‘ประยุทธ์’เซ็งมีแต่คนติ ศก.ไม่ดีก็บอกวิธีแก้มา!


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ชักยัวะ! มีแต่คนติเศรษฐกิจไม่ดี ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ แล้วก็โยนกลับมาว่ารัฐบาลแก้ไม่ได้ ลั่นให้เสนอมา ถ้าดีจะทำให้ คลังโอดห่วงบาทโป๊ก ซ้ำเติมส่งออกไทยโคม่าหนัก พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.62 เพิ่ม 0.87% สูงสุดในรอบ 5 เดือน หลังราคาอาหารสดพุ่งและราคาพลังงานลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

    เมื่อวันที่ 2 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยสามารถประเมินกันได้ว่าจะมากหรือจะน้อยก็ว่าไปตามสถานการณ์ภายในและภายนอก แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องช่วยกันว่าจะแก้ปัญหายังไง ตนอยากจะฟังจากหลายๆ คนมากกว่าจะมาบอกกันว่าไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ แต่ไม่ได้บอกว่าจะแก้ยังไง แล้วก็โยนกลับมาว่ารัฐบาลแก้ไม่ได้ ไม่สำเร็จแสดงว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ก็ลองเสนอมาสิ ถ้าดีตนก็จะทำให้ หรือไม่ก็ทำความเข้าใจว่าทำไม่ได้เพราะอะไร หลายอย่างถ้ามานั่งอยู่ตรงนี้จะรู้ว่าอะไรมันทำได้หรือไม่ได้ มันต้องมีกฎกติกาเยอะแยะไปหมด ถ้าทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามระเบียบ วิธีการ มันก็อันตราย แล้วใครจะรับผิดชอบ ก็เห็นใจกันด้วย
    “เรื่องค่าเงินบาท เรื่องมาตรการต่างๆ มีการหารือกันมาตลอด ก็มีการตั้งคณะกรรมการติดตามอย่างใกล้ชิด มาตรการหลายอย่างออกไป หลายอย่างก็ดีขึ้น แต่บางอย่างก็ยังไม่ดีขึ้น นี่คือการแก้ปัญหาที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย วันนี้เรื่องการค้าขายผลิตผลทางการเกษตร ก็ให้ รมว.พาณิชย์ไปเดินสายอยู่ ทั้งเยอรมนี ตุรกี สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการตกลงซื้อขายสินค้าการเกษตรหลายรายการด้วยกัน เราต้องดูแลทั้งตลาดเก่า ตลาดใหม่ และตลาดชายแดน ทุกประเทศเศรษฐกิจเขาตกหมดมันก็ตกตามกัน แต่ทำยังไงมันจะขึ้นไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะมันต้องมีการค้าต่างตอบแทนกัน สิ่งที่เราเน้นคือการซื้อขายชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งมีคุณภาพสูงพอสมควร และเรื่องการท่องเที่ยวที่วันนี้ยังดีอยู่ จากหลายมาตรการที่ออกมา ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
    ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบันจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยให้มีปัญหามากขึ้น แต่ยังคงเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะบริหารจัดการและติดตามใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ก็ได้ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทมาระดับหนึ่งแล้ว ประกอบกับหากมีคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ที่มีทั้งกระทรวงการคลัง ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ รมว.การคลังดำเนินการนั้น จะช่วยทำให้ค่าเงินบาทของไทยกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นได้
    ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ที่ต้องมีการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจากต่างประเทศ ก็จะทำให้สถานการณ์ค่าเงินบาทผ่อนคลายลง และมีเสถียรภาพมากขึ้นได้
    อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยังหวังว่าการส่งออกของไทยในปี 2563 จะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2562 โดยยังคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 2.6% และการส่งออกจะเป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง
    นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 2 ม.ค.2563 เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงจากที่ได้แข็งค่าเร็วในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี มาที่ระดับ 30.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าอัตราอ้างอิงเฉลี่ยของวันที่ 30 ธ.ค.2562 โดยสภาพคล่องในตลาดเริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูงในสภาวะที่ตลาดกำลังมีการปรับสมดุลระหว่างแรงซื้อและแรงขายดอลลาร์
    "ธปท.จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยผู้ร่วมตลาดอาจรอดูสถานการณ์การปรับตัวของตลาดสู่ภาวะปกติก่อนเร่งทำธุรกรรม” นางวชิรากล่าว
         น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ว่าเดือน ธ.ค.62 ดัชนีอยู่ที่ 102.62 เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.62 และเพิ่มขึ้น 0.87% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.61 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราสูงที่สุดในรอบ 5 เดือน หลังจาก ชะลอตัวลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค.62 ส่วนค่าดัชนีเฉลี่ยทั้งปี 62 เพิ่มขึ้น 0.71% เมื่อเทียบกับปี 61 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ เดือนธ.ค.62 อยู่ที่ 102.80 เพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.62 และเพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.61 ขณะที่อัตราเฉลี่ยทั้งปี 62 เพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับปี 61
         สำหรับการที่เงินเฟ้อเดือน ธ.ค.62 เพิ่มขึ้น 0.87% นั้น เป็นการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีการแอลกอฮอล์ 1.73% จากการเพิ่มขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ, ไข่และผลิตภัณฑ์นม, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผัก ผลไม้สด ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่อง สูงขึ้น 0.38% จากการสูงขึ้นของหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล, หมวดเคหสถาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน, หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษา ทั้งค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน, หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร จากค่าโดยสารสาธารณะ ค่าทางด่วน ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง หดตัว
     "เงินเฟ้อเดือน ธ.ค.62 ที่เพิ่มขึ้น 0.87% มาจากราคาอาหารสดสูงขึ้น และราคาพลังงานหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่ราคาหมวดอื่นๆ ยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยเฉพาะชิมช้อปใช้ ที่ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋า ทำให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี 62 ที่เพิ่มขึ้น 0.71% ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพและอยู่ในกรอบเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.70-1.00%”
         น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวต่อถึงเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 ว่าคาดขยายตัว 0.40-1.20% โดยมีค่ากลางที่ 0.80% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.7-3.7%, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 58-68 เหรียญสหรัฐบาร์เรล แต่อาจปรับประมาณการใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 60-70 เหรียญฯ/บาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 30-32 บาท/เหรียญฯ
        "เป้าหมายเงินเฟ้อปี 63 สนค.ได้พิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หมดแล้ว ทั้งสงครามการค้า ที่คลี่คลายลง และน่าจะทำให้การส่งออกดีขึ้น, ภัยแล้ง ที่จะทำให้ผลผลิตเสียหาย และราคาสูงขึ้น แต่เชื่อว่า ปี 63 ราคาสินค้าเกษตรไม่น่าสูงขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับปี 62 เพราะราคาปี 62 ก็สูงมากแล้ว ส่วนราคาน้ำมันดิบน่าจะใกล้เคียงปี 62 คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 1 ปี 63 น่าจะใกล้เคียงเดือนธ.ค.62 ที่ 0.80% เพราะราคาน้ำมันยังทรงตัว”
         สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากนั้น หากมองในแง่ผู้บริโภคจะรู้สึกพอใจ เพราะทำให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้น ขณะที่วัตถุดิบนำเข้าเพื่อนำมาผลิตสินค้าในประเทศ ก็ไม่สูงขึ้นด้วย จึงไม่มีแรงกดดันทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่หากมองในแง่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง โดยเฉพาะภาคเกษตร และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ที่จะมีเงินใช้จ่ายลดลง ซึ่งไม่ใช่แรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีกเช่นกัน ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ไม่มีผลทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น โดยกรมการค้าภายในแจ้งว่า ยังไม่มีผู้ผลิตสินค้ารายใดขอปรับขึ้นราคาขายสินค้าจากค่าแรงปรับขึ้น จึงยังไม่มีผลทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 63 สนค.จะแถลงข่าวเงินเฟ้อทุกวันที่ 5 แต่ไม่เกินวันที่ 7 ของเดือน จากเดิมทุกวันที่ 1 ของเดือน เพื่อให้มีเวลาวิเคราะห์ตัวเลขมากขึ้น.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"