ตอนมีโดรนใหม่ๆ ผมตื่นเต้นกับมัน เพราะใช้ถ่ายรูปจากมุมสูงได้
ต่อมาที่ทั้งอเมซอนทดลองใช้โดรนส่งหนังสือที่ลูกค้าสั่ง ตามมาด้วยเมืองจีนที่ใช้โดรนทั้งส่งของไปในชนบท
อีกไม่กี่ปีต่อมา เริ่มมีการทดลองใช้โดรนขนส่งผู้โดยสาร
วันนี้ผมตกใจ เพราะเขากำลังพัฒนาใช้โดรนในการทำสงคราม
เมื่อเร็วๆ นี้ ซาอุดีอาระเบียถูกถล่มด้วยกองทัพโดรนที่ถล่มยิงเป้าที่เป็นทั้งบ่อน้ำมันและคลังน้ำมัน สร้างความเสียหายไปอย่างกว้างขวาง
วันนี้โดรนถูกนำไปใช้ในสงครามไปอีกก้าวหนึ่ง เพราะมีการติดปืนกลแรงสะท้อนต่ำ
ตุรกีก้าวเข้าสู่ยุคโดรนเพื่อสงครามอย่างเป็นทางการ
ด้วยการก้าวสู่แถวหน้าของโลกในการสงครามยุคใหม่ด้วยการซื้อ “Songar” โดรน 8 ใบพัด (octocopter) ติดตั้งปืนกลแรงสะท้อนต่ำที่สามารถยิงได้อย่างแม่นยำ
เขาไม่เรียก helicopter แต่เรียก octocopter
เพราะ helicopter ลำใหญ่กว่า แพงกว่า เทอะทะกว่า ขึ้นลงยากกว่า
ขณะที่โดรนลำเล็ก คล่องตัว ถูกกว่า และพร้อมที่จะถูกทำลายโดยศัตรู
ที่สำคัญคือเมื่อใช้โดรนเป็นอาวุธแล้วไม่ต้องใช้คน ดังนั้นจึงไม่มีความเสี่ยงทางด้านการสูญเสียชีวิตของคนในการสู้รบ
เขาเรียกมันว่า “โดรนล่าสังหาร”
โดรนเพื่อสงครามนี้ผลิตโดย Asisguard (บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่เมืองแองการา) น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ติดตั้งปืนกลบรรจุกระสุน 200 นัด สามารถยิงต่อเนื่องกันได้ครั้งละ 15 นัด (ยิงแบบ single shot )
เขาคุยว่าความแม่นของโดรนตัวนี้เท่ากับเจาะตรงเป้าในพื้นที่ 15 เซนติเมตร จากระยะ 200 เมตร
แปลว่าแม่นพอที่จะเด็ดเป้าขนาดเท่ากับมนุษย์ได้ในระยะนั้น
และหากปรับปรุงตามแผน มันก็จะมีความแม่นพอสมควรในระยะ 400 เมตร
มีกำหนดจะส่งมอบให้รัฐบาลตุรกีเดือนหน้า
ความจริง การสร้างโดรนชนิดปีกหมุนติดอาวุธทำกันมาสักพักแล้ว แต่เกือบทั้งหมดจะใช้วิธีการปล่อยอาวุธด้วยวิธีการลอยตัวไปหย่อนลูกระเบิด
แต่ครั้งนี้ Asisguard อ้างว่า Songar จะเป็นโดรนติดอาวุธปืนลำแรกของโลกที่ใช้งานได้จริงในการทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม
ผู้ผลิตอ้างว่าจากการทดลองมาระยะหนึ่งนั้นสามารถสร้างความแม่นยำของการยิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นั่นคือ Songar มีสมรรถภาพยิงเป้าขนาด 15 ซม. (6 ตารางนิ้ว) จากระยะห่าง 200 ม. (650 ฟุต) โดยปราศจากปัญหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อธิบายว่า โครงสร้างของ Songar เป็นคาร์บอน มีแกนปีก 4 ด้านติดใบพัดด้านละ 2 ชุด มีส่วนของฐาน 2 ด้าน และติดตั้งปืนกลใต้ลำตัวในมุมเอียงเหมือนโดรน DJI Phantom ที่ติดกล้องถ่ายภาพในลักษณะนี้
คุณสมบัติเช่นนี้มีส่วนช่วยให้ผู้บังคับโดรนสามารถเล็งเป้าหมายจากระยะไกลผ่านจอภาพได้ค่อนข้างแม่นยำ เพราะมีกล้อง 2 ตัวแยกกันระหว่างคนบังคับทิศทางและผู้เล็งอาวุธ
ภาษาเทคนิคบอกว่า Songar ติดตั้ง GPS และระบบควบคุมการทรงตัว GLONASS ที่จะทำงานประสานกับแรงรีคอยล์ของปืนกลขณะทำการยิง
นั่นแปลว่ามันจะดึงตัวโดรนจากการถอยหลัง ซึ่งกูรูด้านอาวุธบอกว่า การที่แรงปืนกลับสู่ตำแหน่งเดิมนี้เองที่ทำให้การเล็งเป้าต่อไปไม่ผิดพลาด หรือผิดพลาดน้อยที่สุด
โดรนลำนี้ติดตั้งแบตเตอรี่ที่สามารถจ่ายพลังงานได้สำหรับบินไกลได้ถึง 10 กิโลเมตร
คนวงการอาวุธบอกว่า อย่างนี้ถือว่าเป็นโดรนสงครามลำแรกๆ ที่ออกแบบและสร้างขึ้นมาในลักษณะที่ค่อนข้างครบเครื่องทีเดียว
พอเห็นข่าวนี้ก็ทำให้ผมหวั่นเกรงพอสมควร กลัวว่านวัตกรรมใหม่ๆ ที่มนุษย์คิดประดิษฐ์เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการทำงานด้านพัฒนาความสามารถในทางบวกนั้นอาจจะถูกต่อยอดกลายเป็นอาวุธเพื่อการทำลายล้างกันก็ได้
เหมือน “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence ที่มีบทบาทช่วยทำให้มนุษย์ทำอะไรต่อมิอะไรในแนวสร้างสรรค์ได้มากมาย
แต่ขณะเดียวกันเมื่อมัน “ฉลาด” ขึ้นได้ด้วยการสรรค์สร้างของมนุษย์เองให้มัน “เรียนรู้ด้วยตนเอง” ที่เรียกว่า machine learning วันหนึ่งมันอาจจะ “สร้างสิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง” ที่อาจจะหันกลับมาทำลายล้างมนุษย์ได้เช่นกัน
น่าตื่นเต้นและน่ากลัวพร้อมๆ กันไปครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |