สภาผู้แทนราษฎรตุรกีผ่านกฎหมายให้ความเห็นชอบการวางกำลังทหารในลิเบียเมื่อวันพฤหัสบดี หวังอุ้มชูรัฐบาลลิเบียที่ยูเอ็นหนุนหลังซึ่งกำลังเผชิญศึกจากกองกำลังของนายพลคาลิฟะห์ ฮัฟตาร์ ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รีบปราม "การแทรกแซงของต่างชาติ" ในประเทศที่ติดหล่มสงครามแห่งนี้
สภาผู้แทนราษฎรตุรกีลงมติเมื่อวันพฤหัสบดี ผ่านร่างกฎหมายส่งกำลังทหารเข้าลิเบีย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรตุรกีลงมติผ่านร่างกฎหมายลิเบีย ด้วยคะแนนเห็นชอบท่วมท้น 325 เสียง ต่อ 184 เสียงคัดค้าน ให้อำนาจรัฐบาลส่งกำลังทหารเข้าลิเบีย ต่อมาในวันศุกร์ โฮแกน กิดลีย์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี แสดงท่าทีคัดค้านว่า "การแทรกแซงของต่างชาติจะทำให้สถานการณ์ในลิเบียยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น"
ด้านรัฐบาลอียิปต์ ก็ประณามการลงมติของสภาตุรกีอย่างรุนแรง ระบุว่าเป็นการละเมิดอย่างโจ่งแจ้งต่อกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติลิเบียของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น ขณะที่อิสราเอล, ไซปรัส และกรีซ ตำหนิว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาคนี้ ส่วนสภาผู้แทนราษฎรของลิเบียในภาคตะวันออกซึ่งเป็นพันธมิตรกับฮัฟตาร์ กล่าวว่า การแทรกแซงทางทหารของตุรกีจะถือเป็นการก่อกบฏ
ลิเบียตกอยู่ในภาวะโกลาหลวุ่นวายจากการต่อสู้ภายในประเทศระหว่างฝ่ายตะวันออกและตะวันตก นับแต่กองกำลังที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หนุนหลังโค่นล้มรัฐบาลของโมอัมมาร์ กัดดาฟี เมื่อปี 2554 แล้วฆ่าผู้นำเผด็จการรายนี้
ตุรกีให้การหนุนหลังรัฐบาลข้อตกลงแห่งชาติ (จีเอ็นเอ) ของลิเบีย ภายใต้การนำของฟาเอซ อัลซาร์ราช ซึ่งยูเอ็นและนานาชาติให้การรับรอง ขณะที่กองกำลังของพลเอกฮัฟตาร์ที่รุกโจมตีจีเอ็นเอมาตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว มีคู่ปรับของตุรกีในภูมิภาคนี้ ทั้งซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ให้การสนับสนุน
วันพุธหน้า แอร์โดอันจะให้การต้อนรับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่จะมาทำพิธีเปิดท่อส่งก๊าซโครงการใหม่ และคาดว่าทั้งคู่จะหารือประเด็นลิเบียกันด้วย
ผู้นำตุรกีเคยกล่าวหารัสเซียหลายครั้งหลายหนว่าส่งทหารเอกชนรับจ้างมาสนับสนุนกองกำลังของฮัฟตาร์ แต่รัสเซียปฏิเสธคำกล่าวหานี้ รายงานกล่าวว่า ที่ผ่านมาตุรกีและรัสเซียสามารถร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกรณีความขัดแย้งในซีเรียซึ่งต่างฝ่ายต่างถือหางคนละฝั่ง และคาดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะตกลงกันได้ในแบบเดียวกันสำหรับกรณีของลิเบีย
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว สำนักงานของแอร์โดอันยืนยันว่าได้รับคำร้องขอจากรัฐบาลจีเอ็นเอของลิเบียเพื่อขอความสนับสนุนทางทหาร แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าตุรกีจะส่งกำลังทหารไปเมื่อใด กฎหมายฉบับนี้ให้เวลา 1 ปี
เมฟลุต คาวูโซลู รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกี ทวีตภายหลังการลงมติว่า ญัตติลิเบียมีความสำคัญต่อการปกป้องผลประโยชน์ของตุรกีและเพื่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคนี้
เอเอฟพีกล่าวว่า ตุรกีใช้ความเป็นพันธมิตรของรัฐบาลจีเอ็นเอเพื่อผลประโยชน์ของตน โดยสองฝ่ายเคยลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางทหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน ช่วงที่ซาร์ราชมาเยือนอิสตันบูล ทั้งสองฝ่ายยังลงนามข้อตกลงเขตอำนาจศาลทางทะเลที่ให้สิทธิตุรกีเหนือพื้นที่กว้างใหญ่ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเพิ่งค้นพบแหล่งก๊าซใต้ทะเลด้วย
ข้อตกลงฉบับหลังถูกนานาชาติ โดยเฉพาะกรีซ วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยนักวิเคราะห์กล่าวกันว่า ตุรกีตอบโต้ที่ถูกกีดกันออกนอกข้อตกลงพลังงาน "อีสต์เมดิเตอร์เรเนียนก๊าซฟอรัม" ของภูมิภาคนั้นที่ก่อตั้งโดยไซปรัส, กรีซ, อียิปต์, อิสราเอล, จอร์แดน, อิตาลี และปาเลสไตน์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |