ปีใหม่ ใครๆ ก็ส่งความสุขให้กับคนที่เรารัก
ส่วนวิธีการส่งความสุขนั้นมีหลายวิธี แต่สำหรับ ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เลือกใช้วิธีส่งความสุขผ่านการทำงานด้านศิลปะ
ดร.เลิศศิริร์ เป็นคนที่เชื่อในคุณค่าของการทำงานศิลปะว่า สามารถส่งความสุขให้กับคนที่ลงมือสร้างผลงาน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ หรืองานขนาดใดก็ตาม รวมทั้งไม่จำเป็นว่า งานที่ออกมาจะต้องมีความสวยงาม ได้รับการยกย่องกับผู้คนทั่วไป ขอเพียงแค่ลงมือทำก็พอแล้ว
ด้วยความชื่นชอบในเรื่องของศิลปะ ดร.เลิศศิริร์จึงเลือกเรียนด้านศิลปะในระดับปริญญาตรีที่ Whitecliff College of Art & Design, New Zealand และด้วยความที่สนใจเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับจิตใจของมนุษย์ จึงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ทางด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (Master of Sciences in Counseling Psychology (MS), Assumption University, Thailand) และไปจบปริญญาเอกด้านศิลปะ จากออสเตรเลีย (Doctor of Creative Arts (DCA), Curtin University, Australia จากนั้นไปเข้ารับการอบรมหลักสูตร Art Therapy Training, Adler School of Professional Psychology, Chicago, USA
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของศิลปศึกษา จิตวิทยาและศิลปบำบัด
นอกจากงานสอนหนังสือในห้องเรียนแล้ว อาจารย์เลิศศิริร์ยังไปทำกิจกรรมด้านศิลปะกับน้องๆ หลายพื้นที่ เพราะเชื่อว่างานศิลปะเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่เราสามารถใช้เติมเต็มความสุข หรือเยียวยาจิตใจผู้คนในยามที่ประสบปัญหาวิกฤติอะไรบางอย่างได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นอาจารย์และลูกศิษย์พากันลงพื้นที่ ในหลายโครงการด้วยการนำศิลปะไปเป็นเครื่องมือเยียวยาจิตใจของผู้คน เช่น โครงการศิลปกรรมบำบัดเด็กเหยื่อน้ำหลาก ดินถล่ม ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ หรือช่วงที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาอุทกภัยเมื่อปี 2554
ล่าสุด ปลายปีที่ผ่านมา อาจารย์เลิศศิริร์นำทีมนักศึกษาระดับปริญญาโทลงไปทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ ที่วัดใหม่สี่หมื่น ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ในบรรยากาศท่ามกลางความสุข
เด็กๆ แต่ละคนวาดภาพออกมาหลากหลาย ภาพเหล่านั้นไม่ได้เน้นความสวยงามเป็นที่ตั้ง แต่ในมุมมองของนักศิลปบำบัด ภาพวาดเหล่านั้นกลับสะท้อนเรื่องราวที่อยู่ในใจของผู้วาดได้อย่างตรงไปตรงมา
ขณะที่น้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมพูดสั้นๆ ตรงกันว่า ทำกิจกรรมวาดภาพแล้ว สนุกดี สบายใจ
อาจารย์เลิศศิริร์เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า นอกจากศิลปะจะเป็นกิจกรรมหรือเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สร้างความสุขให้ผู้คนแล้ว สิ่งที่ลึกไปกว่านั้นอีกคือ การใช้ศิลปะเพื่อการบำบัด หรือที่เรียกว่า ศิลปบำบัด ซึ่งไม่ใช่กิจกรรมศิลปะทั่วไป แต่เป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความรู้จากสาขาต่างๆ ที่เรียกว่าสหวิทยาการ และหากจะนำศิลปบำบัดไปใช้ในการพัฒนา และต่อยอดศักยภาพของมนุษย์ หรือค้นหาสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของผู้คน กระบวนดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่ได้รับการศึกษาตามมาตรฐานหลักสูตรสากล มีความความเชี่ยวชาญและการฝึกฝนเชิงวิชาชีพ รวมทั้งได้รับการรับรองวิชาชีพอย่างถูกต้อง และนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยยังขาดแคลน
ยิ่งสังคมในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้คนประสบปัญหาทางจิตใจ เราจึงได้ยินข่าวคราวการฆ่าตัวตายของคน ทั้งคนทั่วไป และคนที่มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากเรามีเครื่องมือที่ทำให้รู้เท่าทันความนึกคิด หรือพฤติกรรมของคนรอบข้างได้ ก็จะทำให้เราได้ช่วยเหลือเพื่อนๆ ในสังคมได้ การที่เราช่วยกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านศิลปบำบัดเพื่อสร้างบุคลากรในสาขานี้ขึ้นมา ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
อย่างที่บอก บางคนอาจส่งความสุขผ่านคำอวยพร ผ่านการ์ด ผ่านบทเพลง หลากหลาย
แต่สำหรับ ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ แล้ว อยากให้งานศิลปบำบัด เป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เพราะเมื่อเราเข้าใจกัน เราก็จะได้ช่วยกันได้ทันเวลา.
.................................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |