"รัฐบาล" เตรียมตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ "บิ๊กตู่" นั่งคุมเอง เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน น้ำโขงแห้งขอดวิกฤติหนัก ช่วงหนองคายพบตะไคร่ สาหร่ายขึ้นเขียวครึ้ม เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เหลือน้ำต้นทุนไม่ถึง 25% แทบหยุดการระบายน้ำโดยสิ้นเชิง กรมชลฯ เร่งช่วย กปน.แก้ประปาเค็ม เตือน 8-9 ม.ค. น้ำทะเลหนุนสูง เปิดศูนย์แจกน้ำจืด
เมื่อวันที่ 5 มกราคมนี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบกรอบรายละเอียดโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้บัญชาการอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ และกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ทำหน้าที่ประสานงานการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มาตรา 24 เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราวจนกว่าปัญหาวิกฤติน้ำจะพ้นไป ซึ่งแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำจะแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงานออกเป็นกลุ่มอำนวยการ กลุ่มคาดการณ์ กลุ่มบริหารจัดการ และกลุ่มแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติงาน
โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยอีกว่า นายกฯ กล่าวว่าวิกฤติภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออย่างเป็นระบบ เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต แต่ยังส่งผลถึงภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมามีการดำเนินงานผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขวิกฤติภัยแล้งปีนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันท่วงที ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการวางแผนการใช้ทรัพยากรน้ำในระยะยาว ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่มีเป้าหมาย ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
"ในวันที่ 7 มกราคมนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ รวมทั้งเห็นชอบให้สำนักงบประมาณดำเนินการตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานดังกล่าวตามความจำเป็นต่อไป" นางนฤมลกล่าว
น้ำโขงแห้งขอด
ด้านสถานการณ์ที่จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำ เปลี่ยนสี และเกิดตะไคร่น้ำ สาหร่ายใต้น้ำเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กระทบวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยเฉพาะชาวบ้านหาดทรายทอง ต.หาดคำ อ.เมืองหนองคาย หาปลาได้น้อยลง หลายคนต้องหยุดจับปลาชั่วคราว หันไปรับจ้างทำงานอย่างอื่นแทน ทั้งนี้ ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ วัดระดับน้ำอยู่ที่ 1.46 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 10.74 เมตร และยังเกิดปรากฏการณ์น้ำโขงเปลี่ยนสีติดต่อกันหลายวัน
นครพนม ระดับน้ำโขงบางจุดแห่งขอด มีระดับน้ำต่ำเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้หลายจุดในพื้นที่ อ.เมือง อ.ท่าอุเทน อ.บ้านแพง และ อ.ธาตุพนม เกิดสันดอนทรายเป็นพื้นที่กว้าง ระยะทางยาวกว่า 1 กม. เริ่มกระทบต่อการเดินเรือข้ามฟากของชาวบ้านที่มีอาชีพทำประมงจับปลาน้ำโขง ต้องเดินเรืออ้อมไกลและหาปลายากมากขึ้น นอกจากนี้ยังกระทบชาวบ้านที่ทำการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง ต้องเพิ่มระยะทางการสูบน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ส่งผลให้มีต้นทุนสูง
บุรีรัมย์ หลังจากน้ำในอ่างเก็บน้ำสนามบิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบเพียงแห่งเดียวที่ใช้สำหรับผลิตน้ำประปา มีสภาพตื้นเขิน บางจุดแห้งขอดจนมองเห็นเนินดินได้อย่างชัดเจน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ทำให้หน่วยงานต่างๆ เร่งแก้ปัญหา โดยเบื้องต้นได้สูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย อ.ละหานทราย ผ่านคลองธรรมชาติ และร่องกลางถนน ไปเติมยังอ่างเก็บน้ำสนามบิน ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้สูบมาแล้วประมาณ 100,000 ลูกบาศก์เมตร จากที่ตั้งเป้าจะสูบมาเติม 700,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อสำรองไว้ผลิตประปา พร้อมทั้งปรับลดแรงดันน้ำเหลือเพียงวันละ 13 ชั่วโมง นอกจากนี้มีการระดมเครื่องจักรมาขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อดึงน้ำใต้ดินมาสำรองไว้ใช้ในการผลิตประปาด้วย
อุบลราชธานี ชาวนาใน อ.ดอนมดแดง หลังประสบภัยน้ำท่วมใหญ่จนนาข้าวเสียหาย ต้องมาปลูกนาปรังทดแทนหาข้าวไว้กิน แต่ก็มาประสบปัญหาน้ำแล้งอีก ต้องให้ชลประทานส่งน้ำเข้าช่วยเหลือเพื่อปลูกข้าวให้พอกิน นายสรายุทธ แสนทวีสุข เกษตรกรรายหนึ่ง เปิดเผยว่า จำเป็นต้องขอให้ชลประทานช่วยสูบน้ำจากแม่น้ำมูลช่วยเลี้ยงนาข้าว โดยเสียค่าสูบน้ำให้เป็นรายไร่ เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไว้กิน
ลพบุรี สถานการณ์น้ำที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง น้ำต้นทุนเหลือไม่ถึงร้อยละ 25 ของความจุเขื่อน ทำให้ทางเขื่อนยังคงปรับลดการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพจากมุมสูงจะเห็นสภาพความตื้นเขินและสันดอนตามแนวเขื่อน โดยเฉพาะบริเวณประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน ด้านท้ายเขื่อน ปัจจุบันได้เปิดประตูระบายน้ำเพียงบานเดียวให้น้ำไหลผ่านเพียงเล็กน้อย เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำ ทำให้น้ำตื้นเขินเป็นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ขึ้นป้ายข้อความขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าปากทางเข้าเขื่อน ว่า ปีนี้น้ำในเขื่อนมีน้อย ไม่เพียงพอสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง วอนเกษตรกร เสี่ยงการขาดแคลนน้ำในอนาคต ไม่ควรเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแจ้งให้เกษตรกรลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกตลอดฤดูกาล ซึ่งอาจทำให้นาข้าวเสียหายได้ โดยเกษตรกรควรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนเพื่อลดความเสี่ยงพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังเพื่อสำรองน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้สำหรับเพื่อการอุปโภคและบริโภคไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
เตือนน้ำทะเลหนุน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานโครงการชลประทานที่ 11 เตรียมแผนบริหารจัดการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นเครื่องมือเสริมในการควบคุมค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและภาคการเกษตร เสริมจากการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และผันน้ำแม่น้ำแม่กลองมาผลักดันความเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งวันที่ 8-9 มกราคมนี้ โดยในช่วงน้ำทะเลลงจะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาออก ส่วนช่วงน้ำทะเลขึ้นจะปิดประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำทะเลไหลเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ปัจจุบันระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอัตรา 85 ลบ.ม./วินาที โดยยังคงรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมไว้ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มาสำรองไว้ที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาไว้แล้ว ซึ่งจะระบายมาเจือจางค่าความเค็มด้านท้ายลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองทางคลองจระเข้สามพัน และคลองท่าสาร-บางปลา มายังแม่น้ำท่าจีนในอัตรา 25 ลบ.ม./นาที แล้วระบายผ่านคลองพระยาบันลือลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมั่นใจว่าจะควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และการทำการเกษตรพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาด้านท้ายได้
นายทองเปลวกล่าวว่า ค่าความเค็มอาจสูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังในช่วงที่น้ำทะเลขึ้น ซึ่งประสานกับการประปานครหลวง เพื่อให้งดสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ในช่วงน้ำทะเลขึ้น เมื่อน้ำทะเลลงและตรวจวัดค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร จึงสูบส่งต่อมายังโรงกรองน้ำบางเขนเพื่อผลิตน้ำประปาตามปกติ ส่วนที่เป็นห่วงว่าชาวนา 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังถึง 1.58 ล้านไร่ อาจส่งผลให้มีการดึงน้ำที่สงวนไว้สำหรับอุปโภค-บริโภคไปใช้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งล่วงหน้าว่าไม่มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากกรมชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุน แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งทำนาปรัง เนื่องจากมีแหล่งน้ำของตัวเอง เช่น บ่อบาดาล สระน้ำชุมชน อีกส่วนหนึ่งปลูกโดยรับทราบความเสี่ยงว่าอาจประสบภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้แจ้งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเตือนโดยตลอด แต่ขณะนี้อัตราการปลูกเพิ่มลดลงแล้ว
แจกน้ำประปาจืด
การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยภาพรวมน้ำประปาวันที่ 5 ม.ค. ว่า ค่าคลอไรด์น้อยกว่า 250 มิลลิกรัม/ลิตร ค่าความนำไฟฟ้าน้อยกว่า 1,200 ไมโครซีเมนต์/เซนติเมตร ไม่ส่งผลต่อการรับรู้รสชาติ พร้อมแนะนำประชาชนสำรองน้ำไว้บริโภค
พร้อมกันนี้ กปน.ได้จัดโครงการแจกน้ำประปาสำหรับดื่มฟรี โดยเป็นน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กลองและไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็ม แต่ขอให้ประชาชนนำภาชนะมารับน้ำประปาดื่มได้ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้านท่านทั้ง 18 สาขา เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป
สำหรับจุดรับน้ำฟรี ได้แก่ 1.สาขาสุขุมวิท บริเวณสถานีสูบน้ำจ่ายน้ำคลองเตย อาคารซอยสวัสดี ซอยสุขุมวิท 31 2.สาขาพระโขนง บริเวณสำนักงานประปาสาขาพระโขนง 3.สาขาสมุทรปราการ บริเวณสำนักงานประปาสาขาสมุทรปราการ/ถนนบางพลีน้อย-สีล้ง ต.บางพลีน้อย อ.บางบ่อ 4.สาขาแม้นศรี บริเวณสำนักงานประปาสาขาแม้นศรี 5.สาขาพญาไท บริเวณสำนักงานประปาสาขาพญาไท 6.สาขาทุ่งมหาเมฆ บริเวณสำนักงานประปาสาขาทุ่งมหาเมฆ 7.สาขาลาดพร้าว บริเวณสำนักงานประปาสาขาลาดพร้าว 8.สาขามีนบุรี บริเวณสำนักงานประปาสาขามีนบุรี 9.สาขาสุวรรณภูมิ บริเวณสำนักงานประปาสาขาสุวรรณภูมิ 10.สาขานนทบุรี บริเวณสำนักงานประปาสาขานนทบุรี
11.สาขาประชาชื่น บริเวณสำนักงานประปาสาขาประชาชื่น 12.สาขาบางเขน บริเวณสำนักงานประปาสาขาบางเขน 13.สาขาบางกอกน้อย บริเวณโรงผลิตน้ำธนบุรี 14.สาขาตากสิน บริเวณสำนักงานประปาสาขาตากสิน 15.สาขาภาษีเจริญ บริเวณสำนักงานประปาสาขาภาษีเจริญ 16.สาขาสุขสวัสดิ์ บริเวณหน้าโรงเรียนราชประชาสมาสัย (ฝ่ายมัธยม)/บริเวณก่อนขึ้นสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ถนนเชิงสะพานภูมิพล 17.สาขามหาสวัสดิ์ บริเวณสำนักงานประปาสาขามหาสวัสดิ์/บริเวณแยกบางสีทอง ถนนนครอินทร์/บริเวณสะพานมหาเจษฎาบดินทร์ ถนนนนทบุรี 1 18.สาขาบางบัวทอง บริเวณสำนักงานประปาสาขาบางบัวทอง/บริเวณหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลไทรน้อย/บริเวณเชิงสะพานลอย ใกล้ปากซอยท่าอิฐ ถนนรัตนาธิเบศร์/บริเวณหน้าปั๊มแก๊ส LPG ปตท. ถนนชัยพฤกษ์ตัดใหม่"
พลเรือโทประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะโฆษก ทร. กล่าวถึงปัญหาคนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากน้ำประปากร่อยว่า กองทัพเรือ โดยกรมกิจการพลเรือน (กองบรรเทาสาธารณภัย) และศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือกำลังเฝ้าติดตามข่าวสารนี้ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ตามขีดความสามารถ และรอรับการประสานเพื่อช่วยเหลือต่อไป แต่ขณะนี้จะรอให้หน่วยดำเนินการบริหารจัดการน้ำพิจารณาตรวจสอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน จากนั้นหากมีสิ่งใดที่กองทัพเรือสามารถให้การสนับสนุนได้ ก็จะร่วมกันดำเนินการต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |