"ธรรมนัส" ฟุ้งจะทำให้ราคายางเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 65 บาท ขณะที่ "เทพไท" หักหน้ารัฐบาล แก้ปัญหาสู้รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ นโยบายประกันรายได้เกษตรกรเป็นแค่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะหน้า แถมไม่ทั่วถึง เตือน "จุรินทร์" แก้ปัญหาก่อนชาวสวนยางชุมนุมกดดันรัฐบาล
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกระแสข่าวว่ามีการเตรียมของบกลาง 18,000 ล้านบาท จัดทำโครงการหมอนยางพาราประชารัฐ โดยรับซื้อน้ำยาง 150,000 ตัน จากสถาบันเกษตรกรมาผลิตหมอน 30 ล้านใบ เพื่อแจกแก่ประชาชนและให้หน่วยราชการนำไปใช้ เป็นโครงการต่อเนื่อง 4 ปี ซึ่งปีนี้จะเริ่มผลิต 3,000,000 ใบ ใช้งบกลาง 4,000 ล้านบาท แจกชุดแรกตั้งแต่ 1 ก.พ.ถึง 30 พ.ย.นี้ ว่าตนไม่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าว เนื่องจากอยู่ระหว่างมอบหมายคณะทำงานหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับกระทรวงต่างๆ ซื้อยางพารามาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้น จากปัจจุบันราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 40-42 บาทต่อกิโลกรัม โดยพรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้ว่าจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 65 บาท
ร.อ.ธรรมนัสกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้มอบหมายคณะทำงานศึกษาการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และใช้ประโยชน์หลายรูปแบบ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะทำโครงการใดและใช้งบประมาณเท่าไร เนื่องจากการใช้งบประมาณแผ่นดินจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งเชิญผู้แทนสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางมาให้ข้อเสนอแนะเป็นระยะๆ หากวิธีการใดไม่เหมาะสมจะไม่ปฏิบัติอย่างเด็ดขาด เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งเกษตรกรและประชาชน
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้รับการบอกกล่าวและร้องทุกข์จากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นจำนวนมาก ถึงสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เลี้ยงครอบครัวจากการขายยางพาราเพียงอย่างเดียว เมื่อราคาตกก็กระทบต่อรายได้ของครอบครัวที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การส่งเสียบุตรหลานเรียนหนังสือ ค่าผ่อนรถยนต์ และดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธ.ก.ส. ล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นทั้งสิ้น ซึ่งในขณะนี้ราคายางพาราในท้องตลาดราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท และมีแนวโน้มจะตกต่ำลงเรื่อยๆ
เขากล่าวว่า แม้ว่านโยบายของรัฐบาลในการประกันรายได้เกษตรกรได้ประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะหน้า ไม่ทั่วถึงกับเกษตรกรทุกคนเหมือนราคาทั่วไปในท้องตลาด ทำให้ชาวสวนยางพาราทุกคนหวนระลึกถึงยุครัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ที่ราคายางพาราสูงถึงกิโลกรัมละ 180-200 บาท ซึ่งโอกาสอย่างนั้นคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว แต่ชาวสวนยางก็คาดหวังเพียงให้ราคายางพารากิโลกรัมละ 60 บาท เท่ากับราคาประกันรายได้เกษตรกรในตอนนี้ เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องแบกภาระส่วนต่างจากราคาประกันรายได้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นภาระด้านงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลจำนวนมาก
สำหรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรในจำนวนพืชหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, ยางพารา และปาล์มน้ำมัน รัฐบาลได้แก้ปัญหารายได้ให้กับเกษตรกรทุกอาชีพได้ระดับหนึ่ง ยกเว้นเกษตรกรชาวสวนยางพาราเท่านั้น ส่วนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม รัฐบาลประกันรายได้ราคาปาล์มน้ำมัน 18% ราคากิโลกรัมละ 4 บาท แต่ขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันขยับสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 6.50 บาท สูงกว่าราคาประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลแล้ว ทำให้รัฐบาลไม่ต้องชดเชยส่วนต่างใดๆ ทั้งสิ้น
นายเทพไทกล่าวว่า สำหรับราคายางพาราที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ในขณะนี้ นับว่าเป็นความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ในฐานะที่เป็น ส.ส.คนหนึ่ง ที่มีพื้นที่เลือกตั้งประกอบด้วยเกษตรชาวสวนยางพาราเป็นส่วนใหญ่ จะนำปัญหานี้เข้าหารือในที่ประชุม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 7 ม.ค.ก่อน เพื่อสอบถามปัญหาและแนวทางแก้ไขจากรัฐมนตรีของพรรค ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบื้องต้น ก่อนที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราจะนัดชุมนุมเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลต่อไป
"ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราใจเย็นอีกนิด รอฟังแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลก่อน และตนในฐานะ ส.ส.คนหนึ่งจะไม่นิ่งดูดาย จะทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน"
ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ตำหนิผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าไม่ได้เสนอแนวทางแก้ไขด้วยนั้น นายเทพไทกล่าวว่า วันนี้เมื่อตนเองได้พูดถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำแล้ว จะขอเสนอแนวทางแก้ไขให้รัฐบาลด้วยคือ ขอเสนอให้รัฐบาลจัดงบประมาณปีละ 1 แสนล้าน รับซื้อน้ำยางพารา เพื่อนำไปทำถนนลาดยางในชนบท แก้ปัญหาถนนลูกรังทั่วประเทศ ซึ่งมีระยะทางประมาณ 8-9 แสนกิโลเมตร เป็นการลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานของคนในชนบทครั้งใหญ่ คุ้มค่าแก้การลงทุน จะได้รับประโยชน์หลายในด้าน
อาทิ 1.เป็นการล้างสต๊อกยางทั้งหมด ทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น 2.คนในชนบทจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีถนนปลอดฝุ่นใช้สัญจรไปมาในหมู่บ้าน 3.การขนส่งผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดได้คล่องตัว สะดวกสบาย ประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หาก พล.อ.ประยุทธ์รับข้อเสนอดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าสามารถแก้ไขปัญหาราคายางพาราได้มากกว่าโครงการทำหมอนยางพาราประชารัฐ 30 ล้านใบ แจกให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นเพียงนโยบายประชานิยมแบบเดิมๆ เท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |