะปล่อยตัวชั่วคราว

               

ด้วยนโยบายของรัฐบาลและ ป.ป.ส.พิจารณาเห็นว่าผู้เสพหรือผู้ครอบครองยาเสพติดไม่ใช่ผู้ค้ายารายใหญ่ แต่เป็นผู้ป่วย ควรให้โอกาสด้วยการโน้มน้าวให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ที่ผ่านมามีปัจจัยหลายอย่างทางครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเยาวชนมีเรื่องล่อแหลมที่จะถูกชักจูงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ง่าย จึงนำคลินิกจิตสังคมเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่เยาวชนถูกจับกุม ถูกฟ้องดำเนินคดีเป็นจำเลยนำมาใช้ในคดีเมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัว การทำร้ายร่างกายและจิตใจของคนในครอบครัว

               

การทำงานด้วยการเชิญพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมมาปรึกษาหารือ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราว ให้คำแนะนำเพื่อลดความวิตกกังวลทั้งจากตัวเอง ครอบครัว คนที่ต้องพึ่งพาอาศัย แต่เป็นคนละเรื่องกับการดำเนินคดีที่ยังต้องดำเนินต่อไปตามกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐาน คดีประเภทนี้จะให้โอกาสไม่ถูกนำไปจำคุก รอการลงโทษ รอลงอาญา ทั้งนี้ต้องไม่เป็นคดีที่ไม่รุนแรงเป็นผู้เสพหรือครอบครองยาที่มีโทษขั้นต่ำ 1-5 ปี ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไป คือ 20-30 ปี เป็นชาย 70% ส่วนความรุนแรงในครอบครัวเป็นหญิง 20% ส่วนใหญ่ถูกกระทำความรุนแรง แต่ถ้าเป็นคดีผู้ค้ายารายใหญ่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องดำเนินคดี

               

คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลอาญาธนบุรี จัดตั้งขึ้นโดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.2552 (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 20 ธ.ค.2551-9 ส.ค.2554) โดยเริ่มดำเนินการเป็นศาลแรกที่มีการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาลจนถึงปัจจุบันครบ 10 ปี มีผู้เข้ารับคำปรึกษา 10,000 คน เมื่อผ่านการรับคำปรึกษาแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยกลับมากระทำความผิดซ้ำเพียงร้อยละ 0.2 ขณะนี้มีศาลที่ดำเนินการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมทั้งหมด 10 แห่ง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดปทุมธานี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลจังหวัดลำพูน ศาลจังหวัดเกาะสมุย

 

               

การดำเนินการของคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลอาญาธนบุรีเน้นการสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ช่วยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลดภาวะเครียด และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนให้อยู่ในสังคมได้โดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งยังช่วยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยไม่หลบหนีไปในระหว่างการปล่อยชั่วคราวอีกด้วย ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่เหมาะสมในเวลานั้น

               

“สสส.เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ ช่วยส่งผู้ต้องหาเข้าไปรับการฟื้นฟูสุขภาพเหมือนกับการอยู่ในค่ายทหาร ให้กรมกิจการพลเรือนลงทะเบียนวิจัยสร้างสมรรถนะให้กับร่างกาย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.ดูแลเรื่องยาเสพติดโดยตรง เข้ามาสนับสนุน ให้คำปรึกษา ฝึกอบรมทางจิต สังคม คุณหมอดวงตาจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นวิทยากรแนะนำให้คำปรึกษา ค้นคว้าหาข้อเท็จจริง นักวิจัยจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเอชไอวีและสารเสพติดแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สรุปผล ได้งบประมาณจาก ป.ป.ส.เบิกจ่ายตามระเบียบกรมบัญชีกลาง”

               

Key Success เนื่องจากสังคมให้โอกาสและพร้อมที่จะให้อภัย เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ด้วยระบบปรึกษาหารือในคดียาเสพติดที่เป็นผู้เสพหรือครอบครอง ผู้ติดร่างแห ไม่ใช่ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ อีกทั้งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ในโครงการกำลังใจฯ ทรงริเริ่มช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงที่ติดร่างแหจากคดียาเสพติด เพราะตกกระไดพลอยโจร เนื่องจากอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เมื่อพนักงานตำรวจตรวจค้นพบของกลางก็ต้องจับทุกคนในบ้านสอบสวน พี่น้อง ลูกเมียกดดันตกลงกันเอง ให้ออกมา ไม่ได้ตัวการที่แท้จริง ดังนั้นจึงสกรีนพวกร่างแหออกไปจะได้ไม่ต้องมาติดคุก เป็นการให้โอกาสคนที่มีพื้นฐานไม่มีความคิดที่จะทำความผิด     ขณะเดียวกันเรือนจำปรับโครงสร้าง ปล่อยตัวผู้ต้องโทษที่มีความประพฤติดีออกไปก่อนที่จะครบกำหนดโทษ ด้วยการเข้าโปรแกรมรับการฝึกอบรม 3-6 เดือน เป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้เครือข่ายชุมชนภาคสังคมมีส่วนร่วม

               

ผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นอาสาสมัครไม่มีเงินเดือน ได้ค่าตอบแทนครั้งละ 1,000 บาท ผ่านการฝึกอบรมจากกรมสุขภาพจิต ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุแล้วเคยทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมในศาล เข้าใจปัญหาครอบครัว สังคม มีจิตใจเป็นกุศล งานนี้ต้องใช้เวลาในการพูคคุยทำความเข้าใจเป็นอย่างดี เป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีแม้จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณในการจ้างอาสาสมัคร

               

“เป็นความคุ้มค่าในการปล่อยผู้ต้องขัง 1 คนออกไปจากเรือนจำ เพราะต้องใช้งบประมาณในการกักขัง ยิ่งถ้าปล่อยคนที่ไม่ได้กระทำผิดเพราะเจตนา เป็นการสร้างประโยชน์ให้สังคม ประเทศชาติได้ คุณค่าที่เกิดจากตัวเองเป็นภาพรวมจึงเป็นสิ่งที่ประเมินเป็นตัวเงินไม่ได้ ยิ่งถ้าเขาได้ประสบการณ์ที่ดีจะเป็นเครือข่ายโน้มน้าวคนอื่นไม่ให้ทำความผิดได้ สำนักงาน ป.ป.ส.อยากได้คำยืนยันสนับสนุนโครงการคลินิกจิตสังคมต่อไป เพื่อขยายไปยังศาลอื่นด้วย”

               

อนึ่ง ศาลอาญาธนบุรีมีพื้นที่ครอบคลุมสมุทรสาคร บางบอน บางแค บางขุนเทียน ภาษีเจริญ เพชรเกษม พรานนก ฯลฯ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีผู้ใช้แรงงานทอผ้า ตัดเย็บ พลาสติกเป็นจำนวนมาก มีโรงงานสีขาว ถ้าพบพนักงานติดยาก็จะถูกไล่ออก ไม่มีเงินเดือนค่าจ้าง แต่ติดยากลายเป็นปัญหาที่กลับมาอยู่ในเรือนจำ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"