ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รูดม่านลงในปี ค.ศ.1945 ได้เกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมขึ้นทั่วโลก หลายประเทศทำสำเร็จและได้รับอิสรภาพภาพอย่างไม่ยากเย็นจนเกินไป เพราะเจ้าอาณานิคมก็ล้วนบอบช้ำจากสงครามโลกมาหมาดๆ แต่ในรายของฝรั่งเศสนั้นมักไม่ยอมให้ชาติใดแยกตัวออกไปง่ายๆ
นักประวัติศาสตร์นาม “โทนี เชเฟอร์” ได้ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า เหตุที่ฝรั่งเศสยังคงกระหายจะรักษาอำนาจในดินแดนโพ้นทะเลอยู่ก็เพราะว่าพวกเขาต้องการจะล้างภาพความอัปยศอดสูของตัวเองจากการถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมันเป็นเวลายาวนานนั่นเอง
รูปปั้นท่านผู้นำโฮ จิ มินห์ บริเวณหน้าทางเข้าห้องจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์สมรภูมิเดียนเบียนฟู
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1946 หรือในยุคสาธารณรัฐที่ 4 กำหนดให้มีสหภาพฝรั่งเศส (French Union) ขึ้นสำหรับจัดการดูแลประเทศในจักรวรรดิฝรั่งเศสแทนที่การปกครองประเทศอาณานิคมในระบบเดิม
กองทัพประชาชนเวียดนาม หรือ “เวียดมินห์” โดยการนำของ “โฮ จิมินห์” ที่ได้ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ฝรั่งเศส (และโดยความช่วยเหลือจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา) ต้องการกลับเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้อีกครั้ง อีกทั้งเพื่อยับยั้งการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ กลายเป็นจุดเริ่มของสงครามอินโดจีน (ครั้งที่ 1) ระหว่างปี ค.ศ.1946-1954
ตลอดการสู้รบ 8 ปีในภูมิภาค ฝ่ายเจ้าอาณานิคมโลกประชาธิปไตยตะวันตกได้ปวกเปียกลงไปพอสมควรแล้ว เวียดมินห์ที่มีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ทางเหนือของเวียดนามได้รุกและยึดเข้าไปในลาวจนถึงหลวงพระบางและทุ่งไหหิน ฝ่ายฝรั่งเศสจึงคิดหาหนทางตัดการสนับสนุนด้านต่างๆ จากเวียดนามตะวันตกเฉียงเหนือเข้าไปในลาว แล้วก็มาลงที่การเลือกเดียนเบียนฟูในจังหวัดเดียนเบียนอันเป็นอาณาเขตติดต่อกับลาวเพื่อทำการยุทธกับเวียดมินห์ในโซนนี้
ในเวลานั้นแม้แต่พวกเดียวกันเองจำนวนไม่น้อยก็ยังมองว่าเสี่ยงเกินไป แต่นายพลอองรี นาวาร์ ผู้บัญชาการรบคนใหม่ในภูมิภาคอินโดจีน ที่เพิ่งมาถึงในกลางปี ค.ศ.1953 ไม่คิดเช่นนั้น มองว่า “ยุทธวิธีตัวเม่น” โดยการยึดหัวหาดทางอากาศ มีการส่งกำลังบำรุงที่ดี ล่อให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี แต่จะโดนตอบโต้หนักกว่าด้วยอาวุธที่ดีกว่า ซึ่งฝรั่งเศสเคยทำสำเร็จในปลายปี ค.ศ.1952 ในยุทธภูมินาซัน (จังหวัดเซินลา ติดกับจังหวัดเดียนเบียน) จะเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยครานั้นกองทัพเวียดมินห์สูญเสียอย่างหนัก เขาคิดว่ายุทธการที่เดียนเบียนฟูจะเป็นนาซัน 2 ในสเกลที่ใหญ่กว่า
หุ่นจำลองขณะโฮ จิ มินห์ และหวอ เหงียน ซ้าป กำลังวางแผนการรบ
ความผิดพลาดสำคัญมาจากการประเมินว่าเวียดมินห์ไม่มีปืนต่อสู้อากาศยานที่มีประสิทธิภาพสูงและมีจำนวนมากเพียงพอ นายพลหวอ เหงียน ซาป ผู้บัญชาการรบกองทัพเวียดมินห์ได้สรุปบทเรียนคราวก่อน สะสมอาวุธหนักไว้เป็นจำนวนมาก โดยการช่วยเหลือจากทั้งจีนและโซเวียต นายพลซาปคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่าไม่ช้าก็เร็ว การรบที่เดียนเบียบฟูจะต้องเกิดขึ้นแน่
การยึดหัวหาดทางอากาศของฝรั่งเศส เริ่มในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1953 โดยการปล่อยพลร่ม 9,000 นาย และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงแทร็กเตอร์เกลี่ยดินลงเหนือรันเวย์ที่ญี่ปุ่นได้สร้างไว้ช่วงยึดเวียดนามในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปฏิบัติการนี้เรียกว่า “โอเปอเรชั่นคาสเตอร์” พวกเขาทำได้สำเร็จในเวลา 3 วัน มีการต่อต้านจากฝ่ายเวียดมินห์ แต่ไม่ระคายผิว ทหารฝรั่งเศสตั้งฐานที่มั่นได้สำเร็จ ซ่อมทางวิ่งเครื่องบินจนใช้งานได้ สามารถส่งกำลังเสริม ยุทธภัณฑ์ และเสบียงอย่างไม่ยากลำบากนักในช่วงแรกๆ นายพลนาวาร์ยังเคยบินมาเยี่ยมในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน
อย่างไรก็ตาม เดียนเบียนฟูคือหุบเขากว้างใหญ่ นายพลซาปได้กล่าวไว้ว่าเป็นเหมือนชามข้าว พวกฝรั่งเศสอยู่ในชาม เวียดมินห์อยู่รอบๆ ตรงขอบชาม นอกจากนี้ยังได้ส่งทีมอาสาสมัครไปดูลาดเลาจุดตั้งปืนใหญ่ของฝรั่งเศสอีกด้วย
ความผิดพลาดอีกประการของฝรั่งเศสคือ การที่นายพลนาวาร์ตั้งผู้พันคริสติยอง เดอ กัสทรี เป็นแม่ทัพประจำสมรภูมินี้ เพราะนาวาร์คิดว่าการที่รบเดียนเบียนฟูเป็นการรบแบบเคลื่อนที่ตามความถนัดของเดอ กัสทรี ผู้เป็นทหารม้า แต่ความจริงแล้วเป็นการรบแบบสนามเพลาะมากกว่า ซึ่งเดอ กัสทรี ไม่ใช่ผู้ชำนาญการ
หุ่นจำลองการรบของทหารเวียดมินห์
ไม่ห่างจากเดียนเบียนฟูยังมีอีกสมรภูมิที่อยู่ในสภาวะยันกันอยู่คือที่ไลโจว ติดกับชายแดนจีน นายพลซาปคาดว่าหากโจมตีฝรั่งเศสที่ไลโจว (กองกำลังชนชาติไต) อย่างหนัก ทัพฝรั่งเศสจะละทิ้งไลโจวไปสมทบกันที่เดียนเบียนฟู อันจะทำให้เวียดมินห์ไม่ต้องพะวงหลังและสามารถทุ่มสรรพกำลังมาที่เดียนเบียนฟู
นายพลซาปสั่งการให้กองกำลังเวียดมินห์โจมตีที่ไลโจว พร้อมๆ กับที่เดียนเบียนฟูในวันที่ 24 พฤศจิกายน 1953 พลตรีเรเน ค็อกนี ผู้บัญชาการเขตตังเกี๋ย ออกคำสั่งให้สละไลโจวเพื่อไปยังเดียนเบียนฟู พวกเวียดมินห์ก็ดักโจมตีระหว่างทางจนฝ่ายฝรั่งเศสเหลือรอดไปถึงเดียนเบียนฟูเพียงหยิบมือ ที่เหลือถูกฆ่า ถูกจับเป็นเชลย และหนีเข้าไปในลาว
ผู้พันเดอ กัสทรี ตั้งฐานบัญชาการรบประจำยุทธภูมิขึ้นไม่ห่างจากรันเวย์ ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำยุม (อาจเรียกน้ำซำและแม่น้ำหม่า) ล้อมรอบด้วยป้อมค่าย 8 หน่วย 8 ชื่อ บนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำยุม อันได้แก่ Anne-Marie ทางตะวันตกเฉียงเหนือ, Gabrielle ทางเหนือ, Beatrice ทางตะวันออกเฉียงเหนือ มี Huguette อยู่ใกล้ๆ ทางทิศเหนือ และ Claudine ใกล้ๆ ทางทิศใต้ Dominique และ Eliane อยู่คนละฝั่งน้ำ ส่วน Isabelle อยู่ห่างออกไปทางใต้ถึง 6 กิโลเมตร เพื่อรักษารันเวย์อีกแห่ง (สำรอง) ในการตั้งชื่อหน่วยที่มั่นทั้งหมดนี้เขาโดนนินทาว่าตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อบรรดาอดีตเมียน้อย แม้ว่าในความเป็นจริงไม่มีใครพิสูจน์ได้
