"ชวน" ชี้หากประชาธิปไตยไม่มีประสิทธิภาพ คนจะเอนเอียงนิยมเผด็จการและเป็นที่มาของหายนะ แนะทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ด้วยความสุจริต "เพื่อไทย" ขู่รายวัน ศึกซักฟอกถึงขั้นล้มรัฐบาล-เปลี่ยนตัวนายกฯ "วราวุธ" เตือนม็อบจุดติดแล้วควบคุมไม่ให้บานปลายได้ยาก "ปิยบุตร" เชื่อ ปชช.ทนไม่ไหวสะสมจนคุมไม่อยู่ เปรียบ รธน.60 เป็นระเบิดเวลาจบแค่ 2 ทาง "ทหาร-ประชาชน" ฉีก "เทพไท" เสนอตั้งอนุ กมธ. 5 ภาครับฟังความเห็น ดีกว่าปล่อยพรรคการเมืองปลุกมวลชนกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติตลอดปีที่ผ่านมาว่า หลังจากไม่มีสภามา 5 ปี ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้นที่มีปฏิกิริยาต่อต้าน เพราะต่างประเทศก็มองเช่นกัน เมื่อมีสภาแล้วจึงเป็นความหวังของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไปพร้อมกับความมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายต้องทำงานในหน้าที่ด้วยความสุจริต ฝ่ายนิติบัญญัติต้องเป็นตัวอย่างในการเคารพกฎหมาย ทุกคนต้องอยู่ในกรอบของข้อบังคับ แม้บางคนจะยังไม่เคยชิน แต่กว่า 1 ปีเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น หลายเรื่องเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะการรักษาเวลา งานค้างอาจจะยังมีอยู่บ้าง แต่มีน้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ของสภาทั่วไป เช่นการทำให้ญัตติด่วนเหลือค้างสภาเพียง 6 เรื่อง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งหมดเป็นไปได้เพราะการได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เมื่องานค้างลดลง ภายหลังปีใหม่ก็จะได้เริ่มงานใหม่ๆ ได้มากขึ้น
นายชวนกล่าวว่า งานในสภาพยายามทำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ความร่วมมือจากฝ่ายบริหารก็ดี ก็พยายามเชิญชวนให้มาสภา แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีก็อยากให้มาประชุมสภา หรือรัฐมนตรีก็อยากให้ตอบกระทู้ถามของ ส.ส.เช่นกัน เวลานี้กำลังหารือถึงการแก้ไขข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งกระทู้ถาม เพื่อไม่ให้ใช้เวลาของสภามากเกินไป หรือในการทำงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ก็พยายามเข้าไปรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการทำงาน เช่นการจัดสรรเวลาการทำงานของ กมธ.จะไม่ให้กระทบกับการประชุม เป็นต้น เวลานี้มีกฎหมายเข้าสภาเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คาดว่าหลังจากเทศกาลปีใหม่ร่างกฎหมายจะเข้ามาสภามากกว่าเดิม
"ครับ ผมยืนยัน ผมเรียนว่าครึ่งปีที่ผ่านมาไม่เคยสักครั้งที่จะมาขอให้ผมทำผิดทำนองคลองธรรม มีแต่ผมที่ขอร้องให้มาร่วมประชุม เราหวังดีต่อกันเพื่องานของบ้านเมือง ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ก็ต้องมีประสิทธิภาพด้วย ถ้าประชาธิปไตยไม่มีประสิทธิภาพ คนจะเอนเอียงนิยมในเผด็จการ ทันใจดี แล้วก็เป็นที่มาของความหายนะในที่สุด ต้องทำให้การปกครองนี้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ หมายความว่าปัญหาของประชาชนต้องมาสู่รัฐบาลได้โดยผ่านกระบวนการของสภาตามระบบนี้" นายชวนกล่าวตอบเมื่อถามย้ำว่า ยืนยันได้หรือไม่สภาจะเป็นที่พึ่งประชาชนเพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง
นายชวนยังกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2563 ที่เกี่ยวกับการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติว่า สำหรับการเมืองปี 2563 น่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยฝ่ายค้านจะสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้สองครั้ง เพราะในปี 2563 จะมีสมัยประชุมสภาปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยทั่วไปในสภา เมื่อระบบนี้รัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก ดังนั้นรัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบมากกกว่า แต่ถึงที่สุดแล้วสภาจะอยู่ได้ต่อเมื่อทุกฝ่ายมาร่วมประชุมเพื่อมีมติร่วมกัน ถ้า ส.ส.ของรัฐบาลรู้ว่ากติกาเป็นอย่างนี้และรับผิดชอบในหน้าที่ งานจะเดินไปได้
ฟันธงนาวาลุงตู่รอดฝั่ง
ที่บ้านพักส่วนตัว ซอยจรัญสนิทวงศ์ 55 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2563 ว่า แม้ที่ผ่านมาจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่สังเกตได้ว่าแต่ละครั้งที่มีการลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร หรือการทำงานสำคัญของรัฐบาล แน่นอนอาจจะมีผิดพลาดบ้าง แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมก็สามารถแก้ปัญหาไปได้ ซึ่งนี่คือสภาพทั่วไปของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อให้เป็นรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำหรือเสียงมากแค่ไหน ถึงเวลาลงคะแนนมักจะมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่มั่นใจว่าปี 2563 แม้จะเป็นปีที่มีภารกิจและความท้าทายของรัฐบาล แต่ด้วยการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค การทำงานของรัฐมนตรีทุกคน จะสามารถนำรัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ไปได้ตลอดรอดฝั่ง แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในปี 2563 คาดการณ์กันว่าจะมีการชุมนุมและอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่าการชุมนุมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิด เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าการจุดไม่ใช่เรื่องยาก แต่พอจุดมาแล้วความสามารถในการคุมประเด็นไม่ให้มันบานปลายนั้นเป็นเรื่องยาก ตลอดสิบปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าท้ายที่สุดมันจะไปจบลงที่ใด จึงน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้หลายๆ ฝ่ายว่าการชุมนุมประท้วงบนถนนไม่ก่อให้เกิดผลดีขึ้นเลย ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นถือเป็นปกติของสภา ต้องให้กำลังใจฝ่ายค้านด้วย เพราะตลอด 5-6 ปีเราไม่มีสภา ไม่มีการตรวจสอบ จึงเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายค้านจะได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ นำข้อบกพร่องที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงมาถกกันในสภา
ส่วนกระแสข่าวอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่บางส่วนจะย้ายมาอยู่กับพรรค ชทพ. นายวราวุธกล่าวว่าวันนี้ยังเป็นแค่กระแสอยู่ แต่ไม่พัดมาที่พรรคสักที ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะมีการย้ายพรรคเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาทั้ง 4 คนน่าจะมีทิศทางชัดเจนแล้ว และไม่ได้มาอยู่ที่พรรค ชทพ.
นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงมาตรการจัดการกับงูเห่าของพรรคเพื่อไทย โดยยอมรับว่าภายใต้กลไกของรัฐธรรมนูญเอื้อต่อการเกิดงูเห่าได้ตลอดเวลา แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว และเบื้องต้นพรรคเพื่อไทยได้ให้ ส.ส 3 คนที่ขัดมติพรรคเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว จากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบจะทำรายงานสรุปส่งมายังกรรมการบริหารพรรค ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะแจ้งต่อสาธารณชนให้ทราบต่อไป แต่ยืนยันว่าหากผิดจริงจะมีมาตรการที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการจัดการกับงูเห่า
"เหตุผลที่ยังไม่สามารถขับงูเห่าออกจากพรรคเพื่อไทยได้ เนื่องจากงูเห่าของพรรคเพื่อไทยต่างจากพรรคอนาคตใหม่ ตรงที่พรรคอนาคตใหม่โหวตสนับสนุนรัฐบาลบ่อยครั้งซึ่งทำให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่เราต้องสอบสวนให้ชัดเจนและฟังคำอธิบายก่อน" นายภูมิธรรมกล่าว
โวศึกซักฟอกล้มรัฐบาล
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกและกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรค พปชร.ระบุเกรงฝ่ายค้านจะไม่มีข้อมูลเด็ดมาซักฟอกรัฐบาลว่า ขณะนี้คณะกรรมการกิจการพิเศษ พท.ได้จัดเตรียมขุนพลอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไว้แล้วจำนวน 25 คน จัดหมวดหมู่แบ่งลักษณะพฤติกรรมและการกระทำที่นำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 5 รัฐมนตรี ถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ เจ้าของฉายาอิเหนาเมาหมัดแห่งรัฐเชียงกงจะได้รู้ว่า การตรวจสอบโดยกลไกและเครื่องมือที่เข้มข้นของระบบรัฐสภา จะโดนตรวจสอบหนักจนมีสภาพบอบช้ำแค่ไหน ส่วน ส.ว.สรรหาจะยอมรับว่าเป็นสภาทหารเกณฑ์ก็สารภาพไป แต่งานนี้พี่เลี้ยงลงไม่มีตัวช่วย ใครไม่เกี่ยวก็ถอยไป
"การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ส่วนรัฐมนตรีที่น้อยเนื้อต่ำใจได้กระทรวงเกรดซี เกรดดี งบน้อย อยากขยับขยายไปคุมกระทรวงเกรดสูงขึ้น งบมากขึ้น รอลุ้นได้เลย เพราะข้อมูลซักฟอกที่อยู่ในมือขณะนี้ชัดเจนมาก ทั้งในส่วนพรรคแกนหลักและพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะมี 25 ขุนพลในการจับ 5 รัฐมนตรีขึ้นเขียงซักฟอก แต่ไม่ปิดกั้น ยังเปิดกว้างทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้นำไปสู่การล้มรัฐบาลและเปลี่ยนตัวนายกฯ ได้แน่นอน" นายอนุสรณ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวตอนหนึ่งขณะออกรายการ WAKE UP THAILAND ช่อง Voice TV ว่า "เหตุการณ์ที่คุณแต่ละคนออกมาโดยทนไม่ไหวแล้ว ผมคิดว่าอยู่ที่อัตตาวินิจฉัยของแต่ละคน เราบังคับกันไม่ได้ แต่เชื่อว่าถ้าผู้มีอำนาจยังใช้วิธีการแบบนี้ตลอดเวลา คือไม่ถอยเลย ไม่ถอยแม้แต่นิดเดียว ญัตติเรื่อง ม.44 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด นิดเดียวก็ไม่ถอย อย่างวันก่อนที่คุณเลี้ยงปีใหม่ ต้อนรับ ส.ส.ที่เพิ่งย้ายไป โดยไม่เขินอายเลย ผมมองว่า การลำพองในอำนาจตัวเองไปเรื่อยๆ มันจะผลักทำให้คนมีความรู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้วออกมา แต่จะเกิดเมื่อไรผมไม่ทราบ"
"อย่างชิลี เกิดจากเรื่องการขึ้นค่าโดยสารรถระบบขนส่งสาธารณะ เลบานอนเกิดจากการเก็บภาษีออนไลน์ ฮ่องกงเกิดจากกฎหมายส่งผู้รายข้ามแดน ถามว่าเรื่องนี้มันเป็นชนวนให้เกิดขึ้นได้ไหม ผมว่ามันไม่ได้หรอก แต่มันมีความไม่พอใจสะสมมาเรื่อยๆ แต่ผมตอบไม่ได้ว่าจุดไหน ผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็ตอบไม่ได้ แต่เรารู้กันอยู่ว่าภายใต้อำนาจที่เข้มแข็ง ข้างล่างมันเปราะบางมาก แต่เราไม่รู้ว่าจุดไหนคือชนวนที่ออกมา ถ้าวันหนึ่งมาถึงความไม่พอใจต่อผู้ปกครองคณะนี้เมื่อไร เรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าการเป็นพรรคอนาคตใหม่ ใหญ่เกินกว่าธนาธรหรือผมแล้ว มันเป็นความไม่พอใจโดยพร้อมเพรียงกันของประชาชน"
ทหารหรือ ปชช.ฉีก รธน.
นายปิยบุตรกล่าวว่า จุดจบของรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบบการปกครองที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือไม่ถูกฉีกโดยทหารก็ถูกฉีกโดยประชาชน ดังนั้นมันจึงมีสภาวะเหมือนระเบิดเวลาที่ตั้งเวลารอไว้
เมื่อพิธีกรถามว่าแต่พรรคอนาคตใหม่ไม่ต้องการให้ถึงจุดนั้นใช่หรือไม่ นายปิยบุตกล่าวว่า "ถูกต้อง ทั้ง 2 ถ้าฉีกโดยทหารก็จะเข้าอีหรอบเดิม แต่ถ้าฉีกโดยประชาชน ผมไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ผู้กำกับหนังเรื่องไหนก็สร้างฉากจบไม่ได้ เพราะมันคุมไม่อยู่ แต่ไม่อยากให้มีการรัฐประหาร ไม่อยากให้ผู้มีอำนาจมองผมและธนาธรเป็นภัยคุกคาม แต่ขอให้มองว่าเป็นปรากฏการณ์ เป็นตัวแทนคนประชาชน ตัวแทนของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก"
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า อยากจะวิงวอนทุกฝ่ายช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ขอให้ทุกพรรคการเมืองใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องคนไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้ที่ผ่านมาบ้านเมืองเสียหายเพราะวิกฤติปัญหาทางการเมือง มีการชุมนุมลุกลามบานปลายเสียเลือดเสียเนื้อจนบ้านเมืองเสียหาย เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย หากคิดจะทำอะไรที่ไม่ควรก็ขอให้นึกถึงพี่น้องประชาชนและประเทศอันเป็นที่รักของเรา
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเมืองไทยจากนี้ไปคงจะร้อนแรงขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นจะไปสู่วิกฤติอะไร ขณะเดียวกันปัญหาที่มีความอ่อนไหวและจะส่งผลกระทบกับการเมือง คือปัญหาเศรษฐกิจที่จะสะสมจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจรัฐบาล
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ไลฟ์สดผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัวว่า การประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในวันที่ 14 ม.ค.63 นั้น เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อพิจารณาเนื้องานกันอย่างจริงจังนัดแรก จะเสนอให้มีการพูดคุยในเรื่องกรอบการทำงาน และลงลึกในรายละเอียดว่าจะแก้ไขอย่างไร จะตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ หรือจะแก้ไขเป็นรายมาตรา ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 ซึ่งยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังถูกวิจารณ์ว่าที่มาของรัฐธรรมนูญไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชน การทำงานของ กมธ.ชุดนี้ควรจะสร้างเงื่อนไขการทำงานให้ยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด ควรจะตั้งอนุกรรมาธิการวิสามัญอย่างน้อย 5 ชุด เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 5 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร โดยทำงานคู่ขนานกับการทำงานของ กมธ.ในสภา ดีกว่าปล่อยให้พรรคการเมืองต่างๆ ออกไปเคลื่อนไหวกับมวลชน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่ได้
"อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรจะตั้งธงในการแก้ไขเพื่อการเอาชนะคะคานกัน หรือชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ไม่ควรเอาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อการเคลื่อนไหวดิสเครดิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเพฉาะ" นายเทพไทกล่าว
นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า พรรค ชทพ.เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาข้อดีก็มี ข้อที่ควรปรับปรุงก็มีบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลไกการเลือกตั้ง หรือของพรรคการเมืองและอีกหลายๆ ส่วน แต่การจะแก้ไขต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม รับฟังเสียงของหลายๆ ฝ่ายเป็นประเด็นที่สำคัญ และเชื่อว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ และนำมาถกกันในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตั้งกันมาแล้ว
โหรฟันธงคนคิดไม่ดีอยู่ไม่ได้
ด้านนายชวน หลีกภัย กล่าวว่า เป็นคนหนึ่งที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าในอดีต ปัญหาไม่ใช่มาจากรัฐธรรมนูญแต่มาจากตัวบุคคล จึงต้องแยกให้ออกจากกัน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ดังนั้นการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเสนอว่าควรรับฟังทุกฝ่ายรวมทั้งวุฒิสภา
"ถ้าเรามุ่งไปที่บทบาทวุฒิสภา แน่นอนว่าบางท่านคงไม่เห็นด้วยและมีการต่อต้าน แต่ถ้าเชิญมาคุยว่าเป้าหมายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ นั้นหลักควรเป็นอย่างไร บทบาทแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่าวุฒิสภาก็มีประโยชน์ บางบทบาทก็ทำได้ดีกว่า ส.ส. เช่นการตรวจสอบคนเข้าสู่องค์กรต่างๆ เป็นต้น แต่บทบาทอื่นๆ สมควรจะมีแค่ไหนก็ต้องชวนมาคุย ถ้าคิดจะแก้จริงๆ ก็อย่าไปคิดล้มเลยครับ ถ้าอยากให้แก้ไขได้จริงๆ ก็ต้องให้ทุกฝ่ายเห็นด้วย และเอาเขามาคุยด้วยว่าจะปรับให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ หรือเอาบางส่วนออกไป เช่นการบรรจุให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพต้องเป็น ส.ว. ผมคิดว่าโดยหลักไม่เคยมีการระบุ ส.ว.โดยตำแหน่งแบบนี้ เพราะถ้าจะเลือกคนเข้ามาก็ควรเป็นระบบอื่น" นายชวนกล่าว
ขณะที่นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (โหร คมช.) กล่าวถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในปี 2563 ว่า ในปีหน้าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มคน แต่มีกำลังไม่มาก ไม่หนักหนา ปลุกปั่นไม่ขึ้น วูบเดียวก็หายไป เป็นแค่นักการเมืองที่เข้ามา เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็พยายามปลุกหาพรรคหาพวกมาทำลายล้างกัน ซึ่งมันไม่ดี บทเรียนในอดีตทุกคนก็เห็นแล้ว สุดท้ายความจริงจะถูกเปิดออกมา ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มีอะไรน่าหนักใจ
เมื่อถามว่าคดีทางการเมืองที่จะมีการตัดสินในปี 63 จะมีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน โหร คมช.ตอบว่า "ไม่ส่งผลก่อให้เกิดเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงอะไรทางการเมือง เพราะเป็นการตัดสินตามกฎหมาย บนความถูกต้อง กฎหมายคือกฎหมาย เราต้องยอมเคารพกฎหมาย การเคลื่อนไหวอะไรบทเรียนในอดีตทำให้เราเห็นแล้ว ดังนั้นคนที่คิดไม่ดีต่อชาติบ้านเมือง ขอให้คิดให้ดี เพราะบ้านเมืองปัจจุบันสงบแล้ว คนที่ต้องโทษก็ต้องได้รับโทษ และคอยดูบางคนที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เราอาจไม่ได้เห็นอีกเลยในบ้านเมืองเรา เหมือนในอดีตคนที่สร้างความวุ่นวายให้ชาติบ้านเมืองจะอยู่ไม่ได้"
"พรรคร่วมรัฐบาลยังจับมือกันต่อไปและจะมีบางพรรคเข้ามาร่วมรัฐบาล และ 3 ป.ยังอยู่ทำหน้าที่ ส่วนรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำก็ไม่มีปัญหา เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า กลุ่มที่เคยอยู่ตรงข้ามจะเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น ขณะที่ดวงของ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีหน้าที่ต้องทำต่อไปและอยู่ครบเทอม เพียงแต่ต้นปี 1-2 เดือนอาจมีเรื่องยุ่งอยู่บ้าง ทั้งกับตัวนายกฯ และคณะรัฐบาล ทั้งการทำงานหรือปัญหาสุขภาพ แต่ไม่ได้เป็นอะไรมากเป็นตามวัย และหลังจากมรสุมผ่านพ้นไปทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้น" นายวารินทร์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |