กางแผนยุทธศาสตร์ ธปท. 3 ปี ปูพรม7ด้านรับมือการเปลี่ยนแปลง


เพิ่มเพื่อน    

      “นโยบายการเงิน” ถือเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับหน้าที่ในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) มาตั้งแต่ พ.ค.2543 โดยให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ผ่านการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือเรียกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงิน ควบคู่กับการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

      “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ได้เปิดแผนยุทธศาสตร์การทำงานของ ธปท. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) ที่มุ่งตอบโจทย์ 3 ด้านสำคัญ คือ ด้านเสถียรภาพ (Stability), ด้านการพัฒนา (Development) และด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร (Internal Excellence) ซึ่งส่วนใหญ่เดินหน้าไปได้ตามแผน หรือดีกว่าแผนที่วางไว้ แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

      โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ที่ผู้ว่าฯ ธปท.มองว่า ยังดำเนินการได้อย่างไม่เด็ดขาดนัก! สะท้อนจากที่การแก้ไขปัญหาที่จุดหนึ่ง แต่ก็ยังไปเกิดปัญหาอีกจุดหนึ่ง ไปจนถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และผู้ส่งออกสินค้า ยังทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ไม่มากเท่าที่ควร เหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ธปท.ยังต้องจริงจังกับการทำงานในส่วนนี้ เพื่อต่อยอดไปถึงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ต่อเนื่อง (2563-2565)

        สำหรับโจทย์ใหญ่สำคัญในช่วง 3 ปีจากนี้ คือ “ธปท.ต้องเปลี่ยนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก” ทั้งด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการเมือง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะมีผลกับตลาดเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ธนาคารกลาง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” (Central Banking in a Transformative World)

        “วิรไท” กล่าวถึงหัวใจหลักของยุทธศาสตร์การทำงานในช่วง 3 ปีจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับ “ความท้าทาย” ที่อาจเกิดขึ้น และการวางรากฐานที่สำคัญขององค์กรในระยะ 3 ปี ประกอบด้วยความท้าทายใน 7 ด้าน ได้แก่ ความท้าทายที่ 1 : ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ธปท.ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและศักยภาพของภาคธุรกิจ และสนับสนุนระบบการเงินไทยแข่งขันสร้างนวัตกรรม และมีพัฒนาการด้านการเงินดิจิทัลอย่างเต็มกำลัง

        ความท้าทายที่ 2 : กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่ นั่นหมายถึงต้องกลับมาดูแลกฎเกณฑ์กำกับดูแล ที่เอื้อให้ภาคธุรกิจการเงินเท่าทันโลกการเงินดิจิทัล ให้สามารถแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม และลดช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ลง ดูแลผู้ให้บริการทางการเงินมีวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง (risk culture) เข้มแข็ง

        ความท้าทายที่ 3 : นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเผชิญขีดจำกัด โดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการวางกรอบนโยบายการเงินและการผสมผสานเครื่องมือนโยบายสามารถบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจมหาภาคและเสถียรภาพระบบการเงิน ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของ ธปท. ได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริงเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

        ความท้าทายที่ 4 : อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้นและภาคเอกชนต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี ดูแลระบบเศรษฐกิจและภาคเอกชนทนทานต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น ให้การไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น ความท้าทายที่ 5 : ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน วางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของภาคการเงินมีเสถียรภาพ ให้บริการได้ต่อเนื่อง พร้อมรองรับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์จากนอกภาคการเงิน สนับสนุนภาคการเงินมีบุคลากรที่เพียงพอรับมือความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์

        ความท้าทายที่ 6 : การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนลดลง ความเปราะบางของฐานะทางการเงินของครัวเรือนได้รับการดูแล และไม่สร้างความเสี่ยงในระยะยาว และให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ได้รับบริการเป็นธรรม และมีภาระทางการเงินลดลง และความท้าทายที่ 7 : การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าใจและเชื่อมั่นบทบาทและเหตุผลการดำเนินนโยบายของ ธปท. และต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูง เปิดกว้างรับฟัง และเข้าถึงง่าย

        ธปท.มองว่า จะดำเนินนโยบายด้านการเงินอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเข้าใจในทุกมิติ เพราะทุกนโยบายที่ดำเนินการ มีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์เสมอ ทั้งนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายดอกเบี้ย เพราะหลักๆ แล้ว ธปท.อยากให้คนมองที่ประโยชน์ในภาพรวมมากกว่า

        ธปท.ยังเดินหน้านโยบายการเงิน ด้วยการยึดหลัก data dependent และเมื่อทิศทางของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ก็มีความพร้อมอยู่เสมอที่จะใช้นโยบายการเงินอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละช่วง นั่นหมายถึงการชั่งน้ำหนักอย่างเหมาะสมกับการเลือกใช้นโยบายการเงินในแต่ละช่วงเวลา

        สำหรับประเด็นซึ่งเป็นที่จับตามองของหลายฝ่าย นั่นคือ อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ที่ตอบได้ในตอนนี้ คือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนทิศทางเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ดังนั้นภาคเอกชนจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือให้ได้ และรับมือกับปัจจัยเสี่ยงนี้ให้ดีขึ้นด้วย

        ในประเทศเศรษฐกิจใหม่เหมือนกับประเทศไทย ธนาคารกลางจะไม่เข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเลย ทำให้ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมีค่อนข้างสูง แต่ในมุมของภาคธุรกิจยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะสำหรับภาคเอกชนเท่านั้น เพียงแต่เป็นประเด็นแวดล้อมของระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องทำให้ดีขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความหลากหลาย จึงเป็นเหตุผลที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา ทำให้เกิดผู้เล่นใหม่ที่เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจนเกิดภาวะต้นทุนที่ถูกลงในที่สุด

        ส่วนประเด็นเรื่อง “การบริหารการไหลเข้าออกของเงินทุนเพื่อให้เกิดความสมดุล” นั้น ที่ผ่านมา ธปท.ได้พยายามดำเนินการในเรื่องนี้อย่างมาก ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ  ซึ่งมาตรการที่ถูกจับตามองที่สุด คือ การเปิดเสรีให้คนไทยเอาเงินต่างประเทศออกไปไว้นอกประเทศได้มากขึ้น! “ผู้ว่าฯ ธปท.” ระบุว่า เป็นแนวคิดที่มาจากโลกที่รวมศูนย์มาเป็นแบบกระจายมากขึ้น

        นั่นหมายถึง เดิมที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เกิดจาก เมื่อมีการทำการค้าขายและได้เงินตราต่างประเทศมา ต้องนำเงินดังกล่าวมาแลก ซึ่งเงินนั้นจะอยู่ที่ธนาคารกลาง แต่ทุกวันนี้ภาพไม่ใช่แบบนั้นแล้ว วันนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศเรามีเพียงพอ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจและมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ สามารถนำไปเก็บไว้ที่ไหนก็ได้ โดยเงินดังกล่าวก็ยังถูกตีว่าเป็น “ทุนสำรองของระบบเศรษฐกิจไทย” อยู่ดี  และเมื่อผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้ก็สามารถเอาจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมาแลกจากธนาคารกลางเหมือนเดิมอีกต่อไป

        อีกประเด็นที่ ธปท.เตรียมจะดำเนินการ นั่นคือการทบทวนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานกว่า 77-78 ปี เทียบเท่ากับ ธปท. โดยกฎหมายดังกล่าวนี้ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ยุคที่ไม่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่าถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่จะต้องเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง เพื่อทำให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจในยุคสมัยใหม่

        อย่างไรก็ดี คงต้องมาติดตามกันต่อว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ปีข้างหน้าของ ธปท.ในการขับเคลื่อนนโยบายการเงิน เพื่อเป็นอีกแรงส่งในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย กับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอยู่เสมอ ปัญหาในด้านการค้าของตลาดโลก ที่ส่งผลกระทบทอดยาวไปยังหลายภาคส่วน โดยปัญหาเหล่านี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ ธปท.จำเป็นจะต้องกำหนดนโยบายการเงินให้สอดคล้อง เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับนโยบายการเงินที่มีศักยภาพ เพราะประเด็นเหล่านี้จะส่งสัญญาณต่อมาถึงหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนภาคประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ตลาดเงิน และตลาดทุนที่คาดว่าในระยะต่อไปจะยังมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"