ม.รังสิตประเมินเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 1.8-2.9% ในปีนี้ ย้ำยังไม่ถึงขั้น 'เผาจริง'


เพิ่มเพื่อน    

5 ม.ค.2563 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงมากและยังมีการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ยังไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่หลายท่านเรียกว่า “เผาจริง” แต่อย่างใดหรือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 เพียงแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำต่อเนื่องยาวนานอันเป็นผลจากปัญหาในเชิงโครงสร้างความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันจากคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพการศึกษาการแพร่กระจายของการคอร์รัปชันในทุกระดับ รวมทั้งความเสื่อมศรัทธาอันเป็นผลจากการไม่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรม 

นอกจากนี้ยังไม่สามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิสรัปชันได้อย่างเท่าทันทั้งในส่วนของกิจการและธุรกิจต่างๆตลอดจนถึงคนงาน จึงทำให้เกิดภาวะเลิกจ้างและว่างงานเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ. 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8-2.9% ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยจะมีจีดีพีต่ำที่สุดเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ในปีนี้  อัตราการขยายตัวจีดีพีโดยเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 6% เศรษฐกิจไทยอาจกระเตื้องขึ้นได้เล็กน้อยหากภาคการลงทุนและภาคการส่งออกฟื้นตัว 

การเรียงลำดับความสำคัญของการเร่งรัดในการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจึงมีความสำคัญ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 2.6-2.9% ซึ่งเป็นกรอบการคาดการณ์ด้านสูงของศูนย์วิจัยฯมีความเป็นไปได้ ขณะที่กรอบการคาดการณ์ด้านต่ำมีความเป็นไปได้มากกว่า คือ ขยายตัวต่ำกว่า 2% 

การที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้วทั้งที่สถานการณ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯดีขึ้นเป็นผลจากปัจจัยลบดังต่อไปนี้ ปัจจัยที่หนึ่ง วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่อันเป็นผลมาจากการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การขาดระบบนิติธรรมและการขาดความเป็นธรรมในสังคมรวมทั้งการสร้างกระแสเกลียดชังกันครั้งใหม่ด้วยการปลุกกระแส “ชังชาติ” ขึ้นมาหรือการให้ร้ายป้ายสีโดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับเรื่องแนวคิดในการล้มล้างสถาบันหลักของประเทศ ภาวะดังกล่าวเป็นวิกฤติที่คนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้รักสามัคคีและไม่ยึดถือความปรองดองสมานฉันท์สร้างขึ้นมาเอง และสิ่งนี้จะมีผลกระทบต่อภาคการลงทุน การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวอย่างยากที่จะคาดเดาได้ 

ปัจจัยที่สอง สงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯลุกลามจนอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่า 20% จากระดับปัจจุบันในช่วงไตรมาสแรก กระทบต่อเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง กระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียโดยรวมจากการพึ่งพาน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง 

ปัจจัยที่สาม ภาคการท่องเที่ยวของเอเชียและไทยอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีระดับความรุนแรงในการแพร่ระบาดแบบเดียวกับโรคซาร์เมื่อ 17 ปีก่อน ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเรื่องดังกล่าวในไทยดีเท่าที่ควร ทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดอาจไม่มีประสิทธิภาพ 

ปัจจัยที่สี่ ผลกระทบภัยแล้งจะกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรมจนทำให้ปริมาณผลผลิตโดยรวมขยายตัวติดลบได้ คาดว่าติดลบประมาณ -0.5 ถึง -1% ทั้งปี โดยไตรมาสสองอัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตอาจติดลบมากกว่า -1.5% ขณะที่ราคาผลผลิตบางส่วนจะปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานลดลงขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากขาดแคลนน้ำในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก แม่น้ำโขง รวมทั้งแม่น้ำหลายสายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบภาวะแห้งขอด และเป็นวิกฤติหายนะทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุด 

ขณะที่ ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจัยที่หนึ่ง เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย ส่งผลบวกต่อภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยในระดับหนึ่ง ปัจจัยที่สอง การใช้งบประมาณปี 2563 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีความจำเป็นในการเร่งรัดการใช้จ่ายจากระยะเวลาที่เหลืออีก 9 เดือนของปีงบประมาณ 2563 ปัจจัยที่สาม ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังดีอยู่ ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้สินต่างประเทศระยะสั้นต่ำ การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อต่ำ ปัจจัยที่สี่ การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและทางการคลัง ปัจจัยที่ห้า การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ   ปัจจัยบวกเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดการกระจายตัวของผลประโยชน์ไปยังประชาชนส่วนใหญ่และธุรกิจรายเล็กรายกลางมากนัก เพราะไทยไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เศรษฐกิจยังคงมีการผูกขาดสูงขาดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจตลาดการแข่งขันไม่เสรีจริง สังคมผู้สูงวัยทำให้ผลิตภาพโดยรวมปรับลดลง โครงสร้างเศรษฐกิจยังคงพึ่งพาภายนอกสูง เป็นต้น 

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะไม่ได้ไปเน้นไปที่การสร้างงานสร้างรายได้ แต่เป็นเน้นการแจกเงินทำให้ประชาชนเสพติดประชานิยม ประชานิยมแบบนี้จะสร้างปัญหาฐานะทางการคลังในระยะต่อไป การกระตุ้นภาคการบริโภคติดข้อจำกัดหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงแตะ 80% ของจีดีพี ขณะที่ การกระตุ้นภาคการลงทุนอาจได้ผลบ้างเนื่องอัตราการใช้กำลังการผลิตในบางธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนอยู่ในระดับ 70-80% และจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนอาจไม่สูงนักเนื่องจากมีการลงทุนส่วนเกินอยู่ ดอกเบี้ยต่ำช่วยประคับประคองการลงทุนได้ระดับหนึ่ง ควรผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเนื่องจากยังไม่มีสัญญาณของปัญหาฟองสบู่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เหตุการณ์หรือปัจจัยที่ต้องจับตาและติดตามในปีนี้ ได้แก่ เหตุการณ์หรือปัจจัยภายใน การอนุมัติงบประมาณปี 2563 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนมกราคม การประมูล 5G การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ในเดือนกุมภาพันธ์  สถานการณ์เลิกจ้างยังเกิดอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกและไตรมาสสองปีนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนมีนาคม เป็นต้น ส่วนเหตุการณ์หรือปัจจัยในต่างประเทศ ได้แก่ การเซ็นข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯกับจีน 15 ม.ค. เส้นตาย Brexit เดือนมกราคม การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จีนช่วงครึ่งปีหลัง การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เดือน ก.ค. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือน พ.ย. เป็นต้น  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"