ด้านของกำลังพลและอาวุธนั้น ฝ่ายฝรั่งเศสมีราวๆ 1 หมื่น บวกกำลังเสริมรวมเป็นประมาณ 16,000 นาย ด้านเวียดมินห์มีถึง 5 หมื่นนาย และมีอาวุธทั้งหนักเบามากกว่าฝ่ายฝรั่งเศสถึง 4 เท่า ในด้านชัยภูมิก็ได้เปรียบ พวกเขาขนอาวุธขึ้นทางหลังเขา ขุดอุโมงค์ หรือหาถ้ำเหมาะๆ ตั้งปืนใหญ่เล็งป้อมค่ายของศัตรู แบ่งเป็น 5 หน่วย โอบล้อมอยู่ทางเหนือ ตะวันออก และใต้
ฝ่ายเวียดมินห์เริ่มต้นโจมตีในวันที่ 13 มีนาคม 1954 ป้อมค่าย Beatrice แตกพ่ายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ส่วน Gabrielle และ Anne-Marie ก็ทานได้แค่ 2 วัน ถึงตอนนี้การส่งกำลังเสริมทางอากาศ รวมถึงเสบียงและยุทธภัณฑ์ของฝรั่งเศสเป็นไปด้วยความลำบาก ไม่สามารถอพยพทหารที่บาดเจ็บ ชีวิตในป้อมค่ายดูไร้ขวัญกำลังใจ แม้แต่เดอ กัสทรี ก็อยู่ในสภาพไม่พร้อมบัญชาการ นั่งห่อเหี่ยวหมดอาลัยตายอยากอยู่ในบังเกอร์ ถึงขั้นค็อกนีต้องบินมาจากฮานอยเพื่อจะบัญชาการรบด้วยตัวเอง แต่เครื่องบินก็ถูกปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์โจมตี เขาต้องการจะกระโดดร่มลง แต่ลูกน้องได้ห้ามปรามไว้ สุดท้ายก็ต้องกลับฮานอย
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สมรภูมิเดียนเบียนฟู
จากนั้นเมื่อฝนตกลงมาอย่างหนัก ฐานที่มั่นของฝรั่งเศสที่เป็นแอ่งฝุ่นก็กลายเป็นบ่อโคลน น้ำยุมล้นตลิ่งไหลหลากเข้าสู่ป้อมค่าย ทหารฝรั่งเศสต้องหนีไปหลบตามถ้ำ ออกมาบางครั้งคราวเพื่อรับเสบียงที่หย่อนลงมาจากเครื่องบิน
อย่างไรก็ตาม งานของนายพลซาปที่ดูจะเหมือนจะง่ายในช่วงแรกก็ถูกชะงักไปบ้าง เมื่อกองทหารพลร่มและหน่วยรบพิเศษของฝรั่งเศสถูกส่งมาทางอากาศทำการตอบโต้อย่างแข็งขัน ฝ่ายเวียดมินห์สูญเสียกำลังทหารไปเป็นจำนวนมากจนต้องหยุดการรบในวันที่ 6 เมษายน
ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของเวียดมินห์หลายคนเกรงว่าสหรัฐจะเข้ามาโจมตีทางอากาศ ทหารเสียขวัญไม่อยากบุกไปตายหรือบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บหนักแล้วไม่มีการรักษาพยาบาลที่ดีพอ มีการพิจารณาถึงการถอนกำลัง แต่จีนขอให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อนำชัยชนะในระดับที่น่าพอใจเข้าไปพูดคุยในการประชุมเจนีวาที่กำลังจะมีขึ้นในปลายเดือนเมษายนเกี่ยวกับปัญหาเกาหลี
นายพลซาปกลัวเกิดการขัดขืนคำสั่งภายในหน่วยรบ จึงเรียกกำลังเสริมมาจากลาว และเปลี่ยนแท็กติกการรบเป็นแบบสนามเพลาะที่ขุดเป็นเครือข่ายแมงมุม ค่อยๆ โดดเดี่ยวป้อมค่ายทั้ง 8 ของฝรั่งเศสออกจากกัน ด้าน Isabelle ทางใต้สุดที่มีทหารอยู่เกือบ 2 พันนั้นเมื่อจะเคลื่อนพลมาเสริมบริเวณไข่แดงทางเหนือก็ถูกตีกลับจนทำอะไรไม่ได้ กระสุนและเสบียงร่อยหรอ เคว้งคว้างและสิ้นหวัง
วันที่ 6 พฤษภาคม เวียดมินห์โจมตี Eliane ครั้งใหญ่ โดยเริ่มใช้คัตยูชา เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องจากโซเวียตเป็นครั้งแรก ฝ่ายฝรั่งเศสยิงปืนใหญ่ทีโอที ซึ่งเป็นการยิงจากหลายจุด แต่ทำลายเป้าหมายเดียวกัน ฝ่ายเวียดมินห์สามารถระเบิดป้อม Eliane ได้ในคืนนั้น และยึดป้อมค่ายบนเนินเขาสำคัญนี้เอาไว้ได้ กระทั่งเช้าวันต่อมานายพลซาปก็สั่งระดมการโจมตีฝรั่งเศสที่เหลืออย่างเต็มกำลัง ใช้ทหารเวียดมินห์มากกว่า 25,000 นาย ขณะที่ฝรั่งเศสเหลืออยู่ราว 3,000 นาย สุดท้ายก็ยับเยิน เดอ กัสทรี ยกธงขาวพร้อมคำกล่าว “ฝรั่งเศสจงเจริญ” ในเวลาก่อนฟ้ามืดวันที่ 7 พฤษภาคม 1954 จบสิ้น 8 สัปดาห์แห่งการโรมรัน จากที่คิดจะล่อให้เวียดมินห์มารับกระสุนกลับถูกปิดล้อมและโดนล่อเป้าซะเอง
ภาพประวัติศาสตร์การลงนามข้อตกลงเจนีวาเมื่อกรกฎาคม 1954
ทหารฝรั่งเศส (รวมถึงชาวเวียดนามที่รบให้ฝรั่งเศส) ถูกจับเป็นเชลยเกือบ 12,000 นาย ที่ไม่บาดเจ็บก็ถูกบังคับให้เดินเท้าไปยังค่ายเชลยศึกไกลกว่า 600 กิโลเมตร และต้องตายด้วยโรคต่างๆ ระหว่างทางหลายร้อยชีวิตกว่ากาชาดสากลจะมาถึง ไม่นับรวมที่ตายไประหว่างการสู้รบราว 2 พันนาย ด้านฝ่ายเวียดมินห์รายงานตัวเลขทหารที่สูญเสียชีวิตเพียงประมาณ 4 พันนาย เป็นไปได้ว่าน้อยกว่าความจริงประมาณครึ่งหนึ่ง
การประชุมเจนีวาได้เริ่มคุยถึงสันติภาพในอินโดจีน 1 วันถัดมาหลังศึกเดียนเบียนฟู กระทั่งการประชุมเสร็จสิ้นลงในวันที่ 20 กรกฎาคมปีเดียวกัน ปิแอร์ มองเดส นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ลงนามในข้อตกลงถอนกำลังฝรั่งเศสทั้งหมด แต่ยังขอแบ่งเวียดนามออกเป็นเหนือและใต้ ใช้เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือเป็นเขตคั่น ให้จักรพรรดิบ่าวได๋เป็นประมุขของเวียดนามใต้ และระบุจะจัดให้มีการทำประชามติในอีก 2 ปีหลังจากนั้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น เพราะอเมริกาได้เข้ามารับไม้ต่อเป็นที่เรียบร้อย นำไปสู่สงครามอินโดจีนรอบใหม่ หรือที่เรียกว่า “สงครามเวียดนาม”
รูปปั้นนายพลหวอ เหงียน ซ้าป ผู้บัญชาการรบของเวียดมินห์บริเวณทางออกห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์
ฝรั่งเศสยังคงมีอาณานิคมในแอฟริกา ขบวนการเรียกร้องเอกราชในประเทศเหล่านั้นบ้างประสบชะตากรรมแสนโหดร้าย ต้องสังเวยชีวิตไม่น้อยกว่าจะมีเสรีภาพ เช่น แคเมอรูน ในปี ค.ศ.1960 (แคเมอรูนใต้ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีถัดมา) ส่วนแอลจีเรียที่เริ่มสงครามปลดปล่อยจากจักรวรรดิฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 ไปสำเร็จเอาในปี ค.ศ.1962 มีผู้เสียชีวิตรวมเกือบ 2 แสนราย สร้างปัญหาความไม่สงบตามมาอีกหลายปี อีกทั้งคลื่นผู้อพยพสู่ฝรั่งเศสอีกมหาศาล
ประเทศอย่างโมร็อกโกอาจโชคดีที่มีอิสรภาพในปี ค.ศ.1956 โดยไม่เสียเลือดเนื้อมากนัก และชาติอื่นๆ ในแอฟริกาตะวันตกก็ได้รับการปลดปล่อยเกือบทั้งหมดในปี 1960 อาจยังเหลือคงค้างอยู่บ้างในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ทว่าหลายประเทศที่เจ้าอาณานิคมถอนตัวออกไปต้องประสบกับภาวะสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มต่างๆ
เราอาจจะเคยเห็นอาชญากรสงครามต้องขึ้นศาลโลกมานักต่อนัก ทั้งจากอดีตยูโกสลาเวีย อดีตผู้นำหลายคนจากแอฟริกา จากเขมรแดง หรือแม้แต่ไม่นานมานี้อองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมายังต้องไปให้การที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรณีถูกกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมพวกนักล่าอาณานิคมที่ไปย่ำยีบีฑาและแย่งชิงทรัพยากรคนท้องถิ่นบ้านโน้นเมืองนี้กลับอยู่สบายกันจนสิ้นอายุขัย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |